ขยะจากชีวิตประจำวันที่เป็นได้มากกว่าขยะ จากแรงบันดาลใจ วัสดุไร้ค่าในอดีตอย่างเศษเครื่องปั้นดินเผา ถ้วยจานเซรามิก ยังนำมาประดับตกแต่งให้เกิดเป็นลวดลายอันสวยงามบนเจดีย์ภายในวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) แล้วทำไม ขยะในปัจจุบัน จะนำมาใช้ในงานสร้างสรรค์บ้างไม่ได้?
Room จะพาไปชมผลงาน Wall Art ‘ศิลปะ สีสันจากขยะเมือง’ การสร้างสรรค์ของนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ภายใต้แนวคิด Waste Management กำจัดขยะที่เกิดจากพฤติกรรมของคนเมือง ในโซน Better Community ที่จัดแสดงภายในงาน Sustainability Expo 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 26 กันยายนถึง 2 ตุลาคมนี้
โดย ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตย์ฯ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับแนวคิดของผลงานศิลปะชิ้นนี้ว่าได้แรงบันดาลใจจากการนำเศษเครื่องปั้นดินเผา ถ้วยจานเซรามิก มาประดับตกแต่งให้เกิดเป็นลวดลายอันสวยงามบนเจดีย์ภายในวัดอรุณราชวรารามฯ ซึ่งไม่เพียงเป็นภูมิปัญญาของผู้คนสมัยก่อนที่ทรงคุณค่า แต่ยังใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำวัสดุไร้ค่ามาสร้างคุณค่าใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ที่กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นแกนหลักในหลักสูตร โดยมีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังให้นักศึกษามีดีเอ็นเอการเป็นนักสร้างสรรค์ ที่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่ในห้องเรียน
เปลี่ยนขยะจากสังคมเมืองให้เป็นงานศิลปะ
นักศึกษาต้องเรียนเรื่องลายไทยอยู่แล้ว และในวิถีชีวิตของมนุษย์ก็ทำให้ขยะเกิดขึ้นทุกวัน อาจารย์ประจำวิชาเขาก็มองว่าจะทำยังไงให้เจอจุดที่พอดีกัน เพราะว่าการวาดลายไทยต้องฝึกจากการวาดสองมิติลงบนกระดาษ แล้วตัดแปะลวดลายลงไปให้เป็นกึ่งสามมิติ แต่ทุกครั้งนักศึกษาก็จะไปร้านเครื่องเขียน เอากระดาษใหม่ ๆ มาตัด แต่ถ้าเรามองว่าใช้วัสดุอย่างอื่นมาได้ เช่น กระป๋องน้ำอัดลม ถุงขนม เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และประยุกต์เข้ากับความรู้ทางสถาปัตย์ไทยด้วย ก็จะยิ่งตอบโจทย์ทุกอย่าง ทั้งการใช้วัสดุที่หลากหลาย ฝึกความคิดสร้างสรรค์ แถมยังเอาขยะที่มีอยู่แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์ได้อีก
แต่หัวใจสำคัญก็คือว่าเราพยายามสร้าง สถาปนิก นักออกแบบ และศิลปิน ที่มีคุณสมบัติ คือ หนึ่งตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างขยะใหม่ ไม่เป็นคนที่ทำลายโลกเพิ่มเข้าไป สองก็คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยทำให้สิ่งที่ไม่มีค่าหรือเป็นปัญหา กลายมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นการแก้ปัญหาไปพร้อมกันด้วย อันนี้คือหัวใจที่เราต้องการปลูกฝังให้กับนักศึกษา
หลักการเรียนรู้ที่ยึดโยงกับความยั่งยืน
เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นแกนสำคัญในสายสถาปัตย์ ศิลปะ และออกแบบ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วยนะคะ แต่ถ้าย้อนกลับไปสัก 20 ปี สิ่งนี้ก็คือทิศทางการเรียนการสอนที่คณะของเราให้ความใส่ใจและบ่มเพาะให้แก่นักศึกษามาตลอด เพราะว่าเรากำลังผลิตคนต้นน้ำในการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก นักออกแบบ หรือศิลปิน ซึ่งการสร้างสรรค์ใด ๆ ก็ตาม ถ้าทำไปโดยไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็จะกลายเป็นการเพิ่มมลภาวะ สร้างขยะ และทำลายทรัพยากรมากขึ้นไปอีก
อย่าง Industrial Design การออกแบบผลิตภัณฑ์ ถ้านักออกแบบคิดแต่ว่าจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์แบบไม่รู้จบโดยไม่คิดถึงเรื่องการ Recycle หรือ Reuse เลย เขาก็จะเป็นต้นน้ำที่มีส่วนในการทำลายทรัพยากรอีกวิชาชีพหนึ่งทันที หรือสถาปนิกเองก็ตาม งานของเขาคือการสร้างที่พักอาศัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับมนุษย์ แต่ถ้าเขาทำรีสอร์ตที่ไม่ใส่ใจเรื่องของการใช้น้ำ หรือเอารีสอร์ตไปตั้งอยู่กลางพื้นที่ธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงการออกแบบอย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ก็จะกลายเป็นว่าเรากำลังสร้างคนที่พร้อมทำลายและติดอาวุธตรงนี้ไปอีก
ฉะนั้น สถาปัตย์ ศิลปะ และออกแบบ ทั้งสามศาสตร์นี้เป็นต้นน้ำที่จะกลายเป็น Turning Point ระหว่างความยั่งยืนกับความไม่ยั่งยืนได้เลย เพราะเรากำลังผลิตทรัพยากรบุคคลที่จะไปกระตุ้นให้เกิดวงจรการบริโภค ดังนั้นในเมื่อเรามีหน้าที่สร้างคนเหล่านี้ขึ้นมา แล้วถ้าเราไม่ใส่จิตสำนึกเรื่องความยั่งยืนลงไปให้พวกเขาตั้งแต่ในห้องเรียนก็จะกลายเป็นการสนับสนุนให้ทำลายโลกอีกทางหนึ่ง
ผลิตนักออกแบบที่มีดีเอ็นเอใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ก็มีศิษย์เก่าของเราเองที่เรียนจบออกไปแล้วไปทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นำวัสดุเหลือใช้หรือขยะจากชีวิตประจำวันของผู้คนมาสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อย่าง คุณไจ๋–ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ Qualy เขาจบสาขา Industrial Design แล้วก็ต่อยอดธุรกิจครอบครัวด้วยการนำขยะมาสร้างสรรค์ใหม่ คือเขาไปเห็นแหอวนที่ขาดแล้วถูกทิ้งอยู่ในทะเล เพราะชาวประมงเห็นว่ามันคือขยะ แต่พอไจ๋ไปรับซื้อ แหที่ขาดก็ขายได้ราคา นั่นหมายถึงขยะค่อย ๆ หายไปจากทะเล เพราะชาวประมงเก็บกลับมาด้วยแล้วเอามาขายให้บริษัทนี้ ซึ่งไอเดียนี้อาจารย์มองว่ายั่งยืนมาก เพราะว่าไม่ใช่แค่ทำโปรดักต์สวย ๆ แล้วก็ดู ๆ กันไป แต่คือการรีไซเคิลขยะ แล้วคนซื้อก็รู้สึกว่าแทนที่จะไปซื้อของประเภทเดียวกันจากแบรนด์อื่น เขาก็เลือกซื้อแบรนด์นี้เพราะใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ซึ่งอาจารย์ในคณะก็จะบ่มเพาะการรับรู้ให้นักศึกษาตั้งแต่ตอนเรียนเลยว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์สักอย่างออกมา คุณกำลังสร้างขยะเพิ่มขึ้นให้โลกนี้นะ ทำไมไม่เอาขยะกลับมาทำให้กลายเป็นสิ่งที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่า เราก็พยายามฉีดความเชื่อนี้เข้าไปทุกวัน ส่วนทางด้านสถาปัตยกรรมก็พยายามใส่ใจเรื่องพฤติกรรมของคน เช่น ออกแบบอาคารที่ใช้ Passive Cooling สมมติเราเปิดแอร์เนี่ยเป็น Active Cooling คือใช้แอร์ในการสร้างความเย็น แต่ถ้าเรามีต้นไม้อยู่รอบ ๆ ก็จะช่วยลดการความร้อนเข้ามาในอาคาร ดังนั้นจะเห็นว่าเรารักษาต้นไม้รอบคณะไว้หมดเลย แล้วก็มีบ่อน้ำเพิ่มความชุ่มชื้น มันอาจจะดูรก แต่ศาสตร์ของเราต้องอิงกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ถึงจะสร้าง Mindset ที่คำนึงถึงความยั่งยืนได้ตั้งแต่ในโรงเรียน
อย่างปีล่าสุด เราก็ใช้ช่วงโควิดที่นักศึกษามาเรียน On Site ไม่ได้ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ทำลานไม้ใต้ร่มไม้ใหญ่ให้นักศึกษาเขาไปนั่งเล่นหรือทำกิจกรรมได้ เพราะเราเชื่อว่าถ้าเขาไม่ได้สัมผัสอุณหภูมิภายนอกที่เย็นสบายจากต้นไม้จริง ๆ ได้ เขาก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องปลูกต้นไม้ แต่ถ้าเขาเข้าใจความสำคัญตรงนี้แล้ว เมื่อเรียนจบ เขาก็จะเป็นดีไซเนอร์ที่ให้ความสำคัญกับการมีต้นไม้ในบ้าน
ใช้ชีวิตแบบไหนจึงเรียกว่ายั่งยืน
ถ้าทางฝั่งอังกฤษเขาก็จะมองว่าพลังงานเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะฉะนั้นอะไรที่ยั่งยืนคือจะต้องใช้ได้นานที่สุด คำว่านานคือวนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ ก็จะเป็นพวกกลุ่ม Circular Economy ที่มีแนวคิดเรื่อง Life Cycle ของผลิตภัณฑ์ เช่น รองเท้า Nike ออกผลิตภัณฑ์ใหม่มา พอหมดอายุการใช้งานก็จะกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง แล้วตัวมันเองก็จะกลายเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตรองเท้าออกมาใหม่ แปลว่าไม่มีขยะในกระบวนการนี้เลย
แต่ก็จะมีอีกแนวคิดที่พูดถึงพฤติกรรมที่ไม่นำมาใช้เลย ก็คือชวนให้เราต้องคิดที่จะไม่ใช้มันมากกว่าจะหามันมาใช้ ถ้าเราไม่ใช้เลย อย่างเช่น เราบอกว่ากระดาษมันเปลืองนะ ใช้แล้วทิ้งนะ ถ้าอย่างนั้นเรามาปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อผลิตกระดาษกันเถอะ แต่เราก็ต้องไปถางป่าเพื่อปลูกมันขึ้นมา แล้วก็ใช้กระดาษแบบไม่คำนึงถึงการหมดไปเหมือนเดิม แต่วิธีที่ไม่ใช่ก็คือ เฮ้ย…ทำไมเรายังต้องใช้กระดาษ ทำไมเราไม่ทำ e-office เพื่อตัดกระบวนการทำลายในห่วงโซ่นี้ไปเลย นอกจากนี้ยังมีสายเขียว (Greenery) ที่บอกว่าถ้าอย่างนั้นเราไม่กินสัตว์ด้วยดีกว่า เพราะกระบวนการทำปศุสัตว์ก็สร้างมลภาวะให้โลกมากกว่าการบริโภคพืช ก็จะมีคนแย้งอีกว่าแต่การปลูกพืชก็สร้างมลภาวะเหมือนกันอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นใด ๆ ก็ตาม ถ้าอยากใช้ชีวิตแบบยั่งยืน กระบวนการก็ต้องยั่งยืนด้วย ต้องทำด้วยความต่อเนื่อง ไม่ใช่สนใจแค่เพราะมันกำลังเป็นกระแส
ถ้าอยากช่วยโลกจะเริ่มจากตัวเองได้อย่างไร
