เปิดตัว 73 ศิลปินชั้นนำในงาน Bangkok Art Biennale 2022 - BAB 2022

เปิดตัว 73 ศิลปินชั้นนำระดับโลก ที่ร่วมแสดงผลงานในงาน BAB 2022 CHAOS : CALM  โกลาหล : สงบสุข

11. เจค และ ดิโนส แชปแมน (Jake and Dinos Chapman)

Jake and Dinos Chapman
Photo : Nic Serpell-Rand Photography

เกิด พ.ศ. 2509 เชลท์แนม สหราชอาณาจักร และ เกิด พ.ศ. 2505 ลอนดอน สหราชอาณาจักร

Jake and Dinos Chapman The Sum of All Evil, 2012/2013 (detail)
Fibreglass, plastic and mixed media
Four vitrines each 215 x 128.7 x 249.8 cm
Courtesy of Jake and Dinos Chapman
Jake and Dinos Chapman Zygotic acceleration, biogenetic, de-sublimated libidinal model, 1995
Courtesy of Jake and Dinos Chapman

สองพี่น้อง เจคและดิโนส แชปแมน เป็นศิลปินที่ทำงานร่วมกันในฐานะศิลปินคู่ พวกเขาทำงานประติมากรรม ภาพพิมพ์ และศิลปะจัดวาง หลังจากที่ทั้งสองได้จบการศึกษาจากรอยัลคอลเลจออฟอาร์ตในลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2533 พวกเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับผลงานชิ้นแรกคือ Disasters of War (พ.ศ. 2534) ที่เป็นประติมากรรมแบบจำลองสามมิติ โดยมีหุ่นพลาสติกจัดวางรวมกันอยู่เหมือนฉากในผลงานจิตรกรรมของฟรานซิส โกยา (สเปน พ.ศ. 2289 – 2371) ที่ชื่อเดียวกับงานของเขา พี่น้องแชปแมนเคยทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับศิลปินดูโอ้ชาวอังกฤษอีกคู่ กิลเบิร์ตและจอร์จ (อังกฤษ/อิตาลี เกิด พ.ศ. 2486 และ พ.ศ. 2485) แม้ว่าศิลปินสองคู่นี้จะมีความสัมพันธ์กันแต่งานของพวกเขาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผลงานของพี่น้องแชปแมนมักจะตลกร้าย ดูไม่เป็นมิตร และ ดูมุ่งจะล้มล้าง ศิลปินคู่นี้ได้อธิบายเอาไว้ว่าเสียงหัวเราะและการโต้ตอบของคนดูสำคัญยิ่งกว่าตัวผลงานเองอีก นอกจากผลงานประเภทแบบจำลองสามมิติแล้ว สองแชปแมนยังเป็นที่รู้จักจากผลงานประเภทประติมากรรมคล้ายหุ่นแขวนเสื้อ ซึ่งบ่อยครั้งจะมีตุ๊กตาบาร์บี้ตัวติดกันรวมกับอวัยวะเพศที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่คาดคิด พวกเขาหาแรงบันดาลใจจากทั้งจากวัฒนธรรมชั้นสูงและวัฒนธรรมมวลชน อย่าง ฮีเยโรนีมึส โบส (เฟลมิช พ.ศ. 1993 – 2059) และอาหารฟาสต์ฟู้ดของแมคโดนัลด์ แชปแมนนำทั้งความจริงจังและความตลกเข้ามาอยู่ในผลงานของพวกเขา ผลงานของพวกเขาได้ถูกจัดแสดงในพื้นที่ทั่วโลก เช่น กาโกเซียนแกลเลอรี ในนิวยอร์ค ไวท์คิวบ์แกลเลอรี ในลอนดอน เทตบริเทน ในลอนดอน ไทรอัมป์แกลเลอรีในมอสโค และ PS1 คอนเทมโพรารีอาร์ตเซ็นเตอร์ ในนิวยอร์ค และอื่น ๆ อีกมากมาย ปัจจุบันศิลปินคู่นี้พำนักและทำงานอยู่ในลอนดอน

