บ้านปูนโปร่งโล่ง หลังนี้ไม่ต้องการเปิดแอร์ อยากอยู่กับแสงและลมธรรมชาติ พื้นที่ภายใต้หลังคาเดียวกัน จึงมีทั้งตัวบ้านเรียบง่าย และชานบ้านต่อกับโถงบันไดซึ่งไม่ได้อยู่ภายนอกบ้าน เหมือนบ้านไทยดั้งเดิมทั่วๆ ไป
จากบ้านเก่าสู่บ้านใหม่
อ.ต้นข้าว ปาณินท์ สถาปนิกแห่ง Research Studio Panin ผู้ออกแบบเล่าให้เราฟังว่า บ้านปูนโปร่งโล่ง หลังนี้เป็นบ้านสร้างใหม่บนพื้นที่บ้านเดิม โดยแต่เดิมนั้นบ้านเป็นบ้านปูนสองชั้นที่ชั้นล่างค่อนข้างเปิดโล่งอยู่แล้ว มีลักษณะคล้ายใต้ถุนที่สมาชิกในบ้านต่างก็ชอบมาใช้ชีวิตอยู่บริเวณนี้ คล้ายกับพื้นที่อเนกประสงค์ซึ่งเปิดโล่ง แต่การใช้งานไม่ตอบสนองกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และยังมีบางส่วนที่ลมถูกบังไม่ปลอดโปร่งเท่าที่ควร
บ้านที่ไม่ต้องเปิดแอร์
โจทย์ที่ได้รับจึงค่อนข้างชัดเจน เพราะสมาชิกในบ้านซึ่งประกอบไปด้วย พ่อแม่ ลูกวัยประถมอีก 2 คน และคุณยาย คุ้นเคยดีกับการใช้ชีวิตกึ่งเอาท์ดอร์ จึงขอบ้านที่อยู่อาศัยได้โดยไม่ต้องเปิดแอร์ โปร่งได้ลมได้แสงสว่าง และต้องการขยายให้บ้านเป็นบ้าน 3 ชั้น แต่ไม่อยากให้บันไดอยู่ด้านนอกแบบบ้านไทย
บ้านจึงต้องมีระยะร่นเข้ามาเพื่อลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวบ้าน แต่ยังคงต้องให้อากาศไหลเวียนดี ตัวห้องที่เป็นพื้นที่ปิดทุกด้าน จึงมีทางเดินพร้อมพื้นที่ว่างคล้ายกับชานบ้านของไทยอยู่ล้อมรอบเหมือนเป็นบ้านที่มีผนังสองชั้น ตามแต่ฟังก์ชั่นและทิศทางแดด อาทิเช่น ในทิศเหนือและตะวันออกที่แดดไม่แรง ผนังด้านนอกก็จะโปร่งกว่าผนังด้านทิศใต้และตะวันตกซึ่งทึบกว่า
พื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์ เป็นทั้งเฉลียง ระบียง ชาน
ถ้าหากจะใช้คำกำจัดความกันจริงๆ ระยะร่นตรงคือพื้นที่โล่งในบ้าน แต่หากคิดจากฟังก์ชั่นใช้งานแล้ว บางด้านทำหน้าที่คล้ายชานที่เชื่อมพื้นที่เข้าด้วยกัน หรืออย่างพื้นที่โล่งติดโถงบันไดก็ให้ความรู้สึกคล้ายเฉลียงหน้าบ้านก่อนเข้าตัวบ้านจริง ขณะที่ระยะร่นตรงห้องนอนที่มีระยะถึง 2 เมตร ก็ออกแบบมาเพื่อให้เป็นระเบียงนั่งเล่น เพียงแต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้หลังคาที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยออกไปนั่งเล่นรับวิว รับลม ได้ตลอด
