ป้องกันอันตรายในบ้านผู้สูงอายุ
เพราะผู้สูงอายุคือผู้ใช้งานในบ้านที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ การออกแบบบ้านจึงควรรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุด้วย มาดู 7 จุดที่ควรระวังในการ ออกแบบบ้านผู้สูงอายุ มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ควรทำ และไม่ควรทำบ้าง
ทางลาดไม่อันตราย
ทางลาดเป็นองค์ประกอบแรกที่ควรรู้ในการ ออกแบบบ้านผู้สูงอายุ การทำทางลาดอาจทำให้เปลืองพื้นที่บ้านไม่น้อย แต่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อมีผู้สูงอายุที่เดินขึ้นลงบันไดลำบาก หรือมีการใช้รถเข็น โดยมีหลักการทำทางลาดที่ปลอดภัยดังนี้ แบบบ้านผู้สูงอายุ
- มีความลาดเอียงที่สามารถขึ้นลงได้ปลอดภัย โดยมีอัตราความลาดเอียงดังนี้
- อัตราความลาดเอียงน้อยกว่า 1 : 10 ลาดชันเกินไป ก่อให้เกิดอันตรายได้
- อัตราความลาดเอียง 1 : 10 ต้องมีผู้ช่วยเข็นรถเข็น
- อัตราความลาดเอียง 1 : 12 – 1 : 20 ผู้นั่งรถเข็นสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
- ทางลาดมีความยาวไม่เกิน 6 เมตร มีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร หากทางลาดมีความยาวเกิน 6 เมตร ต้องมีชานพักยาว 1.50 เมตร และถ้าทางลาดทุกช่วงยาวรวมกันมากกว่า 6 เมตร ทางลาดต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
- มีขอบพื้นทางลาดสูงอย่างน้อย 15 เซนติเมตร ป้องกันล้อรถเข็นตก
- มีราวจับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร ติดตั้งสูง 80-90 เซนติเมตร
- มีพื้นที่โล่งหน้าทางลาดยาวไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
- พื้นผิวทางลาดทำจากวัสดุที่ไม่ลื่น เช่น ทรายล้าง คอนกรีตเซาะร่อง
ออกแบบบ้านผู้สูงอายุ ประตูและมือจับ เปิดง่าย จับสะดวก
การเปิดปิดประตู และผ่านเข้าออกประตูทั่วไปก็อาจเป็นอุปสรรคแก่ผู้สูงอายุและผู้ที่นั่งรถเข็นได้ จึงควรออกแบบให้ผู้สูงอายุและผู้ใช้รถเข็นใช้งานสะดวก ทั้งยังช่วยให้การขนย้ายผู้ป่วยทำได้ง่ายด้วย ออกแบบบ้านผู้สูงอายุ
- ประตูควรมีความกว้างสุทธิอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เป็นประตูที่เปิดได้ง่าย อย่างประตูบานเปิด(ผลัก)และประตูบานเลื่อน
- ถ้าเป็นประตูบานเปิด ต้องมีพื้นที่หน้าประตูด้านที่เปิดออกอย่างน้อย 1.50 x 1.50 เมตร เพื่อมีพื้นที่ว่างให้รถเข็นขยับหลบเพื่อเปิดปิดประตูได้
- เลือกใช้อุปกรณ์เปิดปิดแบบคันโยกที่ผู้สูงอายุจับง่ายกว่าแบบลูกบิดกลมๆ
- มือจับสำหรับประตูบานเลื่อน ไม่ควรใช้มือจับแบบฝังเพราะจับไม่สะดวก ควรใช้มือจับแบบยื่นออกมาจะจับสะดวกกว่า
- มีราวจับที่ผู้สูงอายุและผู้ใช้รถเข็นใช้งานสะดวก
ห้องน้ำไม่ลื่น รถเข็นเข้าได้