12. จรัสพร ชุมศรี

จรัสพร ชุมศรี Image courtesy of the artist

เกิด พ.ศ. 2535 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

จรัสพร ชุมศรี  จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ภาควิชาศิลปกรรม สาขาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรม  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

จรัสพรเป็นจิตรกรที่หลงใหลในกระบวนการของการสร้างผลงานจิตรกรรม  สำหรับเธอแล้ว การแสดงออกผ่านผลงานจิตรกรรมเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการทำให้ความคิด ความรู้สึกของเธอเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และจรัสพรก็ยังเป็นจิตรกรที่มีลักษณะนิสัยเป็นคนที่ไม่ชอบการออกไปเจอผู้คนมากนัก ดังนั้นเธอจึงรู้สึกโชคดีมากที่ได้เกิดและใช้ชีวิตอยู่ในยุคดิจิทัล

จรัสพร ชุมศรี GIVERNY (MONET ‘S HOUSE AND GARDENS), 2020
Oil and Acrylic on canvas
130×74 cm
Courtesy of the artist
จรัสพร ชุมศรี The Museum of Modern Art, New York, 2020
Oil and Acrylic on canvas 150.5×80
Courtesy of the artist

เธอได้รับโอกาสแสดงงาน และได้รับทุนจากโครงการต่าง ๆ ทั้งใน และต่างประเทศ และล่าสุดได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานประมูลผลงานเพื่อการกุศล THE GALLERY TURNS YEARS 5 (หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ พ.ศ. 2565) ตัวอย่างนิทรรศการและโครงการอื่น ๆ เช่น Imspassionism โครงการแบรนด์นิว 2015 (หอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พ.ศ. 2558)  โครงการ Young Artist Talent ครั้งที่ 6 (ลอสแอนเจลิส พ.ศ. 2558) โครงการนิทรรศการเดี่ยวของศิลปินไทยที่น่าจับตามอง (หอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พ.ศ. 2560) โครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ (Early Years Project 2) (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2560 – 61) เธอเป็นศิลปินพำนักในสาธารณรัฐเกาหลี (พิพิธภัณฑ์ศิลปะ LimLip พ.ศ. 2562) นิทรรศการ Atmosphere in the Virtual museum + Experience + Emotion= Canvas (เดอะแจมแฟคทอรี่ พ.ศ. 2564) ปัจจุบัน จรัสพร ชุมศรีพำนัก และทำงานศิลปะอยู่จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย

13. ทิฟฟานี ชุง (Tiffany Chung)

Tiffany Chung
Photo : Ketsiree Wongwan

เกิด พ.ศ. 2512 ดานัง ประเทศเวียดนาม

ทิฟฟานี ชุง เป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกสำหรับการทำงานศิลปะในสาขาที่เน้นการวิจัยและสหวิทยาการ ผลงานของเธอมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพแผนที่จากการปักผ้า หรือวาดเส้นอันละเอียดลออ หรือผลงานประเภทสื่อผสมและศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยจิตรกรรม ภาพถ่าย ประติมากรรม วิดีโอ ข้อมูลหลักฐาน และในบางครั้งละครเวทีด้วย โครงการศิลปะของเธอมักศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ การแบ่งขอบเขตของภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้ง ปัญหาสิ่งแวดล้อม การพลัดถิ่นแบบบังคับ การลี้ภัย ในช่วงเวลาและแผ่นดินต่าง ๆ  ทิฟฟานี ชุงสกัดประวัติศาสตร์ของความเจ็บปวดออกเป็นชั้น ๆ และต้องการแทรกแซงพื้นที่ เรื่องราวทางการเมือง ซึ่งถูกชักใยโดยภาครัฐ จากการสร้างความทรงจำทางวัฒนธรรม  ในฐานะศิลปิน ชุงเชื่อว่า กระบวนการจดจำสามารถเป็นวิธีช่วยจัดการ และเรียกร้องหาคำอธิบายแก่ความอยุติธรรมในประวัติศาสตร์ และยังช่วยสร้างความหวัง หรือเป็นตัวอย่างของการกระทำเพื่ออนาคตที่ดีได้

Tiffany Chung
ISW: areas of control; UNHCR: numbers & locations of Syrian refugees and IDPs as of April 2019, 2019
Courtesy of the artist

