บ้านสวนสไตล์พื้นถิ่นร่วมสมัย ออกแบบเป็น บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก ที่เน้นการสร้างได้เร็ว ทันสมัย แต่ยังคงความอบอุ่น อยู่สบายแบบบ้านไม้
ใครจะคิดว่าโควิด-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนของคนๆ หนึ่งได้แบบพลิกชีวิต เมื่อการแพร่ระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของบ้านหลังนี้จากที่เคยทำงานออฟฟิศ จึงมองหาพื้นที่ปลูกบ้าน ทั้งเพื่ออยู่อาศัย ทำงาน และทำสวนเล็กๆ ท่ามกลางธรรมชาติ เดิมเจ้าของบ้านทำงานออฟฟิศและอยู่คอนโดในจังหวัดระยอง พอช่วงโควิด ปี 2563 มีคำสั่ง WFH และรู้สึกว่าออกไปไหนไม่ได้ จึงคิดว่าถ้ามีบ้านและปลูกผักกิน ไม่ต้องสัมผัสผู้คน ก็น่าจะห่างไกลจากโควิดได้ จากนั้นลองหาที่ดินให้ออกมานอกเมืองหน่อย จนมาลงตัวที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง และออกแบบโดย คุณน๊อต-สุริยา เขาทอง สถาปนิกแห่ง ช่างเฮ็ดแบบ บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก
บ้านสวนเกษตรบนพื้นที่ 7 ไร่
สำหรับโจทย์ที่คุณน็อตได้รับ คือ ต้องเป็นบ้านที่ปลอดภัย ปลูกสร้างเร็ว มีความเป็นท้องถิ่น แต่ว่ายังทันสมัย และที่สำคัญต้องปลอดภัยด้วยคุณน๊อตใช้เวลาออกแบบประมาณ 2 เดือน และก่อสร้างอีก 9 เดือน แต่มีความล่าช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ เนื่องจากฝนตกบ่อย แต่ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะมีการปรับแบบให้เหมาะสมกับลม ฟ้า อากาศ และมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย จนกลายเป็นบ้าน 2 ชั้น 2 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอย 225 ตารางเมตร บนที่ดิน 7 ไร่ และมีแปลงดอกไม้ปลูกจำหน่าย เรือนรับรองแขก 1 หลัง และคอกวัว ที่เจ้าของบ้านร่วมกับเพื่อนไปไถ่ชีวิตมา
บ้านไม้โครงสร้างเหล็ก พื้นถิ่นผสมความทันสมัย
การออกแบบเริ่มต้นโดยดูเรื่องทิศทางการวางตำแหน่งห้องก่อนเพื่อจัดโซนนิ่ง อย่างฝั่งที่โดนแดดก็วางให้เป็นห้องครัว โซนที่เย็นสบายให้เป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น โดยเน้นการใช้โครงสร้างเหล็ก วางแผ่นพื้นสำเร็จรูป แล้วปูพื้นไม้ทับ เป็นบ้านไม้ผสมเหล็ก เพราะเจ้าของบ้านต้องการเข้าอยู่เร็ว ซึ่งหากใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กต้องใช้เวลาในการหล่อนาน หรือหากเป็นงานไม้ล้วนก็ทำให้ดูทันสมัยยาก ด้วยความที่ออกแบบเป็นบ้านหลังคาจั่วซึ่งยังมีกลิ่นอายบ้านพื้นถิ่นอยู่มาก จึงเพิ่มลูกเล่นการใช้วัสดุ ทั้งการเข้าไม้สัก ผสมงานเหล็ก คอนกรีต กระเบื้องผสมผสานกันให้ร่วมสมัย และอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว
บ้านสวยอยู่เย็น
สิ่งที่เจ้าของบ้านชื่นชอบเป็นพิเศษคือ เป็นบ้านพื้นถิ่นที่ผสมผสานไอเดียที่หลากหลาย อย่างผนังห้องครัวทำบานเลื่อนแบบ “ฝาไหล” ซึ่งนิยมทำในบ้านภาคเหนือ ที่ช่วยระบายอากาศ และ แข็งแรง ปลอดภัยไปในตัว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนเหนือ การทำฝาบ้านด้วยหน้าต่างไม้นำมาต่อกัน การทำประตูเฟี้ยมที่มีลูกเล่น ด้วยการทำเป็นหน้าต่างบานเล็กให้เปิดได้ แทนที่ต้องเปิดเฟี้ยมทั้งบาน และติดเหล็กเข้าไปทั้งเพื่อความสวยงามและกันขโมย ซึ่งตอบโจทย์ของเจ้าของบ้าน
นอกจากบ้านจะสวยน่าอยู่แล้ว ยังรู้สึกปลอดโปร่ง ลมพัดเย็นตลอดเวลา นั่นไม่ใช่เพียงเพราะบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง ทว่าการออกแบบยังเน้นที่การมีช่องทางให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามา และมีลมไหลเวียนเข้าออกสะดวก ด้วยการทำฝ้าเพดานสูง เปิดเป็นพื้นที่โล่ง อีกทั้งชานระเบียงกว้าง ยังช่วยให้ฝนไม่สาดเข้าตัวบ้านแม้เวลาฝนตกหนัก เป็นการช่วยถนอมเนื้อไม้อีกทางหนึ่ง ตัวบ้านจึงโล่ง โปร่ง ไม่อับชื้น และสว่างด้วยแสงธรรมชาติทุกมุม
ออกแบบพื้นที่ให้พึ่งพาตัวเองได้
การทำแปลงเกษตรเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของเจ้าของบ้าน จึงหาความรู้ และประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่เกษตรวิถีพอเพียง จนลงตัวที่การทำบ่อน้ำ 2 บ่อ แล้วเอาดินที่ได้มาถมที่ก่อนปลูกบ้าน และน้ำในบ่อก็นำไปรดต้นไม้ ซึ่งเจ้าของบ้านลงไม้ยืนต้นที่เป็นไม้โบราณหายาก เช่น กันเกรา พะยูง จำปี จิกน้ำ ลำดวน ไม้ดอก เช่น บุหงาสาหรี่ ราชาวดี รวมถึงผลไม้และอื่นๆ กระจายรอบพื้นที่ อีกทั้งมีแปลงไม้ดอกที่ปลูกไว้สร้างรายได้ คือ ดอกดาวเรือง ปลูกระบบไฮโดรโปรนิกส์ ที่ผู้รับเหมาจะมาซื้อถึงสวน รวมถึงแปลงดอกสร้อยทอง และกำลังจะลงต้นกุหลาบมอญเร็วๆ นี้
จากความฝันเล็กๆ ที่จะมีบ้านของตนเอง แม้จะเริ่มจากความหวั่นเกรงโรคระบาด ทว่าสุดท้ายก็นำมาสู่บ้านที่น่ารัก อบอุ่น และได้ตามฝัน แน่นอนว่าการเปลี่ยนจากพนักงานออฟฟิศมาทำการเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วสนุกกับการเรียนรู้ ก็เปิดไปสู่ชีวิตใหม่ จนกลายเป็นบ้านที่ดู “บ้าน บ้าน” ที่ไม่แปลกแยกกับพื้นที่และผู้คน แต่มีสไตล์ที่แตกต่างอย่างลงตัว
ออกแบบ : ช่างเฮ็ดแบบ โดยคุณสุริยา เขาทอง โทร : 080-629-9451
เรื่อง : นารา
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
รวมบ้านไม้แสนน่าอยู่ ท่ามกลางบรรยากาศสวนร่มรื่น
8 บ้านต่างจังหวัดบรรยากาศชิล ที่ใครเห็นก็ตกหลุมรัก