ห้องน้ำเป็นอีกจุดอันตรายที่ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุบ่อยจากการลื่นล้ม และมีความลำบากเมื่อต้องเปลี่ยนอิริยาบทในการทำกิจธุระ โดยเฉพาะในยามเจ็บป่วย มาออกแบบห้องน้ำให้ใช้งานสะดวกและปลอดภัยกัน
- ประตูเป็นบานเปิดออกหรือบานเลื่อนที่บานประตูอยู่นอกห้องน้ำ เพื่อให้เปิดเข้าไปช่วยเหลือได้แม้จะมีคนล้มขวางประตูอยู่ และมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ให้รถเข็นเข้าได้สะดวก
- ระดับพื้นเท่ากัน ป้องกันเดินสะดุดและรถเข็นเข้าได้ โดยทำช่องระบายน้ำทิ้งแบบรางยาวที่ติดตั้งให้เรียบเสมอพื้นได้ที่หน้าประตู และพื้นระหว่างส่วนเปียกและส่วนแห้ง
- ภายในห้องมีพื้นที่โล่งระยะรัศมี 1.50 เมตร เพื่อให้รถเข็นหมุนตัวได้
- มีราวจับพยุงตัวตามจุดต่างๆ
- มีที่นั่งอาบน้ำ อาจก่อเป็นที่นั่งถาวร เก้าอี้ลอยตัว หรือใช้แบบติดผนังที่พับได้
- พื้นกันลื่น ใช้วัสดุพื้นผิวที่มีค่ากันลื่น R 10 ขึ้นไป หรือติดแถบกันลื่น และทำความสะอาดห้องน้ำสม่ำเสมอ ป้องกันการลื่นจากสิ่งสกปรก
- ใช้ก๊อกน้ำแบบก้านโยก เปิดปิดง่ายกว่าแบบหมุน
- โถสุขภัณฑ์ใช้แบบคันโยกใช้แรงน้อยกว่าแบบปุ่มกด และที่นั่งสูง 45 เซนติเมตร ซึ่งผู้สูงอายุจะลุกได้ง่าย
- ใช้ก้านฝักบัวที่ปรับระดับความสูงได้
- ใช้อ่างล้างหน้าแขวนผนังที่ด้านล่างโล่ง สำหรับคนนั่งรถเข็นสอดขาเข้าได้
ปลั๊กไฟ-สวิตช์ไฟเอื้อมถึง ปลอดภัย
การทำปลั๊กไฟเตี้ยๆ หรืออยู่หลังเคาน์เตอร์ที่ต้องเอื้อมไกล ทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้น จึงควรเลือกและติดตั้งปลั๊กไฟ-สวิตช์ไฟให้เอื้อต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ
- ตำแหน่งสวิตช์ไฟควรเอื้อมถึงได้ง่าย ไม่อยู่หลังเคาน์เตอร์ หรือหลังบานประตู
- สวิตช์ไฟมีขนาดใหญ่ และถ้าเลือกรุ่นที่มีแสงไฟที่สวิตช์เมื่อปิดไฟแล้ว จะช่วยให้กดสวิตช์ในยามค่ำคืนได้ง่ายขึ้น
- เพิ่มความปลอดภัยด้วยการเลือกใช้ปลั๊กไฟที่มีสวิตช์เปิดปิดได้ ช่วยให้ไม่ต้องถอดปลั๊กบ่อย ลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเสียบปลั๊กได้
- ปลั๊กไฟควรติดตั้งสูงประมาณ 90 เซนติเมตร ก็จะไม่ต้องก้มให้ปวดหลัง ทั้งยังปลอดภัยกับเด็กเล็กด้วย
บันไดเดินขึ้นลงไม่เหนื่อย ราวจับมั่นคง
พื้นที่ใช้งานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุควรอยู่ชั้นล่าง เพื่อให้เข้าออกบ้านได้สะดวก ไม่ต้องขึ้นลงบันไดมาก แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องขึ้นลงบันได ควรทำบันได้ให้กว้าง ไม่ชัน มีระยะก้าวที่เหมาะสม และมีราวที่มั่นคงจับสะดวก สามารถเดินขึ้นลงได้ไม่เหนื่อยมาก
- ทำลูกตั้งสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร และลูกนอนกว้างอย่างน้อย 28 เซนติเมตร ขั้นบันไดเป็นแบบทึบไม่มีช่องโล่งที่อาจทำให้สะดุด
- บันไดกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร และควรมีชานพักทุกระยะความสูงไม่เกิน 2 เมตร ช่วยให้ไม่เหนื่อยเกินไป
- ราวจับทำจากวัสดุเรียบ ไม่ลื่น มีลักษณะกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 – 4.5 เซนติเมตร และห่างจากผนัง 5 เซนติเมตร สูงจากพื้น 70-90 เซนติเมตร
- ปลายราวจับที่ขั้นแรกและขั้นสุดท้ายยื่นต่อมาอีก 30 เซนติเมตร ช่วยให้จับพยุงตัวขณะเปลี่ยนจากการก้าวขึ้นลงมาเดินทางราบ
- หากพื้นผิวบันไดลื่น ควรติดแถบกันลื่น และติดแถบสีที่บันไดขั้นแรกและบันไดขั้นสุดท้ายให้เป็นจุดสังเกต
- มีไฟแสงสว่างเพียงพอให้มองเห็นความต่างระดับได้ชัดเจน
เตียงนอนรองรับยามเจ็บป่วย
ที่นอนสำหรับผู้สูงอายุไม่ควรเป็นฟูกวางกับพื้นเพราะเตี้ยเกินไป ทำให้ผู้สูงอายุลุกและลงนอนลำบาก และเตียงนอนไม่สูงเกินไปจนต้องเขย่ง อีกทั้งควรมีพื้นที่ว่างรอบๆเตียงเพื่อให้ผู้ช่วยเข้าดูแลได้สะดวกโดยเฉพาะในยามเจ็บป่วย
- เตียงนอนควรสูง 40 – 50 เซนติเมตร เพื่อให้ลุกนั่งสะดวก และมีความสูงใกล้เคียงกับความสูงรถเข็น
- พื้นที่ว่างรอบเตียวกว้าง 90 – 120 เซนติเมตร สำหรับรถเข็นและเพื่อให้ดูแลผู้สูงอายุได้รอบเตียง
- ขอบเตียงและขอบมุมไม่เป็นเหลี่ยมมุมที่อาจเดินชนบาดเจ็บ
- เตรียมอุปกรณ์เรียกฉุกเฉินไว้ข้างเตียง เช่น กริ่ง โทรศัพท์
ชั้นและตู้เสื้อผ้าที่เอื้อมถึง
การหยิบสิ่งของบนชั้นและในตู้เสื้อผ้าอาจเป็นเรื่องยากมากขึ้น เมื่อผู้สูงอายุที่มีปัญหากล้ามเนื้อแขน หัวไหล่ และหลังค่อม จึงไม่สามารถหยิบของในที่สูงได้เหมือนเคย เมื่อมีผู้สูงอายุในบ้านควรเตรียมความสูงชั้นและราวแขวนเสื้อผ้าให้เหมาะสม
- ชั้นและราวแขวนผ้ามีระดับความสูง 1.50 – 1.70 เมตร หรืออยู่ในระดับหัวไหล่และไม่เกินระดับศีรษะของผู้ใช้งาน และสูง 1 – 1.30 เมตรสำหรับผู้นั่งรถเข็น
- แนะนำให้ทำชั้นและราวแขวนเสื้อที่ปรับระดับได้ตั้งแต่เริ่มสร้าง เพื่อปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามความสะดวกของผู้ใช้งานโดยไม่ต้องรื้อทำใหม่
- สิ่งของที่หยิบใช้บ่อย ควรเก็บในตู้หรือชั้นที่มีความสูงระดับเอว หรือประมาณ 0.80 – 1 เมตร
- ชั้นและตู้ไม่ลึกเกินไปจนเอื้อมไม่ถึง โดยมีความลึกไม่เกิน 65 เซนติเมตร
คอลัมน์ Home Expert นิตยสารบ้านและสวน ส.ค. 65
เรื่อง – ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพประกอบ – เอกรินทร์ พันธุนิล
- ราวกันตกที่ปลอดภัยกับเด็ก ผู้สูงอายุ สัตว์เลี้ยง
- 7 บ้านสวย อยู่สบาย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ
- ทำอาหารให้ผู้สูงอายุอย่างไร ให้ปลอดภัย ?
- เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ อัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมที่พบมากขึ้นในสังคม
- วิธี ฝึกกล้ามเนื้อ “ป้องกันล้ม” ในผู้สูงวัย
ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag