บ้านสีขาวประหยัดพลังงาน ซ่อนความอบอุ่นไว้ภายใน
บ้านสีขาวประหยัดพลังงาน ดูเรียบง่ายแฝงช่องเปิดเล็กๆ ไว้ ภายในเน้นคอร์ตที่เปิดโล่งโปร่งตาเพราะเหมือนคว้านตรงกลางของก้อนอาคารด้านในออกให้กลายเป็นบ้านรูปทรงตัวยู (U)
ที่ดินขนาด 89 ตารางวา ถือว่าไม่เล็กแต่ก็ไม่ได้ใหญ่มากสำหรับการสร้างบ้านให้คน 3 รุ่นได้อยู่อาศัยร่วมกันพร้อมรวมออฟฟิศทำงานให้อยู่ในพื้นที่เดียว แต่เพราะเจ้าของบ้านเป็นสถาปนิกเอง เขาจึงสามารถสร้างสรรค์งานออกแบบที่เปิดกว้างและพร้อมจะทดลองแก้ปัญหาด้วยแนวคิดใหม่ๆ อย่างเต็มที่ จนได้เป็น บ้านสีขาวประหยัดพลังงาน หลังนี้ขึ้นมา
“เมื่อก่อนเราอยู่กันในทาวน์เฮ้าส์ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องที่จอดรถและพื้นที่ใช้สอยในบ้าน ต้องหาอาคารอีกหลังเพื่อทำออฟฟิศก็เสียเวลาเดินทางวุ่นวาย ประกอบกับลูกเริ่มโตเลยคิดไปถึงการใช้ชีวิตในอนาคตของเขาด้วย ถึงเริ่มมองหาที่ดินเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ ผมเลือกจากโซนที่อยู่ไม่ไกลรถไฟฟ้าเพราะตั้งใจเลยว่าจะให้ลูกขึ้นรถไฟฟ้าไปโรงเรียน มองหาอยู่เป็นปีจนมาเจอที่ตรงนี้เป็นที่เปล่าซึ่งเหมาะกับการเริ่มออกแบบใหม่หมดเลย” คุณเบนซ์-ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ สถาปนิกเจ้าของบ้านเริ่มต้นเล่าถึงที่มาของบ้านหลังนี้
ลดทอนสู่ความเรียบง่าย
มองจากด้านนอกจะเห็นบ้านเป็นก้อนอาคารสีขาวทรงเหลี่ยมเรียบง่ายแฝงช่องเปิดเล็กๆ ไว้ และกลายเป็นฉากขาวๆ ให้กับต้นพยอมทรงสูงชะลูดที่มีพุ่มสีเขียวเป็นเรือนยอดยิ่งโดดเด่นสวยงาม
“เราหลงรักความเรียบง่ายและชอบความมีรายละเอียด จนมาเจอปรัชญาญี่ปุ่นเรื่อง “วาบิ ซาบิ” ซึ่งมีบางส่วนสอดคล้องกับความหมายที่ต้องการออกแบบบ้านหลังนี้ คือชื่นชมในความงามของธรรมชาติตามที่เป็นอยู่ ชื่นชมความงามที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้เห็นบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ ใช้พื้นที่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่โอ้อวด แต่อยู่กับชีวิตที่เรียบง่ายและถ่อมตน”
แนวคิดนี้เห็นได้ชัดตั้งแต่ผนังหน้าบ้านที่ค่อนข้างทึบเพื่อปิดความเป็นส่วนตัวและกันความร้อนจากทิศตะวันออกไม่ให้เข้าสู่ภายในอาคาร แต่แสงแดดจะส่องผ่านต้นไม้ทำให้เกิดภาพเงาสวยๆ พาดทับไปตามแนวผนังสีขาว เพิ่มมิติของเงาที่เคลื่อนไหวไปตามแรงลมกับช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ภายในเน้นมุมมองเปิดโล่งโปร่งตาเพราะเหมือนคว้านตรงกลางของก้อนอาคารด้านในออกให้กลายเป็นบ้านรูปทรงตัวยู (U) ที่มีคอร์ตต้นไม้อยู่ตรงกลาง ตกแต่งด้วยต้นเสม็ดแดงในรูปทรงเอียงตามธรรมชาติที่ดูราวกับต้นบอนไซขนาดใหญ่ เป็นเส้นนำสายตาให้กับส่วนออฟฟิศชั้นล่าง โดยมีเงาจากแสงแดดที่ส่องผ่านระหว่างใบไม้ลงมาถึงพื้นกรวดดูพลิ้วไหวอยู่ท่ามกลางบริบทอันสงบนิ่งและงดงาม
พื้นที่ทำงานและส่วนพักผ่อน
“เราออกแบบพื้นที่ในบ้านให้เล็กที่สุดเท่าที่จำเป็นต้องใช้ ประมาณ 350 ตารางเมตร แบ่งฟังก์ชันง่ายๆ เหมือนใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านให้เป็นส่วนออฟฟิศประมาณ 110 ตารางเมตรเพื่อรองรับพนักงานทั้งหมด 10 คนและห้องทำงานส่วนตัวผมที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องประชุมได้ ส่วนพักอาศัยอยู่ชั้น 2 มีครบทุกมุมที่จำเป็นในแบบคอมแพ็คเหมือนคอนโด และถ้าอยากได้พื้นที่โล่งๆ ก็จะขึ้นไปชั้น 3 ที่เป็นห้องออกกำลังกายเชื่อมต่อออกไปถึงพื้นที่สังสรรค์ภายนอก ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของดาดฟ้า โดยออกแบบยกขอบผนังรอบๆ ให้สูงขึ้นมาระดับสายตาเพื่อบดบังสภาพแวดล้อมให้เหลือแต่ท้องฟ้าที่เปลี่ยนสีสันไปในแต่ละวัน”
แม้จะแยกฟังก์ชันให้แตกต่างกันระหว่างส่วนทำงานและพักผ่อน แต่ทุกมุมก็สามารถกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันได้ด้วยการตกแต่งภายในโทนสีเทา-ขาว อบอุ่นด้วยพื้นกระเบื้องยางลายไม้ผสมกับเฟอร์นิเจอร์ไม้และส่วนบิลท์อินไม้ที่ซ่อนอยู่ตามผนังส่วนต่างๆ ของบ้านเพื่อเก็บของใช้ประจำวันหให้สเปซในบ้านดูเรียบร้อยอยู่ตลอดเวลา
วิถีธรรมชาติและการประหยัดพลังงาน
แม้การอยู่อาศัยในบ้านจะใช้ระบบปรับอากาศเป็นส่วนใหญ่ แต่ในบางช่วงเวลาหรือบางฤดูกาล สภาพอากาศก็เอื้อต่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและยังช่วยประหยัดพลังงานในบ้านได้มาก คุณเบนซ์จึงออกแบบด้านหลังบ้านให้เป็นที่รับลมธรรมชาติ มีช่องอุโมงลมทะลุผ่านจากด้านหลังมาหน้าบ้าน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้มีโอกาสสัมผัสกับลมธรรมชาติที่พัดมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยวางตำแหน่งบันไดไว้ที่มุมนั้นพร้อมติดกระจกบานเกล็ดรับลมให้กระจายเข้าสู่ภายใน
อีกทั้งยังออกแบบช่องเปิดรับแสงเข้าบ้านในทิศทางที่เหมาะสม โดยเฉพาะมุมที่หันเข้าหาคอร์ตต้นไม้กลางบ้านซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวหลักและมองเห็นได้จากทุกมุมของบ้าน รวมถึงมีช่องรับแสงในมุมที่จำเป็นอย่างบริเวณหน้าทีวี ในห้องครัว และห้องนอนหลักซึ่งหันไปทางทิศเหนือ เพื่อใช้แสงสว่างจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์เต็มที่
และเพื่อให้บ้านประหยัดพลังงานมากขึ้นไปอีก ส่วนบนสุดของหลังคายังมีพื้นที่สำหรับโซล่าเซลล์ระบบ On-Grid เพื่อให้สามารถใช้ไฟฟ้าในบ้านและออฟฟิศตลอดช่วงเวลากลางวันได้ โดยประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ถึง 30% ตรวจเช็คและดูแลระบบผ่านแอปพลิเคชั่นได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งบริเวณดาดฟ้าของบ้านก็ยังออกแบบให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัวในบ้านที่เป็นทั้งกิจกรรมยามว่างให้กับคุณพ่อคุณแม่และยังเป็นแหล่งอาหารง่ายๆ ที่ปลอดภัยสำหรับคนในครอบครัว
“เราคิดว่าการมีโอกาสได้กลับไปเรียนรู้วิถีธรรมชาติ ได้สัมผัสกับดิน ได้เพาะปลูก หรือทำอะไรช้าลง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากแล้วสำหรับชีวิตในเมือง ส่วนตัวผมเองระหว่างออกแบบก็ได้ลงลึกไปในจิตใจและทำความเข้าใจตัวเองด้วย รู้สึกได้ว่าการใช้ชีวิตที่ลดทอนตัวตนในแง่ผู้ออกแบบหรือผู้อยู่อาศัยเองให้เรียบง่ายขึ้น ความรู้สึกที่อยากสัมผัสและชื่นชมถึงธรรมชาติที่อยู่รอบตัวอย่างง่ายๆ การลดทอนสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกไปหรือการได้ค้นหาความหมายต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากมายจริงๆ”
เจ้าของ : คุณพิชญ์สินียา และคุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ
สถาปนิก : Ilikedesignstudio โดยคุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ : Suanpuk
บ้านสีขาวริมทะเลสไตล์ Mid-century Modern
บ้านสีขาวมินิมัล ที่อบอุ่นนุ่มละมุน