บ้านหลังนี้ในประเทศเวียดนาม มีชื่อว่า “3 x 9 House” ซึ่งเกิดจากการ ปรับปรุงบ้านเก่า ที่มีลักษณะคล้ายตึกแถวบ้านเรา ที่เคยมีช่องเปิดน้อย ทึบตัน และค่อนข้างมืด ให้โปร่ง สว่าง สวยงาม
หลายคนกลัวที่จะ ปรับปรุงบ้านเก่า บ้างก็ว่ากลัวทำไม่ดีแล้วจะเกิดปัญหาตามมามากมาย บ้างก็ว่าไม่รู้จะหาช่างหรือสถาปนิกที่ชำนาญจากไหน แต่ทั้งหมดต้องถูกมองข้ามไปเพราะการหาซื้อบ้านใหม่เป็นสิ่งที่ดูยิ่งใหญ่ เกินตัว ราคาที่ดินของเวียดนามสูงขึ้นทุกปี ทำให้เจ้าของบ้านเลือกปรับปรุงบ้านเก่าให้สามารถใช้งานได้เหมาะสม พอดีกับความต้องการ และคงเป็นเรื่องโชคดีที่ได้ A21 Studio กลุ่มนักออกแบบชาวเวียดนามซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบบ้านเล็กๆให้ดู โปร่งสบาย ไม่อึดอัด และสอดแทรกธรรมชาติเข้ามาในบ้านได้อย่างแยบยล
ตัวบ้านซึ่งกว้างเพียง 3 เมตร และลึก 9 เมตรได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยคิดถึงเรื่องการใช้วัสดุ การแบ่งพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ได้ดี และไม่ทำให้บ้านคับแคบเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านข้างเคียง ทุกคนต่างทำบ้านสูงไม่ต่ำกว่าสามชั้นทั้งสิ้น แต่ทำไมบ้านหลังนี้จึงเลือกทำแค่สองชั้นเท่านั้น
“เดิมความสูงของบ้านมีสามชั้นเหมือนหลังอื่นๆ แต่เมื่อเราต้องปรับปรุงใหม่ ก็มานั่งคิดว่าจริงๆแล้วเราได้ใช้งานบ้านของเราครบถ้วนคุ้มค่าหรือยัง และด้วยความที่อยู่คนเดียว มีน้องสาวมาพักบ้างบางครั้ง เลยคิดจะลดให้เหลือสองชั้นก็พอ สิ่งที่ตามมาคือค่าก่อสร้างถูกลง การจัดเก็บทำความสะอาดบ้านง่ายขึ้น พอคุยกับสถาปนิกก็มีความเห็นตรงกัน ส่วนแนวคิดต่างๆที่ใส่มาก็เป็นความคิดของสถาปนิกซึ่งเราชอบมาก ทำให้บ้านดูโปร่ง สบาย สว่าง และผ่อนคลายมาก” เจ้าของบ้านบอกกับเรา พร้อมยกชาร้อนมาเสิร์ฟให้
“ชาร้อน” ใช่แล้วครับ อากาศตอนนี้ไม่ได้เย็นสบายอะไร แต่คนที่นี่ไม่ทานน้ำแข็งเป็นประจำเหมือนบ้านเรา ผมถามว่าทำไม ดูเหมือนเจ้าของบ้านก็ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ประเด็นหนึ่งคือน้ำแข็งมีราคาแพง และที่สำคัญคนเวียดนามก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องกินน้ำแข็งตลอดเวลา
กลับมาที่เรื่องของบ้าน สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาตั้งแต่ผมเดินเข้ามาในบ้านคือต้นไม้ซึ่งปลูกให้โตทะลุ พื้นไม้ชั้นสองของบ้าน เพราะต้องการให้บ้านดูนุ่นนวลสบายตา และต้นไม้ก็ทำหน้าที่นี้ได้ดี โดยตำแหน่งเดียวกับต้นไม้ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปเป็นตำแหน่งหลังคากึ่งโปร่งใส ที่ให้แสงแดดส่องลงมาเพื่อให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโต
ส่วนการระบายอากาศของบ้านนี้ก็ออกแบบมาเป็นอย่างดี ลมจะเข้าทางประตูหน้าบ้านทะลุไปยังหลังบ้านและขึ้นไปยังชั้นบน สุดท้ายก็ระบายออกทางหลังคาของบ้าน ซึ่งออกแบบเป็นหลังคากึ่งโปร่งแสง สามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้ ด้วยความที่บ้านสูงเพียงสองชั้น และขนาบข้างด้วยเพื่อนบ้านที่สูงสามชั้นขึ้นไป แสงแดดจึงส่องลงมากระทบเพียงช่วงเที่ยงของวันเท่านั้น บ้านนี้จึงไม่จำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศ บวกกับความคุ้นชินของคนเวียดนามซึ่งไม่นิยมติดเครื่องปรับอากาศอยู่แล้ว การออกแบบบ้านให้โล่งและมีทางระบายอากาศที่ดีจึงเป็นทางออกของบ้านหลังนี้
พื้นที่ภายในทั้งหมดของบ้านปราศจากผนังกั้น (ยกเว้นห้องน้ำ) ชั้นล่างของบ้านจัดเป็นส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัว ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องถึงกันหมด เช่นเดียวกับชั้นบนที่เป็นห้องนอนและส่วนพักผ่อน เจ้าของบ้านและสถาปนิกต้องการเปลี่ยนความคุ้นชินแบบเดิมๆที่เราคิดว่าจำเป็น ซึ่งบางทีก็ทำให้เกิดข้อจำกัดมากมาย ที่สำคัญยังสร้างปัญหาให้ชีวิต เมื่อเจ้าของบ้านคิดได้ว่าอยู่คนเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องกั้นห้อง แม้มีพื้นที่จำกัดแต่บ้านยังดูโล่ง สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสบายใจและสบายกระเป๋าสตางค์
วัสดุที่ดูมีราคามากที่สุดของบ้านหลังนี้คือโครงสร้างเหล็ก ซึ่งทำหน้าที่รับพื้นชั้นสองและหลังคาทั้งหมด แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะผลที่ได้กลับมาคือบ้านที่ดูโปร่ง ไร้เสาคอนกรีตที่ดูทึบตัน คานเหล็กที่ใช้ก็ให้ความรู้สึกเบากว่าคานคอนกรีต ยิ่งสำหรับบ้านที่มีหน้ากว้างเพียง 3 เมตร ยิ่งไม่ต้องห่วงเรื่องความแข็งแรงหรือการแกว่งตัวของเหล็ก เพราะมีน้อยมาก แทบไม่รู้สึกเลยทีเดียว
รูปแบบของบ้านหลังนี้ดูต่างจากเพื่อนบ้าน แต่ไม่มากจนทำให้เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ทำให้คิดไปว่า… บางครั้งเราก็ใช้ชีวิตในรูปแบบที่คนอื่นกำหนดหรือบอกต่อๆกันมาว่าต้องอย่าง นั้นอย่างนี้ แต่เมื่อมาคิดดูอย่างใจเย็น ลดความเป็นตัวตน ลดความคุ้นชินเดิมๆ เราอาจไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านั้นอย่างที่คนอื่นบอกก็เป็นได้ และเมื่อถึงจุดนั้น สิ่งที่เราคิดขึ้นมาจากความต้องการจริงๆจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนที่สุด เท่าที่เราเคยพบมาในชีวิตเลยก็ว่าได้
ผมรอให้ชาหายร้อนแล้วค่อยดื่มจนหมด ไม่แปลกที่เจ้าของบ้านจะเสิร์ฟชาร้อนให้ และผมก็คงไม่ผิดที่ไม่ชอบดื่มของร้อนในสภาพอากาศร้อนๆแบบนี้ … นี่คือความคุ้นชินสินะ แต่…คราวหน้าผมจะลองดื่มชาร้อนๆดูครับ
ออกแบบ : A21 Studio
เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล