ภูมิปัญญาไทย ในบ้านยุคใหม่
ดีไซน์ดีๆจาก ภูมิปัญญาไทย มาประยุกต์กับบ้านสมัยใหม่ มาดู ๙ ลักษณะของบ้านไทยที่ช่วยให้บ้านอยู่สบาย
๑.ชานเชื่อมพื้นที่
ภูมิปัญญาไทย ของเรือนไทยที่ยกพื้นสูง จึงมีการทำพื้นเป็นทางสัญจรภายในบ้าน และใช้เชื่อมระหว่างเรือนเพื่อขยายจากเรือนเดี่ยวเป็นเรือนหมู่ และการขยายเรือนแบบล้อมชาน ก็จะเกิดพื้นที่เปิดโล่งที่มีการโอบล้อมแบบคอร์ตยาร์ด ชานยังเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างทั้งพักผ่อน นั่งเล่น และจัดงานประเพณี เช่น ทำบุญ เลี้ยงพระ เรือนขนาดใหญ่อย่างเรือนคหบดีมักปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้กลางชานที่ช่วยให้บรรยากาศร่มรื่น แล้วยังนิยมปลูกไม้ประดับ เช่น บอน ว่าน ตะโกดัด กระถางบัว และเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน เช่น นกเขา นกดุเหว่า ปลากัด และปลาเข็ม การทำชานบ้านยังนำมาใช้ได้ดีกับบ้านยุคปัจจุบัน โดยออกแบบอาคารให้มีพื้นที่โล่งในลักษณะคอร์ตยาร์ด ที่อาจทำเป็นทางเดิน ชาน และจัดสวน ที่ทั้งสร้างความร่มรื่น และเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างกันได้
๒.การยกพื้นบ้านสูง
บ้านยกพื้นสูงไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย ยังพบเห็นได้ในบ้านเรือนแถบเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมอยู่เสมอ “ใต้ถุนเรือน” ของบ้านไทย เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตที่มักทำเกษตรกรรม สภาพภูมิประเทศที่มีน้ำหลาก และภูมิอากาศร้อนชื้นที่มีฝนตกมาก ใต้ถุนจึงเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีผนังกั้น มักใช้เป็นพื้นที่เก็บของ อุปกรณ์การเกษตรและประมง เลี้ยงสัตว์ ใช้เป็นพื้นที่ทำงานหัตถกรรม หรือใช้หลบร้อนในช่วงกลางวัน
บ้านในปัจจุบันยังแนะนำให้สร้างยกพื้นสูง เพื่อป้องกันความชื้นจากดิน น้ำท่วม ปลวก และสัตว์เลื้อยคลาน หากต้องการเดินงานระบบใต้พื้น แนะนำให้ยกสูงประมาณ 1.50 เมตร การทำใต้ถุนไว้ใช้งานปัจจุบันอาจไม่ได้เปิดโล่งทั้งหมด แต่มีการกั้นผนังบางส่วนเป็นห้อง หรือดีไซน์ชั้นล่างของบ้านให้คล้ายใต้ถุน โดยทำผนังให้เปิดโล่งได้รอบ
๓.พื้นต่างระดับ ระบายอากาศดี
บ้านไทยนิยมทำพื้นแต่ละส่วนต่างระดับกัน ทั้งจากพื้นห้องจะต่างระดับจากพื้นระเบียง และจากพื้นระเบียงจะต่างระดับจากพื้นชานประมาณ 40 เซนติเมตร ที่เรียกว่า “ช่องแมงลอด” ทั้งเพื่อแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้สอย เป็นที่นั่งได้ และเป็นช่องระบายอากาศ ยามนั่งกับพื้นก็จะรู้สึกเย็นสบายจากลมที่พัดผ่านใต้ถุนเรือนมา บ้างก็ใช้สอดส่องหรือส่งขอให้คนที่อยู่ใต้ถุน และอาจตีไม้ระแนงตีกันของตกหล่นลงไป
การทำพื้นต่างระดับแล้วเปิดให้ลดพัดผ่านได้สามารถนำมาใช้กับบริเวณบ้านมีช่องระบายอากาศน้อย และแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่อับทึบได้ดี อาจไม่ได้ทำเปิดโล่งทั้งหมดเหมือนบ้านสมัยก่อน แล้วปรับเปลี่ยนเป็นช่องระบายอากาศแทน
๔.ราวกันตกนั่งได้ ภูมิปัญญาไทย ที่คุ้นเคย
ศาลาริมน้ำ และหน้ามุขของบ้าน มักทำราวกันตกให้เป็นที่นั่งไปในตัว ทั้งปลอดภัย ได้ใช้ประโยชน์ ไม่เปลืองพื้นที่ และเป็นดีไซน์เดียวกับตัวบ้าน ซึ่งมักกลายเป็นจุดรวมตัวที่คนในครอบครัวออกมานั่งพักผ่อนรับลมกัน หรือบางบ้านอาจวางตั่งสำหรับกึ่งนั่งกึ่งนอนแบบอเนกประสงค์ ตามวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน ซึ่งสามารถนำมาใช้กับบ้านปัจจุบันได้ดี เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบและวัสดุให้เหมาะกับตัวบ้าน
๕.การแยกครัวไทย
บ้านไทยนิยมสร้างเรือนครัวไว้บริเวณด้านหลัง ทำผนังไม้ฝาขัดแตะที่ระบายอากาศได้ดี หน้าจั่วมักเป็นรูปรัศมีพระอาทิตย์ที่ตีไม้ทึบสลับโล่งให้เป็นช่องระบายควัน หากเป็นเรือนคหบดีมักแยกเป็น 2 หลัง สำหรับอาหารคาว และอาหารหวาน การแยกเรือนครัวออกจากส่วนพักอาศัย ก็ช่วยลดกลิ่นและควันรบกวนการพักผ่อน รวมทั้งความสกปรกและสัตว์ที่มากินเศษอาหาร แม้บ้านปัจจุบันจะนิยมวางแปลนบ้านอย่างตะวันตกที่รวมฟังก์ชันต่างๆไว้ในอาคารเดียวกัน แต่ก็ยังควรแยกครัวไทยซึ่งทำอาหารหนักออกมา หรือทำผนังและประตูกั้น ไม่ให้กลิ่นและควันคลุ้งไปทั่วบ้าน มีช่องระบายอากาศหรือเครื่องดูดควัน และทำเคาน์เตอร์ที่รองรับการตำ โขลก สับได้
๖.ผนังหายใจได้
บ้านในสมัยก่อนไม่มีพัดลมและเครื่องปรับอากาศ การปิดกั้นห้องทึบนั้นก็จะทำให้ร้อนและอึดอัด นอกจากการทำหน้าต่างเพื่อเปิดระบายอากาศแล้ว แม้ต้องปิดหน้าต่างทั้งหมดก็ยังทำช่องให้อากาศไหลเวียนได้ อาจเป็นหน้าต่างที่มีเกล็ดระบายอากาศ ช่องระบายอากาศที่ผนังเหนือประตูหน้าต่าง และผนังที่ดีไซน์ให้ระบายอากาศได้เอง เช่น ฝาไหล ฝาขัดแตะ หรือช่องลมไม้ฉลุลาย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์กับบ้านในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะส่วนที่ต้องการให้มีอากาศถ่ายเทตลอดเวลา เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ หรือการบังแดดให้ส่วนต่างๆของบ้าน โดยใช้ผนังที่ลมยังสามารถพัดผ่านได้ เช่น การใช้ผนังอิฐบล็อกช่องลม
๗.หลังคาจั่วทรงสูง
