บางอย่างคุณอาจทำเองได้ บางอย่างเรียกช่างมาจัดการให้ก็ดี บางอย่างดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ บางเรื่องก็เป็นเรื่องใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้เลย แต่ทุกสิ่งล้วนส่งผลต่อการอยู่อาศัยในบ้าน และที่สำคัญทุกอย่างต่างส่งผลต่อบรรยากาศและความรู้สึกของคนในบ้านทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราลองไปดูพร้อมกันว่ามีอะไรบ้างที่เราพอจะทำให้ บ้านน่าอยู่ ขึ้นได้ ผมขอแบ่งเป็น 4 หมวด ดังแผนภูมิด้านล่างนี้
Refresh สร้างความสดชื่น
จัดบ้านทำความสะอาด ขยับมุมใหม่ ๆ จัดสิ่งต่าง ๆ ให้เข้าที่ ทำความสะอาด นอกจากจะทำให้บ้านสดชื่นขึ้น ง่ายต่อการคิดไอเดียใหม่ ๆ แล้ว การไล่จัดระเบียบให้บ้านทั้งหลังยังเป็นการเช็กสิ่งผิดปกติและสัญญาณอันตรายต่าง ๆ ในบ้านไปพร้อมกันอีกด้วย
ปลูกต้นไม้ย้ายกระถาง หากใครเครียด ๆ การได้ลงมือลงแรงไปกับเรื่องสวนนั้นได้ผลชะงัดนักแล ต้นไม้ดึงเอาพลังของธรรมชาติเข้ามาช่วยเยียวยาเราได้เป็นอย่างดี และเติมความสดชื่นให้บ้านด้วยเช่นกัน แต่สวนรก ๆ คงเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ไม่พึงประสงค์เป็นแน่ เพราะฉะนั้นการหมั่นดูแลต้นไม้น้อยใหญ่ในบ้าน นอกจากจะเป็นการพักผ่อนที่ดีแล้ว ยังเป็นการดูแลพื้นที่สีเขียวไม่ให้รกเกินไปอีกด้วย
ประดับดอกไม้ ดอกไม้สักช่อในแจกันบนโต๊ะอาหารสามารถเติมเต็มวันดี ๆ ให้คนในบ้านได้อย่างไม่น่าเชื่อ หรือจะเป็นไม้ดอกที่เด็ดมาง่าย ๆ จากในสวน นำมาใส่ในแก้วทรงสูง วางไว้บนโต๊ะกลางของห้องนั่งเล่น สิ่งเหล่านี้เติมเต็มความสุนทรีย์ให้บ้านได้อย่างด
นำภาพไปใส่กรอบ ภาพถ่ายจากทริปล่าสุด ภาพถ่ายเมื่อตอนงานรวมญาติ ภาพวาดกับหลานเมื่อวันก่อน ลองรวบรวมแล้วนำไปเข้ากรอบสำหรับแขวนตกแต่งผนัง ไม่ใช่แค่ดูสวยงาม แต่เรื่องราวและความทรงจำจะทำให้บ้านมีความอบอุ่นของคำว่า “ครอบครัว”
เพ้นต์ผนัง ไม่จำเป็นต้องมีฝีมือทางศิลปะก็ได้ ลองชวนเพื่อนฝูงหรือญาติตัวน้อย แล้วหาผนังเหมาะ ๆ เพ้นต์ลายดูสักที คุณอาจได้อมยิ้มทุกครั้งที่เห็นผนังนี้ก็ได้นะ สวยไหม ไม่รู้ แต่ความทรงจำในความสนุกนั้นก็คงยากที่จะลืมเลือน
เปลี่ยนปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนลายสวยหรือจะเป็นผ้าปูที่นอนสีสด นำไปซักแล้วเก็บไว้วันหลัง จากนั้นจึงเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง อาจเพื่อให้เข้ากับฤดู เทศกาล หรือแค่เพียงลองอะไรใหม่ ๆ ก็ดูไม่เลวเลยทีเดียว
เปลี่ยนผ้าม่าน นอกจากการทาสีห้องแล้ว การเปลี่ยนผ้าม่านก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้บ้านหลังเดิมของคุณเปลี่ยนไปได้อย่างหมดจด จะเป็นผ้าโปร่งลายลูกไม้ หรือผ้าม่านลายเก๋เข้าชุดกับโซฟาก็ลองเลือกดูแล้วกัน
Maintenance ดูแลรักษา
ลงน้ำมันให้งานไม้ภายในบ้าน งานไม้ก็เหมือนกับผิวของคนเรา ซึ่งต้องการความชุ่มชื้นและการดูแลที่เหมาะสม การลงน้ำมันให้งานไม้ทำได้ง่ายกว่าการทาแล็กเกอร์หรือวานิช ทั้งยังให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติมากกว่าด้วย ที่สำคัญยังสามารถเลือกใช้ชนิดที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ขี้ผึ้ง หรือน้ำมันมะพร้าว ได้ด้วย
ทาสีห้อง ใช้งบประมาณไม่มาก แต่ให้ผลลัพธ์ที่ทรงพลังเหลือเชื่อ การเปลี่ยนสีให้ห้องนั้นส่งอิทธิพลให้อารมณ์และความรู้สึกของห้องเปลี่ยนไปได้โดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมสนุก ๆ ที่ใคร ๆ ก็มาช่วยกันทำได้ตั้งแต่ เด็ก ๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุ เพียงแค่หาวันหยุดยาวสักสองสามวัน คุณก็สามารถเปลี่ยนห้องเดิม ๆ ให้กลายเป็นห้องใหม่ได้แล้ว
เปลี่ยนวอลล์เปเปอร์ อีกหนึ่งวิธีเปลี่ยนอารมณ์ห้องที่ได้ผลดีก็คือการเลือกวอลล์เปเปอร์ เพระไม่ใช่แค่เพียงสีสัน แต่พื้นผิวที่ต่างออกไปก็สร้างบรรยากาศใหม่ ๆ ให้การจัดสรรค์พื้นที่ของคุณได้แล้ว
เช็ดกระจก อาจดูเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่หลายคนก็มักละเลยไป กระจกที่สะอาดใสเป็นกรอบบานเชื่อมภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นทำความสะอาดเสีย อย่าให้ความขมุกขมัวมาทำให้ชีวิตคุณต้องหมองโดยไม่รู้ตัว
Repair บำรุงซ่อมแซม
ขัดหน้าไม้ปาร์เกต์ พื้นไม้ปาร์เกต์เมื่อผ่านเวลาไปจะเกิดการขยายตัวและกระเดิดขึ้นพาให้เดินสะดุด บ้างก็อาจหลุดล่อน การขัดไสหน้าไม้ให้เรียบแล้วเคลือบใหม่บ้าง รับรองว่าบ้านจะดูเหมือนใหม่เลยทีเดียว
ดูแลรางน้ำ หลังจากฤดูหนาว รางน้ำอาจมีใบไม้แห้งเข้าไปติดอยู่เยอะ จัดการทำความสะอาดบ้าง เพราะเมื่อผ่านฤดูร้อนมาจนถึงฤดูฝนอีกครั้งจะได้ไม่ประสบปัญหาน้ำฝนระบายไม่ทัน แล้วจะรั่วซึมเข้าสู่หลังคาและฝ้าได้ จากปัญหาเล็ก ๆ จะกลายเป็นบานปลายไปเสีย
Improvement ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
ซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ อีกหนึ่งวิธีเติมความสุขให้บ้านที่ได้ผลชะงัดก็คือ การหาเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าจะหยิบฉวยเอาอะไรก็ได้หรอกนะครับ ถ้าเลือกไม่ดีนี่จะดูแปลกขัดกันไปหมด วิธีการเลือกก็เริ่มจากจัดสไตล์ให้ของในบ้านเสียก่อน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่จะได้เข้ามาเป็นพระเอกของกลุ่ม ลองเดินเล่นตลาดของมือสองหรือจะเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าก็เข้าที บางครั้งคุณอาจพบเฟอร์นิเจอร์เด็ด ๆ ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วก็เป็นได้
เดินระบบสายไฟใหม่ สายไฟก็เหมือนเส้นเลือดใหญ่ในบ้าน ยิ่งในวันที่เราใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกมากขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และแล็บท็อป ปลั๊กไฟห้องละสองสามจุดเช่นเดิมจึงไม่พอเสียแล้ว ควรจัดการใหม่ บ้านเก่าในไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไปมักใช้วิธีเดินสายไฟแบบตีกิ๊บ ซึ่งมีความสะดวก เดินเสร็จก็ทาสีทับได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ตอนสายไฟเสื่อมสภาพแล้วต้องเลาะสายไฟออกมา ทำให้ต้องทาสีใหม่อีก เพราะฉะนั้นหากจะเดินระบบใหม่ก็ควรจะใช้แบบท่อร้อยสายไฟไปเลย ดูแลรักษาได้ง่ายกว่า แถมยังเป็นลูกเล่นเท่ ๆ ให้บ้านได้อีกด้วย
เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
ภาพประกอบ : OIC Studio