บ้านไม้โคโลเนียลใต้ถุนสูง กับความทรงจำที่ผูกพัน
แบบบ้านไม้ใต้ถุนสูงสไตล์โคโลเนียล ที่สร้างขึ้นจากความคุ้นเคยและผูกพันของผู้เป็นเจ้าของ โดยมีพื้นที่ใต้ถุนสูงที่ไม่ต้องกลัวน้ำท่วม ส่วนด้านบนหลังคายกสูง และมีช่องลมโดยรอบทำให้บ้านไม่ร้อน ขณะที่ภายในตกแต่งด้วยข้าวของเก่าที่ให้กลิ่นอายคลาสสิก
คุณซอล -ไฟซอล สวนดี และ คุณยะ- อรุโณทัย สวนดี คู่สามีภรรยาเจ้าของบ้านหลังนี้เล่าที่มาที่ไปของการสร้าง แบบบ้านไม้ใต้ถุนสูงสไตล์โคโลเนียล ย่านชุมชนสุเหร่าแดง จังหวัดนนทบุรี ให้เราได้ฟังพลางๆระหว่างที่คุณยะเชื้อเชิญให้รับประทานอาหารเช้าที่เธอบรรจงเตรียมไว้ต้อนรับทีมงานประหนึ่งมิตรสหายผู้มาเยือน แม้เพิ่งเจอกันครั้งแรก แต่เราก็สัมผัสได้ถึงน้ำใจของเจ้าของบ้านได้จริงๆ ท่าทีที่โอบอ้อมของเจ้าของบ้านทั้งคู่ถูกส่งต่อมายังตัวบ้านที่เปิดเผยให้ความรู้สึกคุ้นเคยและเป็นมิตร
“พื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่ เป็นย่านชาวสวน แต่หลังจากน้ำท่วมปี 2538 ทางครอบครัวก็ทิ้งที่ผืนนี้ให้ร้างไว้หลายปี สมัยเด็ก ๆจะมีบ้านไม้ทรงปั้นหยาให้เห็นอยู่มาก ต่อมาถูกรื้อทิ้งหมด เหลือเพียงหลังเดียวซึ่งสร้างราวสมัยรัชกาลที่ 7 เนื่องจากพี่เองก็เกิดและโตมากับที่นี่ เมื่อถึงวัยทำงานก็ย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองกรุงเทพฯ แต่เรายังคิดถึงบ้านคิดถึงบรรยากาศที่นี่ จึงคิดว่าถ้ากลับมาปลูกบ้านสักหลัง ก็ตั้งใจว่าจะปลูกบ้านหน้าตาสไตล์โคโลเนียลแบบที่เราคุ้นเคย”
คุณซอลบอกเราว่า บ้านหลังนี้มักทำหน้าที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือน ทั้งเพื่อนฝูงที่รู้จักกัน และเพื่อนนักปั่นจักรยานที่มักมาปั่นย่านนี้ แล้วไปตระเวนเที่ยวแถวเกาะเกร็ดซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำในวันเสาร์อาทิตย์เป็นประจำ โดยพื้นที่ใต้ถุนบ้านจะเป็นพื้นที่ที่ได้ใช้งานบ่อยที่สุด “ใต้ถุนเป็นพื้นที่ที่พี่และพี่ยะใช้รับแขกเสมอๆ เหมาะสำหรับการพูดคุยสังสรรค์ เพราะมีลมพัดผ่านตลอดเวลา ส่วนใหญ่พี่จะใช้เวลาอยู่ด้านล่าง ไม่ค่อยอยู่บนบ้านเท่าไร ด้านล่างมันโล่ง นั่งสบายทั้งวัน เพื่อนบางคนที่มาเขาก็ชอบมุมสวนเล็ก ๆ น่ารัก บางทีก็มานั่งสเก็ตช์ภาพดอกไม้เพลิดเพลินกันไป”
เมื่อย้อนกลับมาถามถึงขั้นตอนการก่อสร้าง แบบบ้านไม้ใต้ถุนสูงสไตล์โคโลเนียล หลังนี้ คุณซอลเล่าให้เราฟังว่า “พี่ใช้เวลานานในการค่อย ๆเก็บข้อมูล เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วก็คิดว่าถ้าอยากมีบ้านสไตล์โคโลเนียลเหมือนบ้านสมัยเราเด็ก ๆ ต้องทำยังไง บ้านมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง เริ่มจากซื้อของมาเก็บไว้ในโกดัง อย่างประตูไม้นี่ได้มาก่อนตัวบ้านซะอีก (หัวเราะ) คือสมัยนั้นยังทำงาน บริษัทที่ต้องเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ เราจึงได้โอกาส ถ้าไปเจอของเก่าที่ไหนก็จะซื้อมาเก็บไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้มาจากตลาดแม่สอดบ้าง ได้ไม้จากอยุธยาบ้าง“
บ้านโคโลเนียลเกิดจากการประยุกต์ระหว่างบ้านไทยกับบ้านฝรั่งผสมกัน ดังนั้นนอกจากดูสวยหวานแล้ว ยังเหมาะสมกับสภาพอากาศบ้านเราอีกด้วย เพราะพื้นที่ใต้ถุนสูงไม่ต้องกลัวน้ำท่วม ส่วนด้านบนหลังคายกสูง และมีช่องลมโดยรอบทำให้บ้านไม่ร้อน
“บ้านหลังนี้ได้ไม้มาจากบ้านเก่าที่เขารื้อทิ้งทั้งหลัง พอดีผมรู้จักร้านขายของเก่าย่านพระรามเก้า แล้วบังเอิญมีคนเอาชิ้นส่วนบ้านไม้เกือบทั้งหลังมาขายให้เขา เจ้าของร้านจึงรีบติดต่อ ผมจึงรับซื้อไว้ ความจริงผมมีภาพในหัวอยู่แล้วว่าอยากได้บ้านแบบไหน ซึ่งขั้นตอนการก่อสร้าง ก็เอาแบบมาให้เพื่อนที่เป็นกราฟิกขึ้นรูปเป็นสามมิติ แล้วไปให้ช่างดู องค์ประกอบในส่วนต่างๆของบ้าน พวกช่องลมลายฉลุส่วนใหญ่ก็ได้มาจากบางบาล คือช่างไม้อยุธยาจะค่อนข้างคุ้นเคยกับงานฝีมือแนวนี้ ซึ่งเป็นงานทำมือทั้งสิ้น ช่องลมบางลายเราก็ออกแบบเอง เป็นลายแบบแขกมัวร์ ซึ่งแสดงถึงความเป็นเรา ทำงานกับช่างต้องใจเย็นและใช้เวลาสักหน่อย นอกจากนี้ยังมีช่างจากเกาะเกร็ดมาช่วยในส่วนที่ต้องเป็นงานละเอียด ตอนแรกเขาก็ไม่ยอมมาทำให้ แต่เริ่มเห็นว่าเรามีปัญหา เขาคงใจอ่อนจึงตัดสินใจมาทำให้ในที่สุด”
สำหรับพื้นที่ชั้น 2 เมื่อเดินผ่านชานบันไดไปจะพบกับโถงทางเดินที่แจกไปยังห้องต่างๆ ทั้งส่วนนั่งเล่นและอ่านหนังสือ ที่จะมีมุมดูทีวีและโต๊ะสำหรับท่องคัมภีร์ตอนเช้า อีกฟากของโถงทางเดินเป็นห้องนอนใหญ่และห้องนอนเล็กสำหรับต้อนรับแขก ทั้งสองห้องเป็นห้องสีขาวบนพื้นไม้สีน้ำตาลอ่อน ให้ความสว่างนุ่มนวลสไตล์โคโลเนียล มีเพียงม่านสั้น ๆเพื่อบังสายตา ไม่มีทีวีหรือคอมพิวเตอร์ แม้กระทั่งโต๊ะทำงาน เนื่องจากคุณซอลเชื่อว่าห้องนอนมีไว้เพื่อการพักผ่อนและการปล่อยวางชั่วขณะ ส่วนมุมครัวที่อยู่ตรงข้ามกับห้องนอนทั้งสองฝั่ง คุณซอลเล่าว่าไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นควันติดค้างในบ้าน เนื่องจากบริเวณหน้าเคาน์เตอร์ครัวมีหน้าต่างระบายอากาศ และด้วยความที่เป็นบ้านหลังคาสูงบวกกับมีช่องลมด้านบน ทำให้อากาศถูกระบายออกหมด ถัดจากโถงทางเดินไปด้านหลังจะเป็นระเบียงซึ่งมีโต๊ะรับประทานอาหารเล็ก ๆ สำหรับสองที่ให้รับประทานอาหารเช้า พร้อมชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นเกาะเกร็ดอยู่ฝั่งตรงข้าม
คุณซอลทิ้งท้ายแนวคิดในการแต่งบ้านไว้ว่า “ง่าย ๆเลยสำหรับผม บ้านหลังนี้เราค่อย ๆ สังเกตความต้องการ ของตัวเอง แค่รู้ว่าเราต้องการอะไร เราใช้ชีวิตยังไงก็แต่งบ้านแบบนั้น อย่างของที่อยู่ในบ้านนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นของที่เกี่ยวพันกับชีวิตเราจริงๆ ไม่ใช่แค่ของสะสมแต่ไม่มีที่มา ของแต่ละชิ้นส่วนใหญ่จะเป็นของที่เห็นมาแต่เด็ก ผมจะดูว่าของชิ้นไหนที่จำเป็นสำหรับเราจริงๆ จริงอยู่ผมชอบของเก่า แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดคลั่งไคล้และต้องมีมากมาย ส่วนใหญ่เป็นของที่มีคนให้มา หรือซื้อมาเพราะชอบ ผมจะไม่รีบซื้อของ คือสังเกตว่าอันไหนถ้ามีแนวโน้มว่าซื้อมาแล้วเป็นส่วนเกินในชีวิตจะไม่ซื้อ”
เจ้าของ- ออกแบบ : คุณไฟซอล – คุณอรุโณทัย สวนดี
เรื่อง : Sine ChU, Ajchara_Jeab
ภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู, อุ้ม เชาวนปรีชา, ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง, ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์: เกษม์จงกล พูลล้น