กลายเป็นความน่ากังวลของผู้ที่มีไม้ประดับอย่าง “กวักมรกต” ไว้ตกแต่งบ้าน และเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่มีเด็กเล็ก จากประเด็นที่มีเด็กได้รับอันตรายจากต้นกวักมรกต ที่เป็นไม้ประดับตกแต่งยอดฮิตและขึ้นชื่อเรื่องฟอกอากาศและเป็นไม้มงคลนั้น ไม้ชนิดนี้มีอันตรายจริงหรือไม่ วันนี้ บ้านและสวน พาไปไขข้อสังสัยนี้พร้อมกัน
กวักมรกต เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Zamioculcas zamiifolia (Lodd.) Engl. จัดอยู่ในวงศ์ Araceae เป็นไม้อวบน้ำ ลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดินมีสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะใบสีเขียวเป็นมัน มีใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปไข่โคนมน และปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ หนา และอวบน้ำ มีดอกออกเป็นช่อ คล้ายดอกหน้าวัว สีเหลืองนวลแกมเขียวอ่อน ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหัว ชำต้น และชำใบ เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม
เนื่องจากกวักมรกตเป็นพื้ชที่ดูแลง่าย สามารถปลูกในห้อง ในที่ร่ม และเลี้ยงแบบชำน้ำได้ อีกทั้งยังเป็นไม้ฟอกอากาศ และไม้มงคล ที่มีความสวยงามโดดเด่นทั้งใบเขียว ใบดำ และใบด่าง จึงทำให้กวักมรกตเป็นไม้ที่นิยมปลูกกันในช่วงที่ผ่านมา แต่กวักมรกตอาจมีอันตรายต่อคนโดยเฉพาะเด็ก และรวมถึงสัตว์เลี้ยง หากกินเข้าไปจะมีอาการระคายเคืองในปาก ปากบวม อาเจียน น้ำลายไหลมากเกินไป รวมไปถึงหายใจลำบาก ซึ่งในกวักมรกตจะมีแคลเซียมออกซาเลต (Calcium Oxalate) ลักษณะเป็นผลึก เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างกรดออกซาลิก (oxalic acid) กับแคลเซียม (calcium) จนกลายเป็นผลึกขนาดเล็กที่มีทั้งการอยู่เดี่ยวๆ และรวมกันเป็นกลุ่มภายในเนื้อเยื่อของพืช
นอกจจากนี้ยังพบแคลเซียมออกซาเลตในไม้ประดับอื่นๆ เช่น สาวน้อยประแป้ง บอนกระดาด เงินไหลมา เต่าร้าง และโคมญี่ปุ่น จึงควรระมัดระวังในการใช้ตกแต่ง และพบได้ในผักอื่นๆ เช่น ปวยเล้ง กระเจี๊ยบ ผักปลัง กระเฉด และชะมวง จึงไม่ควรทานแบบสดควรมีการปรุงให้สุกเพื่อลดปริมาณของแคลเซียมออกซาเลต
เรื่อง : อธิวัฒน์
ภาพ : Freepik , คลังภาพบ้านและสวน
บทความที่เกี่ยวข้อง
คุยกับมืออาชีพ กับอนาคตของ กวักมรกตด่าง
7 ต้นไม้สวยอันตราย
การขยายพันธุ์ กวักมรกต
ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com