บ้านไม้ชั้นเดียว รูปทรงจั่วไทยๆ ที่เรียบง่าย โดยยกสูงจากพื้นดินเล็กน้อยเพื่อให้ลมหมุนเวียนช่วยคลายความร้อนของตัวบ้าน และเผื่อให้เป็นทางน้ำไหลผ่านได้ อีกทั้งยังใช้เป็นที่เก็บของได้ด้วย
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: good old days และ AEC Studio
เพราะเกิดและเติบโตมากับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบไทยๆ ภายในบ้านไม้ ผ่านเรื่องราวความทรงจำที่แสนผูกพันจากข้าวของเครื่องใช้ในยุค 70-80 เหมือนๆ กัน ทำให้ทั้ง คุณซา-นราวัลย์ (ราชสีห์) และคุณต้อม-อภิชัย วังตระกูล ที่แม้จะเคยใช้ชีวิตอยู่คนละจังหวัด ไม่เพียงแต่จะต่อกันติดในทุกเรื่องราวอย่างน่าอัศจรรย์ หากยังร่วมความฝันที่จะมาตั้งหลักปักฐานชีวิตครอบครัวในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยการสร้าง บ้านไม้ชั้นเดียว แบบไทยๆ เพื่อใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติแสนสงบไปด้วยกัน
ทั้งคู่เริ่มสร้างบ้านไม้หลังแรกที่เป็นเสมือนเรือนหอเมื่อหลายปีมาแล้ว จึงค่อยขยับมาสร้างบ้านไม้หลังใหม่เพื่อเปิดเป็นโฮมสเตย์สำหรับสร้างรายได้เสริมไปพร้อมๆ กัน จนเมื่อคุณต้อมมีปัญหาสุขภาพรุมเร้าประกอบกับคุณซาคิดถึงครอบครัวที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งคู่จึงวางแผนขายบ้านนั้นเพื่อจะย้ายไปอยู่ร่วมกับครอบครัวที่ต่างประเทศ แต่ก็ต้องหยุดความตั้งใจนี้ไว้เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พอดี ทำให้ต้องระงับการเดินทาง จากนั้นก็มีการปิดประเทศอันยาวนานโดยไม่รู้ว่าจะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อีกเมื่อไร เมื่ออนาคตยังไม่แน่นอน อีกทั้งบ้านก็ขายไปแล้ว ทั้งคู่จึงใช้เวลาระหว่างที่รอคอยนี้ค่อยๆ สร้างบ้านใหม่ขึ้นมาอีกหลังบนที่ดินขนาด 169 ตารางวา ซึ่งเคยซื้อและปลูกต้นไม้เอาไว้ก่อนแล้ว โดยตั้งใจให้เป็นที่อยู่อาศัยในไทยสลับกับการไปใช้ชีวิตอยู่กับหลานที่สวิตเซอร์แลนด์ในอนาคต แม้จะเป็นบ้านหลังที่ 3 แล้ว แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยก็คือความหลงรักในบ้านไม้ที่เปิดโล่งรับลมชมวิวแบบไทยๆ โดยเน้นใช้ไม้เก่ากับเฟอร์นิเจอร์และของใช้ของสะสมจากยุค 70-80 ที่ยังมีเก็บไว้อยู่เช่นเดิม
“เราซื้อที่ดินตรงนี้ไว้เพราะว่าอยู่ใกล้วัด คิดไว้เลยว่าจะได้เดินไปทำบุญที่วัดง่ายๆ และก็ลดขนาดบ้านจากหลังที่แล้วลงไปเยอะมาก เหมือนบ้านหลังนี้ทำให้เราลดและละวางไปได้หลายอย่างด้วย แม้แต่การขายของที่เคยเก็บสะสมไว้มานานออกไป แต่ที่ยังชอบมากมาตลอดเลยคือความเป็นบ้านไม้ เราไปตามหาซื้อไม้กันมาจากบ้านเก่าที่นครสวรรค์ ขนใส่สิบล้อกันมาเลย บางส่วนขัดล้าง บางส่วนขัดหน้าไม้ใหม่ บางแผ่นก็ต้องตัดให้พอดีกับพื้นที่บ้าน แต่พยายามเก็บธรรมชาติของไม้แบบเดิมๆ ไว้ให้มากที่สุด ส่วนเรื่องการออกแบบเรายังคงนำแนวคิดจากบ้านหลังเดิมๆ ที่ คุณบั๊ม – ประกิต กัณหา(สถาปนิกจาก Studio Miti) เคยทำไว้มาเป็นแนวทางอยู่ แต่ปรับให้เป็นบ้านชั้นเดียวขนาดพื้นที่ใช้สอยราว 200 กว่าตารางเมตร ยกสูงจากพื้นเล็กน้อยเพราะรอบบ้านเป็นลำเหมือง เผื่อเขาจำเป็นต้องปล่อยน้ำมา ประกอบกับมีจุดที่น้ำฝนไหลลงมาจากดอยด้วย ยังดีที่หน้าบ้านเป็นแม่น้ำปิงมีผาน้ำเป็นตลิ่งช่วยซับน้ำลงได้เร็ว เราเลยยกพื้นไว้เมตรกว่าพอให้ลมพัดผ่านคลายความร้อนและใช้เป็นที่เก็บของได้ แล้วก็โรยเกลือเม็ดตามวิธีคนโบราณเพื่อป้องกันไม่ให้งูเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย”
