คาร์บอนเครดิต คืออะไร ทำไมซื้อขายได้
“คาร์บอนเครดิต” เป็นอีกคำหนึ่งที่เรามักได้ยินบ่อยๆในหัวข้อที่พูดถึงเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” แต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจความหมาย เราจะพาไปทำความรู้จักคำๆ นี้แบบเข้าใจง่ายๆ กัน
แน่นอนว่าปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศบนโลกใบนี้ องค์การสหประชาชาติ จึงได้ดำเนินการจัดการประชุมและร่างสัญญาเพื่อให้ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมมือกันทำตามนโยบายแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งหนึ่งในนั้นได้มีนโยบายที่จะใช้กลไกทางการตลาดเพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น จึงได้ริเริ่มการซื้อขายที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ขึ้นมา ซึ่งคาร์บอนในที่นี้ก็หมายถึงก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง
คาร์บอนเครดิตจึงเปรียบเหมือนสินค้าที่แต่ละบริษัทในภาคอุตสาหกรรมได้มาจากการทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการปลูกป่า การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ซึ่งเป็นก๊าซที่มีสัดส่วนการปล่อยมากที่สุดในบรรดากลุ่มก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด) โดยบริษัทผู้ขายจะต้องบอกข้อมูลของต้นไม้ ทั้งความสูงและขนาดเส้นรอบวงของต้นไม้ในแต่ละปี เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดส่งให้ อบก. หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้คำนวณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากต้นไม้เหล่านั้น
หลังจากนั้นบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจะได้ใบรับรองในการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตที่ตนผลิตได้ สำหรับนำไปขายให้อุตสาหกรรมอื่นที่ต้องการคาร์บอนเครดิต
คำถามต่อมาคือ…แล้วจะซื้อคาร์บอนเครดิตไปเพื่ออะไร?
ก็เพื่อนำไปใช้เป็นกรรมสิทธิ์ให้บริษัทที่ซื้อไปมีสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตของตนได้เพิ่มขึ้น หากมีความจำเป็นต้องปล่อยมากกว่าโควตาหรือเกณฑ์ที่ได้รับ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น
แล้วคาร์บอนเครดิตซื้อขายที่ไหน?
ตลาดคาร์บอนเครดิตแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.ตลาดทางการหรือภาคบังคับ หมายถึง ตลาดที่ประเทศต่างๆซื้อไปเพื่อให้บรรลุภาวะกรณีของตัวเองตามที่สัญญาไว้ว่าจะลดเท่าไหร่ ก็ซื้อไปเท่านั้น ถูกจัดตั้งขึ้นจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายอย่างชัดเจน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล
2.ตลาดแบบสมัครใจ ส่วนใหญ่แล้วประเทศไทยก็จัดอยู่ในตลาดนี้ เนื่องจากยังมีผู้ซื้อผู้ขายไม่มากพอ ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย จึงไม่ได้มีข้อบังคับที่เคร่งครัดมากนักในการกำกับดูแลบริษัทอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง ใครอยากทำขายก็ได้ตามความสมัครใจ โดยมี อบก.หรือ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดูแลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย มีหน้าที่ในการคำนวณและออกใบรับรอง แต่จะไม่สามารถขอใบรับรองจากคณะกรรมการกลางอย่าง UNFCCC (อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ได้
เรื่อง : อธิวัฒน์
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
เปลี่ยนพื้นที่รอบบ้าน ให้เป็นส่วนป่าขนาดเล็ก
10 สวนป่าธรรมชาติสไตล์ทรอปิคัลที่หลายคนหลงรัก