ค่า Ft คืออะไร ทำไมเราต้องจ่าย
หลายคนอาจเคยสงสัยว่า ค่า Ft คืออะไร เหตุใดจึงต้องมาบวกอยู่ในค่าไฟฟ้าของเรา วันนี้บ้านและสวนชวนคุณมาทำความรู้จักกับค่า Ft กัน
อัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ ค่า Ft คืออะไร – Ft ย่อมาจาก Fuel Adjustment Charge (at the given time) ซึ่งเปลี่ยนมาจากความหมายเดิม คือ Float time หมายถึง การลอยค่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยในการคำนวณสูตร Ft ให้คงเหลือเพียง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำหนดราคาค่า Ft โดยค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าจะประกอบไปด้วย
ค่าไฟฟ้า = ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ค่าไฟฟ้าฐาน = (จำนวนยูนิต X อัตราค่ากระแสไฟฟ้าต่อหน่วย)+ค่าบริการ)
ค่า Ft จึงเป็นกลไกกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งมีการปรับทุกๆ 4 เดือน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
มีอะไรบ้างอยู่ใน ค่า Ft
สิ่งที่อยู่ในค่า Ft หลักๆ เลย ก็คือ ค่าต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงล่วงหน้าในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งค่า Ft มีทั้งบวก(ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น) และติดลบ(ทำให้ค่าไฟลดลง) โดยในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จนถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่อ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ค่า Ft ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 เท่ากับ 93.43 สตางค์/หน่วย
คำนวณค่าไฟฟ้าได้อย่างไร
หลายคนอาจเป็นกังวลว่าค่าไฟฟ้าจะสูงเกินไปหรือไม่ เมื่อบวกค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น การไฟฟ้านครหลวง จึงมีเว็บไซต์ช่วยคำนวณค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 8 ประเภท คือ
- ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย
- ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก
- ประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง
- ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่
- ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง
- ประเภทที่ 6 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
- ประเภทที่ 7 กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
- ประเภทที่ 8 ผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว
สามารถคำนวณค่าไฟฟ้าได้ที่ www.mea.or.th/aboutelectric/116/280/form/11
ค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ หากไม่ต้องการให้ค่าไฟบ้านเราสูงเกินไปนัก เราก็คงต้องหันมาดูแลเอาใจใส่พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเรามากขึ้น ทั้งการพึ่งพาแสงธรรมชาติ จนถึงคำนึงเรื่องทิศทางลม และการปลูกต้นไม้รอบๆ บ้าน ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยประหยัดค่าไฟในส่วนอื่นๆ ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ข้อมูลอ้างอิง
- www.mea.or.th/content/detail/2985/2987/472
- www.mea.or.th/aboutelectric/116/280/form/11
- www.eppo.go.th/index.php/th/electricity/electricity-bill/ft-formula
- www.egat.co.th
เรื่อง : นารา
ภาพ : ฤทธิรงค์, ศรายุทธ