อีกหนึ่งงาน รีโนเวตบ้าน งบน้อย ซึ่งเป็นบ้านเก่าอายุกว่า 40 ปี แต่เดิมเป็นบ้านของฝั่งตระกูลคุณนพ เรียกกันติดปากว่า “บ้านกงสี” ด้วยว่าอยู่ติดกับบ้านคุณพ่อคุณนพนั่นเอง
ภายหลังคุณพ่อได้ซื้อบ้านนี้เก็บเอาไว้ เมื่อ คุณนพ – นพพันธ์ ตั้งกัลยานนท์ และ คุณติ๊ก – พันธิตรา เกียรตินิยมศักดิ์ แต่งงานกัน จึงถึงเวลาต้องปัดฝุ่นบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นเรือนหอเรียบเท่อันอบอุ่น รีโนเวทบ้าน
“ตอนแรกที่เข้ามาสำรวจ บ้านเก่าและโทรมมาก หลายอย่างไม่เป็นไปตามการใช้งานอย่างปัจจุบัน และมีการซอยห้องยิบย่อยเกินไป อีกทั้งสภาพอากาศของกรุงเทพฯก็เปลี่ยนไปด้วย จึงมีการบ้านให้คิดเยอะ” คุณติ๊กเล่าให้ฟัง ก่อนจะเสริมต่อว่า
“เป็นคนชอบบ้านเก่าและรายละเอียดของช่างสมัยก่อน ทั้งไม้และงานช่างเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้ในปัจจุบัน จึงอยากจะเก็บเอาไว้ให้ได้มากที่สุด อีกอย่างก็ช่วยประหยัดงบด้วย”
กรอบหน้าต่างทั้งหลายจากยุค 1960 จึงรอดพ้นจากการรื้อทิ้งมาประกอบกันอยู่ในบ้าน หากปรับปรุงบ้านเก่าแล้วเก็บรายละเอียดเหล่านี้ไว้ได้ ก็ส่งเสริมให้รูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคสมัยที่บ้านได้เกิดขึ้นดูเด่นชัด
“ทีแรกตั้งใจจะเก็บแค่บานหน้าต่าง แต่เมื่อเริ่มลงมือ รายละเอียดอื่นๆก็ค่อยๆเผยออกมาให้เก็บเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นชุดบันไดไม้ที่เป็นโครงไม้ประกอบ และการรื้อฝ้าเพดานที่ทำให้ค้นพบคานพื้นไม้ที่ดูดีกว่าการปิดเอาไว้เสียอีก”
กว่าจะเป็นบ้านสวยหลังนี้จึงต้องผ่านขั้นตอนต่างๆมากมาย เราจะค่อยๆดูกันไปทีละส่วน ซึ่งในตอนที่หนึ่งนี้จะขอพูดถึงพื้นที่ภายนอกกันก่อนครับ
เชื่อมกันไว้ ได้พื้นที่ใช้สอย
Before
“เดิมบ้านจะแบ่งเป็นสองหลัง มีหลังคาโรงรถสูงเท่ากับชั้นหนึ่งเชื่อมพื้นบ้านไว้ด้วยกัน เราเห็นว่าทำให้บ้านดูอึดอัด จึงตั้งใจจะปรับพื้นที่รอบๆบ้านเสียใหม่ให้โล่งขึ้น”
Renovation
- รื้อหลังคาโรงรถเดิมออก แล้วออกแบบโครงหลังคาสูงจนพ้นหน้าต่างชั้นสอง เผยให้เห็นรูปด้านของบ้านทั้งสองหลัง
- รื้อที่นั่งปูนรอบชานบ้านออกเพื่อเตรียมปรับพื้นที่ใหม่
- ปรับพื้นรอบบ้านโดยการเทคอนกรีตทับ แต่ตรงจุดที่วางเสาให้ขุดหลุมเพื่อทำฐานให้เสาเหล็กกล่องก่อนเทปูน
- หลังคาโรงรถเป็นเหล็กกล่องน้ำหนักเบา ด้านหนึ่งวางเสาบนพื้น ส่วนอีกด้านฝากเสาวางไว้บนระเบียงบ้านโดยออกแบบให้ดูกลมกลืนกัน
- ปูกระเบื้องเพื่อให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ สามารถใช้งานได้สะดวก
วิธีคำนวณกระเบื้องปูพื้น
After
ได้พื้นที่ใช้สอยในร่มเพิ่มขึ้น อีกทั้งบริเวณยังดูเชื่อมโยงถึงกันได้ดี ออกแบบโครงสร้างให้กลมกลืนกับราวลูกกรงเดิม เพื่อไม่ให้โครงสร้างโรงรถใหม่ดูแปลกแยก อีกทั้งการยกสูงยังทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด เกิดเป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่ใช้เป็นมุมกึ่งเอ๊าต์ดอร์ได้สะดวก