บ้านไทยนิยมทำหลังคาทรงมนิลาและทรงจั่ว มุงด้วยวัสดุที่มีในท้องถิ่น เช่น จาก แฝก หรือกระเบื้องดินเผา ซึ่งจำเป็นต้องมุงให้เอียงลาดชันมากเพื่อให้น้ำระบายเร็ว ป้องกันน้ำไหลย้อน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลังคาบ้านไทยมีลักษณะเป็นทรงสูงชัน ซึ่งยังมีข้อดีที่ช่วยลดความร้อนจากหลังคา เพราะมีพื้นที่ให้มวลอากาศร้อนลอยขึ้นด้านบน และระบายออกทางหน้าจั่วทั้งสองด้านที่ทำช่องระบายอากาศไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางวันภายในบ้านก็ยังร้อนตามสภาพอากาศ คนไทยจึงมักทำงานอยู่ใต้ถุนหรือนอกชานซึ่งเย็นกว่า และกลับเข้าห้องเมื่อถึงเวลานอน ซึ่งช่วงกลางคืนภายในบ้านก็จะเย็นสบาย เพราะวัสดุมุงหลังคาและผนังที่เป็นวัสดุธรรมชาติจะคายความร้อนได้เร็ว จึงไม่อมความร้อนอย่างบ้านในปัจจุบัน
แม้วัสดุมุงหลังคาในปัจจุบันจะสามารถมุงหลังคาที่ลาดเอียงน้อยๆได้ แต่ก็จะทำให้ความร้อนแผ่เข้าไปในบ้านได้มาก การสร้างบ้านในปัจจุบันก็ยังแนะนำให้ทำหลังคาให้ลาดเอียงมาก และมีช่องระบายอากาศใต้หลังคา ซึ่งเป็นวิธีลดความร้อนตามธรรมชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความร้อนด้วยการติดตั้งฉนวนกันความร้อน ก็จะช่วยให้บ้านเย็นสบายมากขึ้น
๘.ชายคายื่นยาวและค้ำยัน
ประเทศไทยมีฝนตกตลอดทั้งปี และแสงแดดแรง บ้านไทยจึงทำชายคาปีกนกยื่นยาวรอบตัวบ้าน และมีค้ำยันเป็นโครงสร้างรับหลังคาไว้ หรือการทำหลังคายื่นยาว แต่ด้วยโครงสร้างไม้ที่ยื่นยาวไม่ได้มาก จึงทำค้ำยันช่วยรับน้ำหนักส่วนปลายหลังคาให้แข็งแรง จนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่มักพบเห็นในบ้านไทย ซึ่งยังคงใช้ได้ดีกับบ้านทุกยุคสมัย ที่แนะนำให้ทำชายคายื่นยาวประมาณ 1.50 เมตร ส่วนการทำค้ำยันอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป ด้วยวัสดุโครงหลังคาที่นิยมใช้โครงสร้างเหล็กซึ่งแข็งแรงกว่าไม้มาก แต่ถ้าทำชายคายื่นยาวมาก การออกแบบให้มีค้ำยันหรือเสาลอยก็ให้กลิ่นอายความเป็นไทยและตะวันออกได้ดี ภูมิปัญญาไทย
๙.สภาพแวดล้อมดี
บ้านไทยในอดีตมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก สามารถเปิดบ้านให้โล่งได้เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่ดี นิยมปลูกบ้านริมน้ำ ปลูกต้นไม้ที่ชานกลางบ้าน แม้สภาพแวดล้อมและขนาดพื้นที่สร้างบ้านในปัจจุบันจะค่อนข้างคับแคบและมีมลภาวะมากขึ้น การออกแบบบ้านก็ยังควรสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่บ้านตั้งอยู่ อย่างการปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวบ้านให้มีความร่มรื่น ก็ช่วยลดความร้อนและมลภาวะก่อนที่จะเข้าภายในบ้าน หรือหากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย การสร้างคอร์ตภายในบ้านและเปิดรับแสงและอากาศจากด้านบน ก็ช่วยให้พื้นที่ภายในบ้านอยู่สบายตามธรรมชาติได้
คอลัมน์ Home Expert ก.ย.65
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน