โดยปกติบ้านพักอาศัยทั่วไปต้องมีเรื่องระบบการระบายน้ำทิ้งอยู่แล้ว คือ น้ำทิ้งจากครัว น้ำทิ้งจากห้องน้ำ และน้ำทิ้งจากรางน้ำฝน ซึ่งระบบทั้งหมดที่กล่าวมาจะเชื่อมต่อกับบ่อพัก แล้วค่อยระบายสู่ท่อน้ำสาธารณะต่อไป
แต่ถ้าเป็น ระบบระบายน้ำในสวน คงจะเป็นเรื่องการระบายน้ำฝนและการระบายน้ำจากผิวดินในสวนมากกว่า เพราะฉะนั้นการวางระบบระบายน้ำที่ดีภายในสวนจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมขัง ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตสวยงาม สวนบางแห่งมีสภาพพื้นที่เป็นดินเหนียว ระดับน้ำใต้ดินสูง เพราะ ดินที่นำมาถมบ้านมักมีดินเหนียวปะปนมาด้วย ทำให้เกิดน้ำขังเป็นแอ่ง ดังนั้นการระบายน้ำในสวนจะช่วยแก้ปัญหาได้ ซึ่งมีทั้งหมด 3 วิธี
10 พรรณไม้ทนน้ำ ปลูกประดับสวนบนบกได้ แต่ถ้ามีน้ำท่วมก็ไม่ตาย
ฟื้นฟูสวนและดูแลต้นไม้หลังน้ำท่วม
1.ระบบระบายน้ำบนผิวดิน
ปัจจุบันโครงการที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีการถมที่ดินสูงขึ้นจากเดิมมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราแค่ปรับระดับความชันของดินให้มีความลาดเอียงของพื้นที่ประมาณ 1–10 เปอร์เซ็นต์ เช่น ระยะห่างแนวราบ 100 หน่วย ควรมีความสูงระหว่างพื้นที่ในจุดที่สูงที่สุดไปถึงจุดที่ต่ำที่สุด 8 หน่วย เรียกว่ามีความชัน 8 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้น้ำไหลไปยังบ่อพักภายในบริเวณบ้าน นอกจากนี้ บริเวณที่เป็นพื้นไม้ระแนง พื้นซีเมนต์ หรือพื้นวัสดุอื่น ๆ เป็นตำแหน่งที่ต้องตรวจดูระดับความลาดชันให้ดี เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง หากจำเป็นอาจต้องติดตั้งช่องระบายน้ำที่พื้นเพิ่มแล้วฝังท่อเชื่อมออกสู่ทางระบายน้ำรวมต่อไป
• ถนน 0.5-8 เปอร์เซ็นต์
• ลานจอดรถหรือลานกิจกรรม 0.5-5 เปอร์เซ็นต์
• ทางเดินเข้าบ้านหรือรอบบ้าน 1-4 เปอร์เซ็นต์
• ทางเดินเท้า 1-8 เปอร์เซ็นต์
• ทางลาดเอียง 1-10 เปอร์เซ็นต์
• สนามหญ้าในสวน 2-3 เปอร์เซ็นต์
• ทางระบายน้ำ 2-10 เปอร์เซ็นต์
2.ระบบระบายน้ำใต้ดิน
เหมาะกับสภาพพื้นที่แบบดินเหนียวที่มีการระบายน้ำค่อนข้างยาก หรือไม่สามารถปรับระดับความชันของดินได้เป็นที่ต่ำมาก มักมีน้ำท่วม มีระดับน้ำใต้ดินสูง หากใช้วิธีระบายน้ำบนผิวดินเอาไม่อยู่แน่นอน จึงต้องอาศัยการทำระบบระบายน้ำใต้ดินเสริมเข้าไป ทดสอบด้วยการรดน้ำลงบนดิน เพื่อสังเกตการซึมลงของน้ำ เมื่อรู้ตำแหน่งการวางท่อแล้วค่อยทำการขุดดินเพื่อวางแนวท่อพีวีซียาวไปถึงบ่อพักน้ำ
ก่อนวางท่อควรเจาะท่อสำหรับน้ำซึม คลุมทับด้วยแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์ หรือถ้าไม่มีใช้ตาข่ายไนลอนแทนได้ เพื่อกันเศษดินเข้าไปอุดตัน กลบด้วยหินละเอียด หินก่อสร้าง ทรายหยาบ และปิดท้ายด้วยดินเพื่อปูหญ้า ปลูกต้นไม้ตามต้องการ หากเป็นที่ใหญ่มากและมีปัญหาน้ำท่วมขังมากเกินไป อาจต้องวางระบบระบายน้ำเป็นแนวก้างปลาแทน
3.ร่องระบายน้ำ
เป็นการบังคับให้น้ำไหลอ้อมจากสิ่งกีดขวางหรือบังคับให้ไหลไปยังจุดที่ต้องการ โดยใช้รูปแบบคล้ายกับระบบระบายน้ำบนผิวดิน แต่เพิ่มแนวรางหรือร่องระบายน้ำขึ้นมา รูปแบบของร่องระบายน้ำอาจใช้ท่อพีวีซีผ่าครึ่งวางเป็นแนวยาว หรือก่อเป็นรางซีเมนต์ โรยกรวดตกแต่งให้สวยงาม เวลามองจะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นร่องระบายน้ำ ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นส่วนเดียวกันกับสวน
สิ่งที่ควรคำนึงในการสร้างระบบระบายน้ำ
เพื่อให้ได้มาซึ่งระบบระบายน้ำที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดสำหรับสวนในบ้านนั้น จะต้องพิจารณารูปร่างพื้นที่ดินของบ้านก่อนว่ามีรูปร่างอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ท่อเมนสั้นที่สุด ที่สำคัญคือ เวลาเชื่อมต่อกันแล้วต้องทำให้ระดับปากท่อพักข้างในกับข้างนอกพอดีกัน ไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้ามาในบ้าน นอกจากนี้ ก่อนวางท่อจำเป็นต้องตรวจเช็กให้ดีก่อนว่ามีท่ออะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ทั้งระบบสปริงเกลอร์และระบบไฟ หากไม่รู้อาจต้องขุดเปิดหน้าดินดูให้แน่ใจ เพื่อป้องกันความเสียหายและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เมื่อรู้ตำแหน่งแล้วอย่าลืมทำสัญลักษณ์เอาไว้ด้วยนะครับ
Tips
• เมื่อวางท่อระบายน้ำใต้ดินแล้ว ควรมีชั้นกรวดหรือหินก่อสร้าง ชั้นทราย และอิฐมอญวางทับอีกทีเพื่อเป็นจุดสังเกตในอนาคตบอกตำแหน่งที่วางท่อ
• ฝาบ่อพักอาจใช้วัสดุที่สวยงามและเข้ากับสวน อาจหากระถางต้นไม้สวยงามมาวางด้านบน หรือโรยกรวดปิดบังฝาบ่อที่ไม่น่ามอง อีกทั้งหากในอนาคตต้องการเปิดฝาท่อก็จะสามารถเปิดใช้งานได้สะดวก
• หากระบบระบายน้ำเดิมที่มีอยู่ในบ้านอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม สามารถย้ายตำแหน่งแนวทางระบายน้ำได้
• ระดับน้ำใต้ดินที่สูงมากจะมีผลกับต้นไม้ บางครั้งอาจใช้วิธีขุดหลุมปลูกต้นไม้ตื้นขึ้นเล็กน้อย แล้วพอกดินให้สูงขึ้น แต่ถ้ากลัวว่าจะไม่สวยงามก็ต้องหันไปพึ่งระบบระบายน้ำใต้ดินแทน
• บ่อทรายสำหรับเด็กเล่น ควรมีระบบน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังภายในบ่อทราย