ทิฟฟานี ชุงได้ร่วมแสดงในนิทรรศการหลักของเทศกาลศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 56 (พ.ศ. 2558) โดยแสดงผลงานวาดเส้นแผนที่ 40 ภาพ จาก Syria Project ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเกี่ยวกับวิกฤติในซีเรีย นิทรรศการเดี่ยวล่าสุดรวมถึง TIFFANY CHUNG: Vietnam, Past Is Prologue ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกันสมิธโซเนียน พ.ศ. 2562 และเคยจัดแสดงผลงานที่พิพิธภัณฑ์และเทศกาลศิลปะนานาชาติทั่วโลก รวมถึงที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA นิวยอร์ก) ศูนย์สันติภาพโนเบล (นอร์เวย์) พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ลุยเซียนา (เดนมาร์ก) SF MoMA (ซานฟรานซิสโก) พิพิธภัณฑ์ 21st Century Museum Kanazawa (ญี่ปุ่น) ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรม Centre de Cultura Conteporània de Barcelona (สเปน) พิพิธภัณฑ์ Statens Museum for Kunst (เดนมาร์ก) ชาร์จา เบียนนาเล่ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เทศกาล XIII Biennial de Cuenca (เอกวาดอร์) ซิดนีย์ เบียนนาเล่ (ออสเตรเลีย) กวางจู เบียนนาเล่ (เกาหลีใต้) เทศกาลเบียนนาเล่ของไอร์แลนด์ EVA International และอื่น ๆ  ชุงเป็นผู้รับรางวัล Artist Prize for Exceptional Contribution จากชาร์จา เบียนนาเล่ (พ.ศ. 2556) ทุน Asian Cultural Council (พ.ศ. 2558) รางวัล Asia Society India Asia Arts Game Changer (พ.ศ. 2563) และถูกคัดเลือกให้รับรางวัล Vera List Center Prize และ Jane Lombard Fellow for Art & Social Justice (New School พ.ศ. 2561-63)  ปัจจุบัน ทิฟฟานี ชุงเป็นนักวิจัยตำแหน่ง Mellon Arts & Practitioner Fellow ที่ศูนย์การศึกษาเชื้อชาติ ชนพื้นเมือง และการย้ายถิ่นข้ามชาติ สังกัดมหาวิทยาลัยเยล (พ.ศ. 2563)

14. Collective Absentia

Collective Absentia Image courtesy of the artist

ก่อตั้ง พ.ศ. 2565

Collective Absentia คือกลุ่มศิลปินและนักวิจัยที่ค้นคว้าเกี่ยวกับบทบาทของการปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมในประเทศกลุ่มโกลบอล เซาธ์ ปัจจุบันกลุ่มศิลปินกำลังทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงทางวัฒนธรรม และการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าถูกถ่ายทอดผ่านปฏิบัติการศิลปะร่วมสมัยอย่างไร การแสดงสดสำหรับบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ครั้งนี้จะเป็นการค้นคว้าเกี่ยวกับประเทศพม่า

15. ซีอาน เดย์ริท (Cian Dayrit)

Cian Dayrit Image courtesy of the artist

เกิดพ.ศ. 2532 มานิลา ประเทศฟิลิปปินส์

ซีอาน เดย์ริท เป็นศิลปินที่ทำงานประติมากรรม ศิลปะจัดวางและทำโครงการกับชุมชนต่าง ๆ การทำงานสหสาขาของเขาวินิจฉัยแนวคิดอาณานิคมแบบใหม่และภูมิศาสตร์ชาติพันธุ์วิทยาและปรัมปราวิทยา ในผลงานของเขาเดย์ริททำลายภาษาและการทำงานของสถาบันต่าง ๆอย่างรัฐ พิพิธภัณฑ์และกองทัพเพื่อทำความเข้าใจและสร้างภาพจากความความขัดแย้งต่าง ๆซึ่งเป็นรากฐานของนโยบายและรูปแบบเหล่านี้

Cian Dayrit State of State, 2021.
Embroidery on Fabric, Objects on Rattan Woodwork 2pcs.
Framed Digital Print on Silver Chrome Paper 10pcs.
Image courtesy of the artist