ด้วยทักษะที่เคยสอนวิชาเขียนแบบกับประสบการณ์การสร้างบ้านไม้มาแล้ว 2 หลัง คุณต้อมจึงลงมือวาดแบบบ้านขึ้นมาเองโดยให้เป็นบ้านรูปทรงจั่วไทยๆ ที่เรียบง่าย แล้วเติมพื้นที่ใช้สอยตามต้องการลงไป
“เรากลัวเรื่องแผ่นดินไหวเหมือนกัน เลยทำฐานรากแบบแผ่กว้างเพื่อรับน้ำหนักของบ้านและยังลงตอม่อไว้เยอะมาก ข้างล่างเน้นให้เป็นปูนแล้วค่อยต่อเป็นโครงไม้ขึ้นมา ประกอบตัวบ้านจากไม้เก่าที่หาซื้อมาได้ ส่วนโครงหลังคาเป็นเหล็กเพราะไม้หมดพอดี แล้วปูหลังคาด้วยพอลาร์คูลที่เคลือบฉนวนฟิล์มสะท้อนความร้อนกับทำช่องเปิดรับลมรอบบ้าน เพราะเราอยู่กลางทุ่งนาจึงรับลมได้ดีและช่วยให้บ้านไม่ร้อน หน้าบ้านหันไปทางทิศตะวันออก เพื่อให้หลังบ้านเปิดวิวออกสู่ภูเขากับทุ่งนา ก็เลยทำระเบียงกว้างไว้นั่งดูวิวตรงมุมนี้ด้วย แต่ก็มีหลายอย่างที่ต้องด้นสดแก้ปัญหาหน้างาน อย่างที่จริงเราอยากให้ภายในบ้านสูงโปร่งกว่านี้แต่ช่างทำระดับพื้นผิด หรือมุมชั้นลอยที่เพิ่มขึ้นมาภายหลังเพื่อให้เป็นมุมนอนเล่นหรือชมจันทร์ในช่วงเดือนหงาย”
นอกจากการออกแบบที่เน้นการเปิดช่องรับลมและชมวิวแล้ว คุณต้อมยังนำกลิ่นอายของบ้านไม้แบบไทยๆ มาประยุกต์ใช้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการปูผนังไม้ การใช้ประตูไม้บานเฟี้ยมแต่เปลี่ยนหน้าบานให้เป็นกระจกใสเพื่อรับแสงธรรมชาติเข้าบ้าน การติดบานเกล็ดเพื่อรับลม การทำหน้าต่างบานกระทุ้งไว้กันแนวฝนแต่ไม่ทำให้ภายในอับทึบ การนำบานหน้าต่างและเหล็กดัดเก่ามาปรับใช้ และการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าที่สะสมผสมผสานกับของใหม่ที่รองรับการใช้งานได้อย่างสบายขึ้น
บ้านไม้ชั้นเดียว
คุณซาเล่าเสริมถึงฟังก์ชันในบ้านต่ออีกว่า “เพราะบริบทบ้านเราคือท้องนา ก็เลยบอกพี่ต้อมว่าอยากให้กลางบ้านไม่อึดอัดและยังเห็นวิวรอบๆ บ้านได้ด้วย เขาเลยออกแบบทางเดินยาวๆ กลางบ้านให้เชื่อมต่อกับทุกมุมในบ้านและมีช่องเปิดรอบตัว มุมสำคัญในบ้านของเราคือห้องครัว ห้องทำงาน ห้องน้ำ และห้องนอน เพราะจริงๆ ไม่ค่อยอยู่ตรงมุมนั่งเล่นกันหรอก แต่มักจะอยู่ในห้องทำงานและห้องครัว ซึ่งพี่ต้อมเน้นให้สองห้องนี้อยู่ใกล้ๆ กันด้วยเพื่อให้เราสองคนยังคงมองเห็น พูดคุย และฟังเพลงด้วยกันได้ เวลาทำเบเกอรี่อยู่ห้องครัวก็ส่งกลิ่นหอมไปถึงห้องทำงาน วันไหนที่อากาศดีๆ ตรงห้องทำงานยังมองวิวเห็นไปถึงดอยหลวงเชียงดาวได้ด้วย กลางคืนก็มีหิ่งห้อยเยอะ เราถึงชอบที่ตรงนี้เพราะเงียบสงบมาก ธรรมชาติรอบตัวก็ดี”
สิ่งที่มาเติมเสน่ห์ให้บ้านไทยที่เรียบง่ายหลังนี้ยังคงเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเก่าและของสะสมจากยุคเก่าผสมไปกับกลิ่นอายความทรงจำของชีวิตที่ผ่านมา เมื่อประกอบร่างเข้ากับภาพความจำใหม่ๆ ที่ทั้งคู่ใช้เวลาไปกับการดูแลชีวิตซึ่งกันและกันอย่างละเมียดละไมมากขึ้น จึงกลายเป็นจังหวะชีวิตที่กลมกล่อมไปกับธรรมชาติอันสงบเงียบรอบตัวภายในบ้านไม้ชั้นเดียวหลังนี้ได้อย่างงดงามจริงๆ
เจ้าของ : คุณนราวัลย์ (ราชสีห์) และคุณอภิชัย วังตระกูล Goodolddays
ออกแบบ : คุณอภิชัย วังตระกูล และ AECStudio
- เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
- ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
- สไตล์ : พระจันทร์ดวงโบราณ
- ที่ตั้ง : จังหวัดเชียงใหม่