บ้านเรือนไทย

ความทรงจำใหม่ของเรือนไทยหลังเดิม

บ้านเรือนไทย
บ้านเรือนไทย

ท่ามกลางความวุ่นวายในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ยังมี บ้านเรือนไทย หลังหนึ่งซึ่งแวดล้อมด้วยสวนที่ร่มรื่น คงไว้ซึ่งบรรยากาศของการใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างไทย

บ้านเรือนไทย
ตัวบ้านเรือนไทยปลูกอยู่ในพื้นที่บ้านค่อนมาทางด้านหน้า และหันด้านหลังของตัวเรือนซึ่งเป็นส่วนของห้องนอนออกถนน ดูกลมกลืนกับรั้วไม้ทาสีเขียวซึ่งนำมาจากบ้านที่อยุธยาเช่นกัน หากสังเกตจะเห็นว่าปลายของรั้วไม้แต่ละแผ่นแกะอย่างสวยงามด้วยฝีมือประณีตของคุณตาคุณเจิมใจ ประกอบกับต้นไม้ที่ตัดแต่งให้ดูเรียบร้อย ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของบ้านไทยสมัยก่อน
บ้านเรือนไทย
จากสวนหลังบ้านมองเห็นตัวบ้านและรั้วไม้สีเขียว ซึ่งดูกลมกลืนกับต้นไม้ใหญ่น้อยที่ปลูกไว้เพื่อความร่มรื่น

คุณเจิมใจ โสภณรณฤทธิ์ เจ้าของบ้าน ได้เล่าถึงที่มาของ บ้านเรือนไทย ขนาดกะทัดรัดหลังนี้ให้เราฟังว่า “เดิมทีเรือนไทยหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรือนหมู่ บ้านของคุณตาคุณยายที่บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาค่ะ ซึ่งดิฉันเองเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ตอนปิดภาคเรียนก็ได้ไปเที่ยวไปอาศัยอยู่เสมอ ต่อมาเมื่อคุณตาคุณยายเสียชีวิต ญาติพี่น้องแบ่งมรดกกัน และดิฉันก็ได้ส่วนแบ่งเป็นเรือนนอนหลังใหญ่หลังนี้ ประกอบกับเห็นว่าเรามีที่อยู่ในกรุงเทพฯ จึงได้ย้ายมาปลูกเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยใช้เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของครอบครัว สำหรับจัดงานสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูงหรือมาพักผ่อนในวันหยุด”

บ้านเรือนไทย ขนาดกะทัดรัดหลังนี้ เมื่อย้ายมาปลูกในพื้นที่ประมาณกว่า 100 ตารางวา จึงมีพื้นที่รอบๆบ้านมากพอ โดยเจ้าของบ้านได้กำหนดให้วางตัวเรือนขวางพื้นที่ของบ้าน จึงเหลือพื้นที่สวนหลังบ้านที่มีความเป็นส่วนตัว บรรยากาศร่มรื่นและกว้างขวางพอสำหรับจัดงานสังสรรค์ได้

สวนกระถาง
จากรูปจะเห็นว่าใต้ถุนบ้านนั้นยกขึ้นสูง ทำให้ดูโปร่งและลมพัดเย็นสบาย จัดชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้ดีไซน์ร่วมสมัยสำหรับรับรองแขก ส่วนที่ติดกับรั้วบ้านทำเป็นชั้นไม้สำหรับวางกระถางต้นไม้สีสันสวยสด และได้ความร่มรื่นจากต้นไม้ของสวนเพื่อนบ้าน เป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนรักต้นไม้เช่นเดียวกัน
สวนกระถาง
ชั้นวางกระถางต้นไม้ทำแบบเรียบๆ ช่วยสร้างมิติให้รั้วบ้าน และเป็นการโชว์กระถางสวยๆไปในตัว
ใต้ถุน
โอ่งดินเผาขนาดใหญ่จำนวน 4 ใบ วางเรียงกันใต้ถุนบ้าน ซึ่งเมื่อวางพาดด้านบนด้วยแผ่นไม้กระดานขนาดใหญ่ ใช้แทนโต๊ะสำหรับวางอาหารเมื่อต้องรับรองแขกจำนวนมาก และสามารถขยายโต๊ะให้ใหญ่ขึ้นได้โดยเลื่อนโอ่งมาด้านหน้า แล้วดึงไม้ที่ซ้อนอยู่ออกมาวางเรียง เป็นการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่ฉลาด เรียบง่าย และใช้ประโยชน์ได้ดี
บันไดไม้
บันไดทางขึ้นบ้านทำใหม่ให้รับกับตัวบ้าน โดยคงรูปแบบของบันไดบ้านไทยที่มีแต่ลูกนอนและไม่กว้างมากนัก
มุมนั่งเล่น
บริเวณชานบ้านจัดวางม้านั่งยาวชิดกับรั้วไม้สีเขียวที่ทำขึ้นใหม่ เลียนแบบรั้วบ้านที่นำมาจากอยุธยา แต่สังเกตได้ว่าฝีมือของช่างไม่ประณีตเท่ากับของเดิม

ส่วนของตัวเรือน เนื่องจากเดิมเป็นเรือนไทยตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ด้านหน้าของเรือนจึงเป็นด้านที่หันออกสู่แม่น้ำ แต่เมื่อย้ายมาปลูกใหม่ คุณเจิมใจได้กลับด้านหน้าของเรือนให้หันเข้าหาสวนหลังบ้าน และให้ด้านหลังของเรือนหันออกสู่ถนนหน้าบ้านแทน เนื่องจากด้านหน้าของเรือนเป็นส่วนของชานบ้านที่ใช้นั่งเล่น พักผ่อน ซึ่งเมื่อหันเข้ามาทางสวนหลังบ้านก็จะได้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า

สำหรับพื้นที่ใช้สอยใน บ้านเรือนไทย หลังนี้มีความแตกต่างจากบ้านทั่วไป เนื่องจากเจ้าของไม่ได้อยู่อาศัยเป็นประจำ ภายในเรือนจึงมีเพียง 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ชานพักผ่อน มุมทำงาน และครัวขนาดเล็กเท่านั้น สำหรับบริเวณใต้ถุนซึ่งถือเป็นพื้นที่ใช้สอยหลักของบ้าน ส่วนหนึ่งคุณเจิมใจได้กั้นเป็นห้องกระจกสำหรับห้องทำงาน นอกเหนือจากนั้นได้จัดเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนและรับรองแขก โดยการจัดวางชุดโต๊ะเก้าอี้หลากหลายรูปแบบไว้ทั่วบริเวณใต้ถุนบ้าน เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีลมพัดเย็นสบายตลอดทั้งวันและตลอดทั้งปี จึงเหมาะกับการนั่งเอนหลัง

ซันรูม
ภายในห้องทำงานกั้นเป็นห้องกระจกเพื่อติดเครื่องปรับอากาศ และเพื่อให้ได้รับความสดชื่นจากทิวทัศน์ในสวนจึงทำส่วนหนึ่งเป็นมุขยื่นเข้าไปในสวนหลังบ้านเล็กน้อย โดยออกแบบให้ดูกลมกลืนกับตัวบ้าน แล้วจัดเป็นพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อน จัดวางม้านั่งไม้ยาวพร้อมหมอนผ้าไหมลายสวยของจิม ทอมป์สัน วางเรียงรายเป็นมุมที่ดูอบอุ่น เหมาะแก่การพักผ่อนระหว่างเวลาทำงานเป็นอย่างยิ่ง
มุมเล็กๆในตัวบ้านจัดวางตั่งไม้ไว้ข้างหน้าต่าง และวางหมอนผ้าฝ้ายสีสดใสของร้านนันทขว้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านที่เจ้าของบ้านโปรดปราน
เฟอร์นิเจอร์ไม้
มุมที่ชานบ้านซึ่งคุณเจิมใจเล่าว่า สมัยเป็นเด็กเมื่อไปค้างบ้านที่อยุธยาก็จะกางมุ้งนอนที่บริเวณนี้ ปัจจุบันจัดเป็นมุมรับแขก โดยใช้เก้าอี้รูปทรงสวยงามซึ่งเป็นของเก่า แต่นำมาหุ้มเบาะใหม่ วางคู่กับตั่งไม้แทนโต๊ะกลาง
ชานบ้าน
บริวณชานบ้านด้านบนปลูกต้นไม้ให้เื้อยคลุมหลังคา โดยเจ้าของบ้านบอกกับเราว่าจะต้องปลูกพร้อมตอนสร้างบ้าน แล้วบังคับให้เลื้อยจากใต้ถุนขึ้นมาถึงด้านบน และต้องหมั่นตัดแต่งอยู่เสมอ จึงจะมีรูปทรงสวยงามน่ามอง

“เชื่อไหมคะว่าวันหยุดสงกรานต์เราไม่เคยไปเที่ยวที่ไหนกันเลย แต่จะมาอยู่ที่นี่ทุกปี เพราะช่วงนั้นของปีที่นี่จะสวยมาก ดอกไม้ต้นไม้งาม แม้แต่ในหน้าร้อนบ้านเราก็ไม่ร้อน ลมยังพัดเย็นสบาย มานอนค้างคืนที่นี่เหมือนมาแคมปิ้งกันในป่า เพราะจะมีนกมีกระรอกมาวิ่งเล่นกัน ตื่นมาตอนเช้าอากาศก็สดชื่นมากค่ะ”

นอกจากตัวบ้านเรือนไทย ด้านหลังบ้านยังมีเรือนไม้หลังเล็กซึ่งคนสวนของบ้านสร้างขึ้นจากไม้ที่เหลือจากเรือนใหญ่ โดยใช้เป็นห้องเก็บของ และแบ่งพื้นที่ด้านข้างทำเป็นห้องน้ำในบรรยากาศสวน เผื่อสำหรับรับรองแขกด้วย

เรือนไม้
เรือนไม้หลังเล็กสำหรับเก็บของ สร้างไว้มุมด้านในสุดของบ้าน ทำให้เกิดมุมนั่งเล่นที่เป็นสัดส่วน มักใช้เป็นมุมคาราโอเกะในสวน ซึ่งเจ้าของบ้านจัดวางเก้าอี้ไม้ที่ทำเลียนแบบเก้าอี้จากวังบ้านหม้อ คู่กับตั่งไม้บนพื้นซึ่งปูอิฐมอญ และมีม้าเซรามิกสีสดจากเถ้าฮงไถ่ ซึ่งเป็นได้ทั้งของประดับและม้านั่งสำหรับรับรองแขก
ห้องน้ำ
มุมเล็กๆหน้าห้องน้ำ ใช้อ่างไม้แบบโบราณมาประยุกต์เป็นอ่างล้างมือ ดูเก๋ไก๋ เข้ากับบ้านไม้ได้ดี
ห้องน้ำกลางสวน
ห้องน้ำในสวน สร้างคร่อมต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากไม่ต้องการตัดออก ภายในตกแต่งด้วยไม้ระแนงให้ต่อเนื่องจากตัวบ้าน หลังคากรุกระเบื้องโปร่งใสเพือให้มีแสงสว่างเข้าสู่ห้องน้ำ ตกแต่งด้วยโอ่งลายไทยและกระบวยไม้ ให้บรรยากาศแบบบ้านไทย
มุมนั่งเล่รบริเวณสวนหลังบ้าน วางโต๊ะไม้ดูดิบๆเรียบๆ กลมกลืนกับธรรมชาติโดยรอบ
พื้นบ้านบางส่วนปูอิฐมอญ เดิมเคยปูเป็นลายก้างปลา แต่ช่างยุคหลังปูเรียงเป็นแนวธรรมดา เนื่องจากห็นว่าปูง่ายกว่า ซึ่งลวดลายเรียบๆง่ายๆก็ช่วยให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น
รั้วบ้านอีกด้านหนึ่งใช้เศษไม้ที่เหลือจากการสร้างบ้าน โดยทำให้เป็นชั้น ซึ่งนอกจากใช้วางกระถางต้นไม้ได้แล้ว ยังเป็นที่นั่งได้ด้วย

แม้ว่า บ้านเรือนไทย หลังนี้จะได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการใช้สอยตามวิถีชีวิตในปัจจุบันของเจ้าของบ้าน แต่ขณะเดียวกันคุณเจิมใจก็พยายามรักษาสภาพของตัวเรือนให้ได้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด ด้วยความคิดที่ว่า “ของเก่ามันอยู่ได้นาน ดูเท่าไรก็ไม่เบื่อ” และคำนึงถึงความเหมาะสมอย่างที่สุด ก่อนที่จะเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆเข้าไปในบ้าน  ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้บ้านเรือนไทยหลังนี้ยังคงอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของบ้านไทยในอดีตอันสงบ ร่มรื่น และงดงาม


เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณเจิมใจ – ศาสตราจารย์ ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์

เรื่อง : ภัทรสิริ อภิชิต

ภาพ : สังวาล พระเทพ

เรือนไทยประยุกต์ริมคุ้งน้ำอยุธยา

เรือนไทยใต้ถุนสูง ผสมผสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นกับความสบายได้อย่างลงตัว