งานศิลปะรูปแผนที่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีและมักจะสร้างจากงานปักสิ่งทอและงานปะติดสื่อผสมนั้นแสดงให้เห็นแบบแผนต่าง ๆ ของระบบจักรวรรดินิยมและศักดินาสวามิภักดิ์ในกิจกรรมต่าง ๆอย่างการสกัดทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ตลอดจนการบังคับให้ย้ายถิ่นฐานและการเอารัดเอาเปรียบประชากรชายขอบ สิ่งที่เขาเน้นเป็นสำคัญในงานก็คือการกล่าวถึงเรื่องเล่าที่ไม่ใช่กระแสหลักของชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มคนที่ต้องพลัดถิ่นและไม่มีปากเสียงได้กลับมาอยู่ที่ศูนย์กลางอีกครั้ง ด้วยการแทรกแซงที่เผยให้เห็นการทำงานเบื้องหลังอำนาจจักรวรรดินิยมงานของเดย์ริทชวนให้เราพิจารณาการที่เรารับรู้และตีความโลกในเชิงพื้นที่กันใหม่ถึงแม้ว่าจะได้ข้อมูลจากประสบการณ์ความเป็นอาณานิคมจากมุมมองของฟิลิปปินส์แต่งานของเดย์ริทก็มิได้ติดยึดกับตำแหน่งหนึ่งหรือสถานที่ใด

Cian Dayrit Land Conversion
A Theater of Abstraction. 48 x 60 in.
Image courtesy of the artist

งานศิลปะและการค้นคว้าของเขาก้าวข้ามสถานที่ในทางภูมิรัฐศาสตร์และที่เกี่ยวข้องกับนานาประเทศ ผลงานของเดย์ริทได้จัดแสดงที่เบียนนาเล่นานาชาติหลายแห่ง รวมทั้งที่กวางจูเบียนนาเล่ เบอร์ลินเบียนนาเล่ฟอร์คอนเท็มโพรารีอาร์ต ธากาอาร์ตซัมมิต บังคลาเทศ นิวมิวเซียมไทรเอนเนียล “Songs for Sabotage” ที่นิวยอร์ค ในปี พ.ศ. 2565 เขาได้เข้าร่วมกาฐมาณฑุเบียนนาเล่และเบียนนาเล่ออฟซิดนีย์ด้วย

16. วันมุฮัยมีน อีแตลา

เกิด พ.ศ. 2540 จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย

วันมุฮัยมีน อีแตลา
Image courtesy of the artist

วันมุฮัยมีน อีแตลา เกิดที่จังหวัดนราธิวาส สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีศิลปกรรมศาสตร์ (ปี 2563) สาขาทัศนศิลป์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาโทที่สาขาวิชาทัศนศิลป์(สื่อผสม) คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

วันมุฮัยมีนเติบโตในครอบครัวช่างเขียนลวดลายตัวอักษรมลายู ทำให้เขาซึมซับสุนทรียศาสตร์ของศิลปะพื้นถิ่น ซึ่งสะท้อนออกในผลงานศิลปะของเขา เมื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้วยความสนใจต่อประเด็นปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงทำให้เขาเลือกใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเพื่อสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นกับสังคม วันมุฮัยมีนมีความถนัดด้านการถ่ายภาพและการเขียนภาษามลายู ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจึงเป็นภาพถ่าย และงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยการเขียนตัวอักษร รวมถึงสื่ออื่นๆ เพื่อนำเสนอประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ปัญหาและความไม่สงบในพื้นที่บ้านเกิดของเขาเอง

วันมุฮัยมีน อีแตลา Tadika
Mixed Media,
Dimensions Variable.
Image courtesy of the artist

ผลงานศิลปะของวันมุฮัยมีนถูกแสดงในแกลอรีต่างๆ ทั่วประเทศไทย เช่น ผลงาน“MANUSIA” (พ.ศ. 2561) จากนิทรรศการกลุ่ม“Catching the light” ที่ Patani Artspace ปัตตานี ; นิทรรศการเดี่ยว City of Goat (พ.ศ. 2565) จัดแสดงที่ Head High Second Floor จังหวัดเชียงใหม่ ; ผลงานล่าสุด TADIKA จากนิทรรศการกลุ่ม South : ลึกลงไป ใต้ชายแดน ที่ VS Gallery กรุงเทพฯ นอกจากนี้ วันมุฮัยมีนสนใจในประเด็นปัญหาของการศึกษาในโรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนา) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ก่อตั้งโครงการ “Dream Tadika” ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนศาสนาผ่านกิจกรรมทางศิลปะ

ปัจจุบัน วันมุฮัยมีน พำนักและศึกษาต่อควบคู่กับการทำงานศิลปะที่นครปฐม ประเทศไทย

17. อลิเซีย ฟรามิส (Alicia Framis)

Alicia Framis Photo : Elsa Hanneke

เกิด พ.ศ. 2510 บาร์เซโลนา ประเทศสเปน

อลิเซีย ฟรามิส เป็นศิลปินร่วมสมัย ปัจจุบันพำนักและทำงานที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เธอพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่สร้างสรรค์ ผ่านการทำงานร่วมกันแบบสหวิทยาการกับศิลปินและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ผลงานของเธอเป็นโครงการสะท้อนถึงแง่มุมต่างๆ ของการดำรงอยู่ของมนุษย์ในสังคมร่วมสมัย เธอมักเริ่มสร้างงานจากสภาวะในสังคมที่ตัดสินได้ยาก เพื่อเสนอแนวทางแก้ไข ฟรามิสเคยฝึกงานกับแดเนียล บูเรน ศิลปินชาวฝรั่งเศสแนวมินิมอลและ แดน เกรแฮม ศิลปินชาวอเมริกันแนวคอนเซ็ปชวลอาร์ต โดยผลงานของเธอสืบเนื่องต่อจากงานศิลปะ แนว relational aesthetics ศิลปะการแสดง และศิลปะการปฏิบัติการทางสังคม 

Alicia Framis
Leave Here Your Fears, 2022
Image courtesy of the artist

เธอเป็นตัวแทนของประเทศเนเธอร์แลนด์ใน Dutch Pavilion ที่งาน Venice Biennale ครั้งที่ 50 (พ.ศ. 2546) ปัจจุบันเธอเป็นผู้อำนวยการโครงการ ปริญญาโท ที่ Sandberg Instituut ในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัย Nebrija ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ในปี พ.ศ. 2562 อลิเซีย ฟรามิสได้รับรางวัล Lucas Artists Visual Arts Fellowship 2562-พ.ศ. 2565ในแคลิฟอร์เนีย

18. แอนโทนี กอร์มลีย์ (Antony Gormley)

Antony Gormley Photo Credit: Lars Gundersen

เกิด พ.ศ. 2493 ลอนดอน สหราชอาณาจักร

แอนโทนี กอร์มลีย์ ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางจากผลงานประติมากรรม ผลงานศิลปะจัดวาง และงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของร่างกายมนุษย์กับพื้นที่ งานของเขาได้พัฒนาศักยภาพอันกว้างขวางของสาขางานประติมากรรมมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ผ่านการแสดงร่างกายของเขาเองและของผู้อื่น ในวิถีที่ให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามอันลึกซึ้งเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ และความสัมพันธ์ของเราต่อธรรมชาติและจักรวาล กอร์มลีย์มีความเชื่อว่าพื้นที่ในการทำงานศิลปะคือที่ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่าน ที่ซึ่งพฤติกรรมใหม่ ความคิด หรือความรู้สึกกำเนิดขึ้นได้