ความแตกต่างของฟาซาดเองก็เลือกตามการใช้งาน โดยในด้านที่เป็นโถงบันไดเลือกเป็นอิฐช่องลมที่มีความหนาหน่อยเพื่อลดให้ฝนสาดน้อยลง ส่วนด้านหน้าใช้เป็นเหล็กเจาะรูแทน ผนังห้องด้านในเลือกใช้บานเลื่อนกระจกกรอบอะลูมิเนียมเพื่อสร้างความรู้สึกที่เชื่อมต่อได้อย่างโปร่งโล่ง
โถงบันไดบ้านใหญ่เพื่อผู้สูงอายุ
บันไดออกแบบให้โปร่ง และด้วยการที่มีผู้สูงอายุลูกนอนจึงถูกขยายให้ยาว 45 ซม. เพื่อให้ง่ายต่อการเดิน ช่องว่างต้องโถงกว้างเพียงพอเพื่อติดตั้งลิฟท์ในอนาคต โดยคุณยายในเวลากลางวันจะใช้ชีวิตอยู่ชั้นล่าง ที่มีครัว ห้องนั่งเล่นส่วนตัว และจะขึ้นมานอนในช่วงค่ำ ถือเป็นการออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ ไปด้วยในตัว ขณะที่เมื่อดูจากภายนอกโถ่งบันไดนี้ก็ดูมีความเป็นส่วนตัวไม่ได้เปลือยจนเห็นความเคลื่อนไหวของคนในบ้าน ต่างจากความรู้สึกโปร่งที่รับรู้และมองเห็นกันเองได้จากภายใน ขณะที่หลังคาด้านบนเลือกใช้เมทัลชีททรงปั้นหยา ทำให้มีองศาความลาดเอียงไม่มากเพื่อไม่ให้หลังคาดูใหญ่และเด่นเกินไป เน้นการรับรู้เฉพาะตัวฟาซาดของอาคารเท่านั้น
บ้านยึดหยุ่น ออกแบบเหมือนไม่ออกแบบ
พื้นที่ภายในเป็นแปลนแบบเปิดโล่ง ผนังเป็นสีขาวทั้งหมด หลายส่วนปล่อยเป็นปูนฉาบเรียบไว้ดิบๆ เนื่องด้วยเจ้าของบ้านเอง ไม่ต้องการบ้านที่หวือหวา ไม่อยากให้บ้านเด่นเกินไป ส่งผลไปยังการวางเลย์เอาท์ของเฟอร์นิเจอร์ที่เรียบง่ายและส่วนใหญ่นำมาจากบ้านเก่า รวมทั้งการวางระบบไฟที่ไม่ต้องมีลูกเล่นมาก วางตามจุดใช้งาน ไม่ได้มีซอกมุมเพื่อสะท้อนเป็นอินไดเร็กซ์ไลท์
สรุปท้าย อ.ต้นข้าว ยังได้กล่าวถึงงานออกแบบครั้งนี้ว่า เป็นบ้านที่อนุญาตให้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ยึดหยุ่น ไม่มีข้อจำกัด พื้นที่เชื่อมต่อลื่นไหลกันหมด โดยเป็นส่วนหนึ่งของสภาพอากาศในแต่ละวัน อย่างพื้นที่โล่งที่เชื่อมต่อระหว่างบันไดกับห้องปิด ถ้าวันที่อากาศดีก็สามารถเอาเก้าอี้ เอาเสื่อ ออกมานอนเล่น นั่งเล่นได้ หรือแม้แต่ในวันที่ฝนตกไม่หนักเจ้าของบ้านก็ยังได้รับรู้ถึงละอองและกลิ่นของฝนเบาๆ อันเป็นเสน่ห์ของวันนั้นๆ ช่วงเวลานั้นๆ ด้วย
เจ้าของ: คุณอนงค์นุช และคุณปกรณ์ ตันมณีวัฒนา
สถาปนิก: Research Studio Panin โดย รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และคุณธนาคาร โมกขะสมิต
ออกแบบสวน: Kaizentopia
- เรื่อง: สมัชชา วิราพร
- ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข
- สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์