สวนป่าข้างบ้าน ในย่านลาดพร้าวที่มีหน้ากว้างเพียงแค่ 6 เมตร แต่กลับร่มครึ้มไปด้วยร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ มีบ่อปลาและลำธารเล็ก ๆ ให้บรรยากาศราวกับป่าธรรมชาติ
หลังจากใช้เวลาสร้างบ้านกว่า 5 ปีจนใกล้จะแล้วเสร็จ ก็ถึงเวลาต้องหาคนออกแบบจัดสวนฝีมือดีมาสร้างสวนในแบบที่ต้องการ โชคดีที่เพื่อนบ้านแนะนำให้รู้จักนักจัดสวนท่านหนึ่ง หลังจากตามเข้าไปดูผลงานที่เพจร้านของ คุณต้อง – ทิวา อ่อนสุวรรณ สวนป่าบรรยากาศร่มรื่นแห่งนี้จึงเกิดขึ้นใจกลางย่านลาดพร้าว
“เห็นสไตล์การจัดของต้องก็ชอบเลยครับ ผมเองก็อยากได้สวนป่าอยู่แล้ว คุยกันแล้วรู้สึกว่าใช่ ทั้งที่เราคุยกันน้อยมาก บอกไปแค่ว่าอยากได้สวนป่าที่มีบ่อนํ้า ต้องก็ออกแบบมาให้ดู แบบที่เสนอมายังไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก แม้แต่ต้นไม้ผมยังไม่เคยถามเลยว่าต้นใหญ่ขนาดไหน มีต้นอะไรบ้าง ไม่ได้ระบุด้วยว่าต้องการอะไรเป็นพิเศษ (หัวเราะ) แต่พอได้เห็นวิธีการทำงานของเขาก็มั่นใจ ยิ่งวันที่ใช้รถเครนคันใหญ่ยกต้นไม้ข้ามหลังคาบ้านเพื่อปลูกในสวนก็ยิ่งทึ่งครับ” เจ้าของบ้านเล่าถึงที่มาของสวนให้ฟัง
สวนข้างบ้านบนเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางเมตร ลักษณะพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้ากว้าง ประมาณ 6 เมตรและยาวไปจนถึงหลังบ้าน จัดเป็นสวนที่ร่มครึ้มไปด้วยร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ บ่อปลาขนาดย่อมอยู่ติดระเบียงไม้หน้าห้องทำงานมีลำธารเล็กๆ คดเคี้ยวไปตามพุ่มไม้นานาชนิด โขดหินที่มีมอสส์ขึ้นปกคลุมให้ความรู้สึกสดชื่น ลึกเข้าไปด้านในของสวนได้ยินเสียงนํ้าตกเบาๆ บรรยากาศเหมือนเดินอยู่กลางป่า จุดเด่นที่สะดุดตาคือหินแผ่นใหญ่ที่วางเป็นทางเดินลัดเลาะไปรอบๆ บ่อน้ำและลำธาร เพื่อชมความงามของสวนได้โดยรอบ
“ผมเริ่มจากการเช็กมุมมองจากห้องต่างๆ ของบ้านครับ ห้องรับประทานอาหาร ห้องทำงาน ห้องพักผ่อน เพื่อออกแบบสวนให้สามารถมองได้จากหลายๆ มุม เน้นเป็นพิเศษที่ห้องทำงานที่อยากให้เห็นมุมสวนชัดๆ เต็มตา ผมเลยดึงสเปซของระเบียงเดิมออกมา เพิ่มพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อให้ใช้งานได้จริงและเป็นมากกว่าที่ซ่อนระบบกรองบ่อปลา เชื่อมต่อไปยังบันไดทางเข้าบ้านและต่อไปยังห้องรับประทานอาหารในบ้านได้ เลย์เอ๊าต์ของบ้านสวยอยู่แล้ว ออกแนวลอฟต์ที่มีรูปทรงเรียบง่าย ใช้สีธรรมชาติ เลยง่ายต่อการออกแบบสวนให้ดูสอดคล้องไปกับตัวบ้านครับ” คุณต้อง ผู้ออกแบบเล่าถึงวิธีคิดและการทำงานให้เราฟัง
“ผมเดินดูพื้นที่สวนโดยรอบ วางเลย์เอ๊าต์คร่าวๆ ไว้ก่อนด้วยการโรยปูนขาวไว้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เอาไม้ปักตำแหน่งที่จะปลูกไม้ใหญ่ จากนั้นก็ใช้รถแบ็กโฮขนาดเล็กเข้ามาขุดบ่อนํ้า ขุดหลุม เตรียมปลูกไม้ใหญ่ ซึ่งคิดไว้ก่อนแล้วครับว่าต้องเป็นไม้ที่มีฟอร์มต้นสวย กิ่งต้องหันด้านไหน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะได้ต้นที่มีรูปทรงตามที่ต้องการหรือไม่ แล้วค่อยมาปรับหน้างานกันอีกที ความยากคือต้องใช้รถเครนขนาดใหญ่ 80 ตันยกต้นไม้ข้ามบ้านมาปลูกทีละต้น เริ่มปลูกจากด้านในก่อน ต้องทำงานประสานกับคนบังคับรถเครนโดยใช้วิทยุสื่อสาร เขาจะทำหน้าที่ยกต้นไม้มาให้ตรงกับหลุมที่ขุดไว้ ผมกับคนงานก็ช่วยกันหมุนต้นให้กิ่งหันไปในทิศที่ต้องการ ค่อยๆ ทำทีละต้น ถ้าจำเป็นต้องคํ้ายันก็ทำทันทีเลยครับ เราต้องทำงานให้เสร็จภายในวันเดียว เพราะต้องปิดซอยเข้าบ้าน เกรงใจเพื่อนบ้านครับ
“หลังจากลงไม้ใหญ่เสร็จ ก็เติมพวกไม้ระดับล่างให้สวนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะพื้นที่ค่อนข้างแคบเล็ก จึงเลือกใช้ต้นไม้ที่มีใบขนาดเล็ก และไม้ใบในร่มเป็นหลัก คุมโทนให้เป็นสีเขียวในเฉดต่างๆ ใส่บีโกเนียเพื่อแต้มสีสันให้สวนในบางจุด ส่วนไม้คลุมดินจะใช้เฟินกนกนารีและหนวดปลาดุก พร้อมปลูกมอสส์เกาะตามก้อนหิน เพื่อช่วยเพิ่มสีเขียวอีกทาง
“ผมตั้งใจออกแบบให้นํ้าตกอยู่ด้านในสุด แต่ก็สามารถมองเห็นได้จากทั้งห้องรับประทานอาหารและห้องทำงาน นํ้าตกก่อด้วยหินแกรนิต และหินฟองนํ้า เป็นนํ้าตกขนาดเล็กที่ไม่สูงมาก เพราะพื้นที่มีขนาดแคบเล็กและไม่อยากให้เกิด เสียงดังรบกวนเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ มีลำธาร เล็กๆ รูปตัวเอส (S) คดเคี้ยวไหลมาจากนํ้าตก ส่วนบ่อปลาเป็นรูปเลขแปดวางในแนวตั้งให้ยาวล้อไปกับพื้นที่ ช่วยให้รู้สึกว่าบ่อมีขนาดใหญ่มากขึ้น แต่หลังจากลงต้นไม้ทั้งหมดแล้วผมรู้สึกว่าเดินค่อนข้างลำบาก เลยทำทางเดินในสวนเพิ่ม โดยใช้แผ่นหินกาบขนาดใหญ่วางลํ้าเข้าไปในบ่อ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของสวนนี้ครับ”
เห็นสวนแน่นต้นไม้เยอะขนาดนี้ แต่การดูแลรักษาไม่ยากอย่างที่คิด เพราะ คุณต้องวางระบบให้นํ้าไว้ทั้งหมดแล้ว ทั้งหัวพ่นหมอกและหัวฟ็อกที่นอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชื้น อีกทั้งพื้นที่บริเวณสวนไม่ค่อยมีลมพัดผ่านนัก ความชื้นในสวนจึงยังคงมีอยู่ค่อนข้างมาก ต้นไม้ที่เลือกใช้ก็เป็นชนิดที่โตช้า และดูแลง่าย สิ่งที่ต้องทำก็แค่เก็บเศษใบไม้ที่ร่วงหล่น รักษาความสะอาดในสวนและบ่อปลา และให้ปุ๋ยละลายช้ากับต้นไม้ทุก 2 – 4 เดือน เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้สวนสวยอยู่คู่บ้านไปอีกแสนนาน
เจ้าของ : คุณพิสมัย รัตนาภินันท์ชัย
ออกแบบ : Ayothaya Landscape โดยคุณทิวา อ่อนสุวรรณ
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : สิทธิศักดิ์ นํ้าคํา