ผลงานของกอร์มลีย์ได้จัดแสดงในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก รวมถึงนิทรรศการที่ National Gallery Singapore สิงคโปร์ (พ.ศ. 2564) Schauwerk Sindelfingen (พ.ศ. 2564) the Royal Academy of Arts ลอนดอน (พ.ศ. 2562) Delos กรีซ (พ.ศ. 2562) Uffizi Gallery ฟลอเรนซ์ อิตาลี (พ.ศ. 2562) Philadelphia Museum of Art ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2562) Long Museum เซี่ยงไฮ้ จีน (พ.ศ. 2560) National Portrait Gallery ลอนดอน อังกฤษ (พ.ศ. 2560) Forte di Belvedere ฟลอเรนซ์ อิตาลี(พ.ศ. 2558) Zentrum Paul Klee เบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ (พ.ศ. 2557) Centro Cultural Banco do Brasil, เซา เปาโล และริโอ เดอ จาเนโร บราซิล (พ.ศ. 2555) Deichtorhallen แฮมเบิร์ก เยอรมนี (พ.ศ. 2555) The State Hermitage Museum เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย (พ.ศ. 2554) Kunsthaus Bregenz ออสเตรีย (พ.ศ. 2553) Hayward Gallery ลอนดอน อังกฤษ (พ.ศ. 2550) Malmö Konsthall สวีเดน (พ.ศ. 2536) และ Louisiana Museum of Modern Art ฮัมเลอแบค เดนมาร์ก (พ.ศ. 2532) ผลงานจัดแสดงถาวรในพื้นที่สาธารณะรวมถึง ผลงาน Angel of the North (เกทส์เฮด อังกฤษ) Another Place (ชายหาดครอสบี้ อังกฤ) Inside Australia (ทะเลสาปบาลลาร์ด ออสเตรเลียตะวันตก) Exposure (เลลีสตัดด์ เนเธอร์แลนด์) และ Chord (MIT – Massachusetts Institute of Technology เคมบริดจ์ แมสซาชูเซตตส์ สหรัฐอเมริกา)

Antony Gormley RULE, 2018
Cast iron 149 x 45.5 x 75 cm
Installation view, Delos, Greece
Photograph by Oak Taylor Smith
Courtesy NEON Foundation; Ephorate of Antiquities ofCyclades © the artist

กอร์มลีย์ได้รับรางวัล Turner Prize ในปี พ.ศ. 2537 รางวัล South Bank Prize for Visual Art ในปี พ.ศ. 2543 รางวัล Bernhard Heiliger Award for Sculpture ในปี พ.ศ. 2550 รางวัล Obayashi Prize ในปี พ.ศ. 2555 และรางวัล Praemium Imperiale ในปี พ.ศ. 2556  ในปี พ.ศ. 2540 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็น Officer of the British Empire (OBE) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัศวินในรายชื่อ New Year’s Honors list ในปี พ.ศ. 2557 เขาเป็น Fellow of the Royal Institute of British Architects และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของ University of Cambridge และ Fellow of Trinity and Jesus Colleges เมืองเคมบริดจ์ กอร์มลีย์เป็นนักวิชาการของ Royal Academician มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546

19. อัลฟอนโซ เด เกรกอรีโอ (Alfonso de Gregorio)

Alfonso de Gregorio Image courtesy of the artist

เกิด พ.ศ. 2510 ลานเซียโน อิตาลี

อัลฟอนโซ เด เกรกอรีโอ เป็นศิลปินชาวยุโรป นักเทคโลยีด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก และแฮคเกอร์ งานศิลปะของ เด เกรกอรีโอ นั้นรวมถึง กระบวนการสร้างงานภาพ สนเทศศาสตร์ การบรรยาย และงานวิศวกรรม ผลงานของเขามุ่งจะตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกและยุคสมัยปัจจุบัน และเพื่อทำให้การเมืองเป็นเรื่องที่คนดูสามารถเข้าใจได้ ในการทำงานของเขา เด เกรกอรีโอ พิจารณาสุนทรียศาสตร์และการเมืองของ การเฝ้าตรวจตรา ความทรงจำที่กระทบกระเทือนจิตใจ และความยั่งยืน เขาได้เคยแสดงผลงาน พูด และตีพิมพ์ในระดับสากล

