บ้านสวน ในร่าง บ้านมินิมัลสีขาวที่รักษากลิ่นอายอดีตเอาไว้
จากบ้านสวน เรือนกล้วยไม้เก่าบนพื้นที่รกร้างข้างบ้าน กลายมาเป็น บ้านมินิมัลสีขาว แสนน่าอยู่ที่รักษากลิ่นอายของอดีตเอาไว้ด้วยคุณปู่ต้นมะม่วงกลางบ้านรูปตัวซี (C) แม้จะมีพื้นที่จำกัด แต่การออกแบบที่พอเหมาะพอดีช่วยให้ฟังก์ชันทุกอย่างลงตัวกับครอบครัวใหม่ซึ่งต้องการขยับขยายให้มีทั้งความเป็นส่วนตัวและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันกับครอบครัว
โจทย์พื้นฐาน แยกครอบครัว บ้าน 3 ห้องนอน 3 ที่จอดรถ
โจทย์เริ่มต้นของบ้านหลังเป็นไปอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา เมื่อ คุณกบ-เสมอพงษ์ กัญญามาลย์ และคุณฝน-ณัฐธิดา ธารางค์กูล ต้องการขยับขยายพื้นที่หลังจากแต่งงาน จึงได้แบ่งที่ดินเดิมของคุณพ่อกลางย่านลาดพร้าว-รัชดาภิเษก ออกมาส่วนหนึ่งเพื่อปลูกบ้านหลังใหม่ เป็น บ้านมินิมัลสีขาว โดยมีความต้องการบ้านที่ดูอบอุ่น จอดรถได้ 3 คัน และมีห้องนอน 3 ห้อง ตามข้อจำกัดของที่ดินขนาด 55 ตารางวา
เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นโกดังและเรือนกล้วยไม้เก่าตั้งแต่คุณกบยังเด็กๆ ภายหลังถูกปล่อยให้รกร้าง “ตรงนี้สมัยก่อนมองไปยังเห็นถึงแยกลาดพร้าวเลยครับ ยังเป็นทุ่งนาเป็นสวน” เจ้าของบ้านเล่าถึงความผูกพันกับที่ดินผืนนี้ให้ฟัง ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยตึกสูงในย่านรัชดาภิเษก
บ้านหันไปทางทิศตะวันตก มีต้นไม้ใหญ่ตรงกลาง
คุณกบได้เห็นผลงานของ คุณป่อง-ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ แห่ง CASE Studio ทางสื่อ จึงตัดสินใจติดต่อพูดคุย และเมื่อเห็นบ้านส่วนตัวของคุณป่องก็ยิ่งเกิดความชื่นชอบ เพราะคล้ายกับที่ต้องการ มีการนัดหมายมาดูสถานที่สร้างจริงตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด – 19 เพียงเล็กน้อย และก็พบว่าที่ดินมีลักษณะหน้าแคบยาว และเป็นด้านที่รับแดดแรงๆ ทางทิศตะวันตกอย่างเลี่ยงไม่ได้ ด้านตะวันออกเป็นที่รกร้างมีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ ขณะที่ที่ดินก็ค่อนข้างรกไม่สามารถเดินเข้าไปสำรวจได้มากนัก แต่มีต้นมะม่วงขนาดใหญ่อยู่ในที่ดิน ซึ่งทางสถาปนิกตัดสินใจให้เก็บไว้ เพื่อสร้างความร่มรื่นให้แก่บ้าน แม้จะมีความยากสักหน่อยคือต้นนี้อยู่กลางที่ดิน ในขณะที่ต้องการบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยค่อนข้างเยอะ
ฟังก์ชันที่อยู่สบายในข้อจำกัดต่างๆ
สถาปนิกนำเสนอบ้านไว้ 2 รูปแบบ คือ บ้านทรงสี่เหลี่ยมสองหลังที่เชื่อมกันด้วยทางเชื่อม และบ้านรูปตัวซี (C) ที่ล้อมต้นไม้อย่างบ้านในปัจจุบัน โดยมีระแนงไม้ช่วยลดความร้อนที่ผ่านเข้ามาสู่ผนังอาคาร และวางผังให้ห้องน้ำอยู่ส่วนหน้าของบ้านเพื่อกันแดดกันความร้อนอีกชั้น บวกกับร่มเงาของต้นมะม่วงใหญ่ตรงกลาง
ในการวัดพื้นที่อาคาร เสาแต่ละต้นที่วางก็สำคัญมาก เพื่อให้ถูกกฎหมายตามระยะร่น และระยะภายในบ้าน ที่จอดรถจะอยู่ด้านล่างอาคารเกือบทั้งหมดคล้ายการยกใต้ถุนสูง มีการบีบช่องลมและเปิดช่องลมให้อากาศไหลผ่านตามแนวที่ดินและบ้านโดยต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่ไม่สูงมากเกินไป
รูฟท็อปส่วนตัว และครัวสวยๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านต้องการคือขอให้มีรูฟท็อปเพื่อใช้เป็นพื้นที่สังสรรค์ของครอบครัวและเพื่อน ชั้น 3 จึงเป็นพื้นที่ดาดฟ้า และเชื่อมภาษางานออกแบบด้วยระแนงไม้แบบเดียวกับที่ใช้เป็นฟาซาดอาคาร อาจดูแปลกตาเล็กน้อยตรงที่การเลือกใช้พื้นทาอิพ็อกซี่สีขาวทั้งหมด โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นบ้านหลังหนึ่งที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสารบ้านและสวน
แปลนบ้านมีลักษณะโล่งโปร่ง ทั้งสองชั้นมีมุมครัวหรือแพนทรี่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพบ้านในประเทศออสเตรเลีย แต่วัสดุหรือขนาดของส่วนประกอบต่างๆ ปรับให้เป็นของที่มีขายในเมืองไทย กลายเป็นครัวแบบมินิมัลในราคาที่สมเหตุสมผล
ความโชคดีที่คาดไม่ถึง
นอกจากต้นมะม่วงที่เป็นวิวกลางบ้านแล้ว เมื่อเคลียร์พื้นที่และเริ่มสร้างบ้านบนชั้น 2 ก็พบว่าด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่รกร้างของที่ดินที่ติดกันมีกอไผ่ขนาดใหญ่ซึ่งสามารถเป็นวิวได้ดี แถมยังช่วยบังสายตาจากภายนอกได้ด้วย เป็นความโชคดีที่ทำให้บ้านดูร่มรื่นเหมือนบ้านสวนที่มีต้นไม้รอบด้าน ทั้งต้นมะม่วงเดิม ต้นไผ่ข้างบ้าน วิวต้นไม้เก่าจากที่ดินติดกันของคุณพ่ออย่างขนุนและมะม่วงอีกต้น รวมไปถึงรั้วสีเขียวที่กั้นที่ดินด้วยเช่นกัน
เคล็ดลับของบ้านเล็กที่มีงบจำกัด
คุณกบบอกว่า “พอบ้านเสร็จก็หายเหนื่อย เราเริ่มจากความไม่รู้และความกังวลมาตลอด ก็พยายามทำให้ดีที่สุด โชคดีที่เจอคนดีมาช่วยกันทำงานเสมอ จึงได้บ้านในฝัน พอมาอยู่ก็มีความสุข บ้านหลังนี้ เหมือนไม่มีเปลือก เพราะเปลือกก็คือบริบทที่อยู่รอบตัว มีธรรมชาติมาห่อไว้เอง ไม่พยายามว่าดัดตรงนี้ ประดิษฐ์ตรงนั้น แต่ก็ไม่ได้มั่วและไม่ฝืน”
ขณะที่คุณป่องซึ่งมีประสบการณ์เป็นสถาปนิกชุมชนมาอย่างโชกโชน ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “แต่ละห้องอาจดูคอมแพกต์ แต่เรารู้ว่าอยู่ได้ ไม่อึดอัด แดดลมโอเค ช่องเปิดควรจะอยู่ตรงนี้ ทำอย่างไรให้ไม่ร้อน เรามั่นใจ โชคดีที่เจ้าของบ้านไว้วางใจ มีเทสต์ดีด้วย ของที่มาประกอบเป็นบ้านซึ่งหาได้ทั่วไปไม่ได้หมายความว่าไม่สวย จัดวางอย่างไรอยู่ที่เรา …ไม่ได้มีเคล็ดลับอะไร หลังๆ ก็พบว่าระยะเสา 4 เมตรนี่อยู่สบายในงบที่โอเค ห้องน้ำกว้างเมตรเดียวเป็นห้องน้ำเล็กที่โอเค แต่ก็ต้องรู้ว่าแสงจะเข้าอย่างไร สุขภัณฑ์จะติดแบบไหน เวลาล้มก็เอามือยันผนังได้ มันทำได้ พี่ทำงานกับขีดจำกัดมาตลอดชีวิต” (หัวเราะ)
เจ้าของ: คุณเสมอพงษ์ กัญญามาลย์ และคุณณัฐธิดา ธารางค์กูล
สถาปนิก: CASE Studio โดยคุณปฐมา หรุ่นรักวิทย์
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์: Suanpuk