คำว่ายั่งยืนจะต้องประกอบด้วยสามขา คือ People Planet Profit คน โลก และผลกำไร หรือระบบเศรษฐกิจ ที่จะทำให้คนและโลกอยู่ได้ เรียกว่าเก้าอี้สามขา ความสำคัญก็คือว่าทำยังไงให้เก้าอี้ตัวนี้ตั้งอยู่อย่างสมดุล ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง เช่น ถ้าสายเขียวจัดก็อาจจะทุ่มทุกอย่างให้คนและโลกหมดเลย คนกับโลกดีมาก แต่คุณไม่ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจมาหล่อเลี้ยง มันก็อยู่ไม่ได้ อย่างที่ยกตัวอย่างแบรนด์ Qualy เขาไม่ได้รู้สึกว่าโปรเจ็กต์นี้ต้องเซฟโลกได้ขนาดใหญ่ แต่การที่เขายังต้องทำมาหากิน เขาก็เอาขยะอวนมาทำเป็นโปรดักต์ที่ใช้ในบ้านแล้วคนมีความสุข โดยสอดแทรกวิธีคิดเรื่องรักษ์โลกลงไปผ่านการออกแบบ เช่น ทำที่ใส่ถุงพลาสติกเป็นรูปปลาวาฬ เวลาคนจะหยิบใช้ก็ต้องดึงถุงออกมาจากปากปลา นี่คือการนำความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์เข้ากับวิถีชีวิตประจำวันของคน และยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย เขาก็จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เรามองว่าแบบนี้คือความสมดุลที่ทำได้อย่างยั่งยืน
แล้วจะเริ่มจากตัวเราได้ยังไง ตรงนี้คิดว่าหลายคนน่าจะเห็นตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง หรือว่าเป็นคนที่ปฏิบัติอยู่แล้ว คือคนเราจะคิดถึงเรื่องความยั่งยืนก็ต่อเมื่อทรัพยากรมีจำกัด คนที่มีเงิน คนรวย เขาก็จะพูดถึงมันในฐานะเทรนด์ที่เขาต้องทำ เพราะโดนตลาดหุ้นตั้งข้อกำหนดมา ลองดูคนที่เขามีรายได้น้อย คนที่เขามีทรัพยากรจำกัด เขาแทบจะไม่ซื้ออะไรที่ใช้แล้วหมดไปเลย เขาจะใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด แต่ยังไงมนุษย์ก็ปฏิเสธการใช้ทรัพยากรไม่ได้หรอกนะ เพียงแต่ Carbon Footpint ที่มาจากคนกลุ่มนี้ก็จะน้อยลง ทุกอย่างควรเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดในการใช้ทรัพยากร จะเริ่มจากใช้ให้น้อยหรือไม่ใช้เลยก็ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของแต่ละคน
ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับทุกคน
ทุกหน่วยงานในประเทศควรร่วมมือกันไม่ไปโยนภาระไปให้ใครคนใดคนหนึ่ง แล้วสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จริง เพราะฉะนั้นวิธีที่ทำให้ทุกหน่วยประสานกันได้ จะต้องมีทัศนคติหรือความเข้าใจในทางเดียวกันก่อนว่าให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติไปเลย อย่าง สิงคโปร์ รัฐบาลประกาศเลยว่าประเทศเขาจะกรีน หลังจากนั้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับโปรเจ็กต์นี้รัฐบาลจะสนับสนุนผ่านกองทุน Temasek (กองทุนความมั่งคั่งของประเทศสิงคโปร์)
เรามองว่ารัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพ แล้วถ้าทำไม่ไหวก็ให้เอกชนมาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ เพราะถ้าต่างคนต่างทำก็ไม่เห็นภาพเดียวกัน มหาวิทยาลัยเราก็ไม่มีเครื่องทำ Recycle แต่เรามีหน้าที่ผลิตคน เราก็ต้องผลิตความคิดใช่ไหม รัฐบาลหรือกระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องผลิตเครื่องที่สามารถ Recycle ได้ 100% สิ ขยะจะได้ไม่ลงน้ำแล้วปลาไปกินพลาสติก แล้วเราก็กินปลาอีกที ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าพลาสติกร้าย แต่อยู่ที่กระบวนการ Recycle มันไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นงาน SX (Sustainability Expo 2022) ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากเลยนะ เพราะทำให้เห็นการร่วมมือกันของทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย
ทุกคนต้องร้องเพลงเดียวกัน แต่ว่าร้องในโทนของตัวเอง ประสานเสียงกัน เหมือน Orchestra รัฐบาลก็อาจจะทำวิธีอื่นได้อีก เช่น ถ้ารู้ว่าการ Recycle ได้ดีที่สุดต้องใช้เครื่องจักรราคาแพง รัฐบาลก็ลดหย่อนภาษีแก่คนที่นำเข้าเครื่องนี้เข้ามา หรือบริษัทไหนลุกขึ้นมานำพลาสติกที่ใช้แล้วมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ รัฐบาลก็เก็บภาษีเขาน้อยลงหรือช่วยสนับสนุนบางอย่าง แม้กระทั่งกระทรวง มหาวิทยาลัย สถานศึกษา ถ้าจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจังรัฐบาลก็ให้ทุนสนับสนุน อาจารย์คิดว่าต้องใช้ทั้งกฎหมายและแรงจูงใจอื่น ๆ มาประกอบกัน
แม้กระทั่งเราเห็นภาพปลาตายเพราะพลาสติกในทะเล ดูแล้วก็เลื่อนผ่านไป แต่พอบอกว่าพลาสติกเหล่านั้นคุณกินเข้าไปนะ เออ…กลัว แต่พรุ่งนี้ก็ลืมแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะทำยังไง จะเลิกกินปลาก็ไม่ได้ มันทำให้ทุกคนรู้สึกจำยอม เพราะไม่รู้ว่าจะทำยังไง แล้วสุดท้ายก็ถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องของคนอื่น แต่กับเรื่องที่กระทบเราโดยตรง เช่น ไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าแล้วเขาไม่ให้ถุงพลาสติก เออ…อันนี้เริ่มเดือดร้อนแล้ว เพราะกระทบทุกวัน แล้วมันถูกกำหนดเป็นกฎที่ทุกคนต้องทำ พอมีโควิดมา Food Delivery เฟื่องฟู ก็กลายเป็นว่ามีสารพัดพลาสติกแบบที่ Recycle ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวันในปริมาณมหาศาล แต่ก็ไม่มีใครจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังอีกแล้ว
ดังนั้น ถ้าความเอาจริงเอาจังในการจัดการสิ่งแวดล้อมยังเป็นปัจจัยที่ไม่ยั่งยืน ความยั่งยืนก็เกิดขึ้นไม่ได้ การนำทรัพยากรมาหมุนเวียน อาจเป็นกระบวนการที่สามารถใช้เป็นแกนหลักร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่หนทางใหม่ ๆ ของความยั่งยืนในอนาคต
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแบบอย่างยั่งยืน ติดต่อ: คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังโทร. 0-2329-8365, 0-2329-8366Email : [email protected]School of Architecture, Art, and Design – KMITL
Sustainability Expo 2022 วันนี้ – 2 ตุลาคม 2565 นี้ เวลา 10:00 – 21:00 น.ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (MRT ทางออก3)
มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน#SustainableMarketplace#SX2022#GoodBalance#BetterWorld#BetterMe#BetterLiving#SustainabilityExpo#SustainabilityExpo2022#Sustainability