Alfonso De Gregorio
Poisoned Landscapes
Image courtesy of the artist

ผลงานของเด เกรกอรีโอ ได้จัดแสดงในพื้นที่ศิลปะและวัฒนธรรมทั่วโลก รวมถึงพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ เทศกาลภาพถ่ายร่วมสมัย และเทศกาลศิลปะนานาชาติ เช่น Taylor Wessing Photographic Portrait Prize (National Portrait Gallery – London, พ.ศ. 2543), FUTURE(S) (Belfast Photo Festival, พ.ศ. 2564),  PORTRAITS  HELLERAU Photography Award (Museum of Science and Technology – Dresden, พ.ศ. 2565), Metaverse Biennale (พ.ศ. 2565) เป็นต้น  ในปี พ.ศ. 2562 เด เกรกอรีโอ ได้รับรางวัล FRESH EYES ของนิตยสาร GUP Magazine ในปี พ.ศ. 2564 เขาได้รับคัดเลือกจาก Belfast Photo Festival เพื่อเข้าชิงรางวัล Spotlight Award และได้รับเลือกให้เป็นผู้รับรางวัลชนะเลิศของ UNSTUCK Photography Grant โดยมูลนิธิ Magenta Foundation เด เกรกอรีโอ เคยอาศัยในดูไบ มอสโก มิลาน บรัสเซลส์ และโรม ซึ่งเขาพำนักอยู่ในปัจจุบัน

20. อาเธอร์ จาฟา (Arthur Jafa)

Arthur Jafa Image courtesy of the artist

เกิด พ.ศ. 2503 ทูเพอโล รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐอเมริกา

ศิลปินชาวอเมริกัน อาเธอร์ จาฟา ถูกยกให้เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน ตลอดอาชีพการทำงานอันยาวนาน เขาได้ย้ายเข้าและออกจากโลกแห่งภาพยนตร์ ดนตรี และศิลปะ โดยที่ไม่เคยปักหลักถาวรในสาขาใดสาขาหนึ่ง งานทั้งหมดของเขาเกี่ยวข้องกับพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่และเป็นต้นฉบับของวัฒนธรรมอเมริกันผิวดำ มากกว่าความเป็นจริงที่ยากลำบากของชีวิตชาวอเมริกันผิวดำ

อาเธอร์ จาฟา เกิดในเมืองทูเพอโล รัฐมิสซิสซิปปี เขาได้รับความสนใจจากทั่วโลกเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 ด้วยผลงานวิดีโอ Love is the Message, the Message is Death ของเขาซึ่งมีความยาวประมาณแปดนาที ผลงานนี้เป็นการตัดต่ออย่างเฉียบแหลมจากวิดีโอไวรัลและภาพประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกันคนสำคัญ เช่น บารัค โอบามา, เซเรนา วิลเลียมส์ และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ควบคู่ไปกับคลิปข่าวและภาพวิดีโอของความทารุณที่ตำรวจกระทำต่อชาวอเมริกันผิวดำ พร้อมกับเพลง Ultralight Beam ของคานเย เวสต์

Arthur Jafa.
Courtesy of the artist.
LUMA Arles, and Gladstone
Gallery Photography by Andrea Rossetti

ตั้งแต่วัยเด็ก จาฟาได้บ่มเพาะความหลงใหลในการตัดภาพต่างๆ จากหนังสือและนิตยสาร และแปะเรียงในรูปแบบใหม่ลงในหนังสือภาพของเขาเอง ซึ่งนั่นยังคงเป็นเป็นจุดเริ่มต้นของงานของเขาในทุกวันนี้

ภาพยนตร์ของจาฟาได้รับคำชื่นชมจากเทศกาลภาพยนต์ในลอสแองเจลิส นิวยอร์ก และเทศกาลภาพยนตร์แบล็กสตาร์ งานศิลปะของเป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่นที่มีชื่อเสียงทั่วโลก รวมถึงที่พิพิธภัณฑ์อย่าง The Metropolitan Museum of Art, Museum of Modern Art, Tate Modern, San Francisco Museum of Modern Art, The Studio Museum in Harlem, High Museum of Art, Dallas Museum of Art, MCA Chicago, The Stedelijk Museum Amsterdam, Luma Foundation, Pérez Art Museum Miami, Museum of Contemporary Art, Los Angeles, Smithsonian’s Hirshhorn Museum and Sculpture Garden และ Smithsonian American Art Museum เป็นต้น จาฟาได้รับรางวัล Golden Lion อันทรงเกียรติที่งาน Venice Art Biennale 2019