บ้านภูมิปัญญาไทย ออกแบบด้วยแนวคิด Low Cost Solution

บ้านไทยสมัยใหม่ บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง สะท้อนภูมิปัญญาไทยและวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติอย่างพึ่งพา ออกแบบด้วยแนวคิด Low Cost Solution

บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง
หลังคาบ้านออกแบบให้มี 2 ชั้น และเว้นช่องว่างให้อากาศถ่ายเทได้เพื่อระบายความร้อน ชายคาที่ยื่นยาวรอบบ้าน เหมาะกับภูมิอากาศเมืองไทยที่มีทั้งแดดและฝนแรง
บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง
พื้นที่เดิมเป็นที่ชุ่มน้ำอยู่แล้วจึงขุดบ่อน้ำเลี้ยงปลาได้ไม่ยาก โดยให้บ้านส่วนหนึ่งยื่นลงไปในน้ำสร้างความกลมกลืนกับธรรมชาติ

บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง

วิถีชีวิตความเป็นไทยที่อยู่กับธรรมชาติยังคงเป็นตัวตนที่ฝังรากลึกอยู่ในใจทุกคนเช่นเดียวกับ คุณภาณุ โชคอภิรัตน์ ที่มาซื้อที่ดินกว่า 3 ไร่แถวปทุมธานี เพื่อสร้างบ้านสำหรับครอบครัวมาพักผ่อนในวันหยุด ซึ่งออกแบบโดย ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และทีมสถาปนิก คุณพรสิทธิ์ รัตนศรีทัย และ คุณหัสพร พุ่มขำ โดยได้รับรางวัล The Winners WA Awards (WORLD ARCHITECTURE Awards), Sixth Cycle March 2010 บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง

ทางขึ้นบ้านเป็นซุ้มประตูและบันไดภายนอกบ้านอย่างบ้านไทยเดิม แต่เปลี่ยนมาใช้โครงสร้างคอนกรีตเพื่อความทนทาน
จากที่จอดรถต้องเดินข้ามสะพานไม้มายังบ้าน ซึ่งตรงปลายสะพานอีกด้านเป็นเขตรอยต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และฝั่งตัวบ้านอยู่จังหวัดปทุมธานี
ใต้ถุนบ้านเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่อยู่สบายในทุกฤดู ซึ่งบ้านไทยเดิมมักยกใต้ถุนสูงด้วยหลายเหตุผล เช่น ป้องกันน้ำท่วม ป้องกันสัตว์ร้ายเข้าบ้าน เป็นที่เลี้ยงสัตว์ และนั่งทำงานในช่วงกลางวัน ซึ่งเย็นสบายกว่าบนบ้าน โดยออกแบบฐานเสาเป็นอ่างน้ำ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาโบราณที่ช่วยป้องกันปลวกและแมลงขึ้นบ้าน แล้วยังใช้เป็นอ่างเลี้ยงปลาไว้ดูเพลินๆ

Low Cost Solution

อาจารย์เขียนศักดิ์ได้อธิบายถึงการออกแบบว่า “พื้นที่เดิมเป็นที่ชุ่มน้ำซึ่งชาวบ้านใช้ปลูกหญ้าเลี้ยงวัว ความน่าสนใจของที่นี่คือ บริบทซึ่งเป็นทุ่งนามีความเป็นธรรมชาติสมบูรณ์ ฉะนั้นสถาปัตยกรรมที่ไปอยู่ตรงนั้นควรมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และเป็นการใช้งานวิจัยเรื่อง Low Cost Solution และลักษณะไทยสมัยใหม่มาใช้ในการออกแบบนี้ คือเป็นบ้านไทยอยู่บนพื้นฐานการใช้ของเรียบง่าย ตั้งแต่โครงสร้างที่ใช้ระบบแห้ง (Dry Process) การใช้วัสดุที่ลงตัวหรือให้เหลือเศษน้อยที่สุด อย่างการใช้กระเบื้องหลังคาที่ผลิตมายาว 4.80 เมตรโดยไม่ตัด ใช้โครงสร้างและวัสดุแบบโมดูลาร์ ปลูกหญ้าแฝกรอบคันนาป้องกันดินพังทลาย ตอนแรกตั้งใจใช้โอ่งหรือขวดคว่ำใส่ทรายเป็นฐานราก ซึ่งเป็นการทดลองงานวิจัย แต่สภาพดินอ่อน จึงต้องใช้เสาเข็มสั้นและทำอ่างที่ฐานเสาเพื่อป้องกันปลวกและแมลง โดยพยายามสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด”

บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง
แม้จะเป็นบ้านไทย แต่ใช้โครงสร้างเหล็กให้เหมาะกับยุคสมัย กรุผนังภายนอกด้วยไม้ตะแบก ปลูกต้นไม้กลางชานบ้าน ซึ่งนอกจากสวยงามแล้วยังช่วยบังแดดให้บ้านเย็น
ห้องนั่งเล่นแบบเปิดโล่งให้ต่อเนื่องกับชานบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านตกแต่งภายในเองแบบเรียบง่ายเน้นการใช้ไม้และสีเอิร์ธโทนเป็นหลัก
ทำราวกันตกด้วยเหล็กและขึงลวดสะลิงที่ดูโปร่งตาและลดระดับพื้นศาลาให้ต่ำกว่าชานบ้านเพื่อให้รู้สึกใกล้ชิดน้ำมากขึ้น
บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง
ศาลากลางน้ำเป็นจุดเด่นของบ้าน สามารถนั่งเล่นรับลมและไอเย็นจากน้ำและมองเห็นธรรมชาติได้รอบตัว ออกแบบช่องระบายอากาศที่หลังคาช่วยระบายความร้อนได้ดี

อยู่อย่างพึ่งพาธรรมชาติ

แม้เวลานี้จะเป็นช่วงบ่าย แต่ก็มีลมพัดผ่าน บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง ที่เปิดโล่ง มีชานกลางบ้านให้เย็นสบายตัว ระหว่างนั่งพักก็ได้มองดูธรรมชาติที่มีความงามเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ซึ่งคุณภาณุเล่าให้ฟังว่า “ช่วงข้าวกำลังงาม ท้องทุ่งจะเป็นสีเขียวสด พอข้าวออกรวงก็เปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง ช่วงที่เกี่ยวข้าวเสร็จจะดูเหมือนทะเลสาบเพราะชาวนาปล่อยน้ำเข้ามาท่วมนาข้าวหลังเกี่ยวข้าวเสร็จ คนเลี้ยงเป็ดจะพาเป็ดลงไปกินหอย รวมทั้งนกตามธรรมชาติก็จะลงมากินหอยด้วยเช่นกัน มาอยู่ตรงนี้จะเห็นชาวบ้านอยู่อย่างพึ่งพาธรรมชาติ”

บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง
ออกแบบผนังห้องน้ำเป็นไม้ระแนงและบานหน้าต่างที่สามารถเปิดโล่งได้จึงมีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาและระบายอากาศได้ดี
ภาพแสดงองค์ประกอบของบ้าน
บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง
บรรยากาศยามพระอาทิตย์ตกเป็นความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ซึ่งสามารถนั่งซึมซับบรรยากาศที่ศาลากลางน้ำนี้ได้ทุกวัน

บ้านไทยในรูปลักษณ์ใหม่

วิถีชีวิตคือการเรียนรู้จากธรรมชาติและสอนให้รู้จักตัวเอง ไม่ใช่การยึดติดเพียงรูปลักษณ์ที่สวยงาม แต่เข้าใจถึงแก่นของธรรมชาติที่มีความสมดุล บ้านจึงเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปตามวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงรากเหง้าของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิม และปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมให้เกิดความสมดุล ซึ่งอาจารย์เขียนศักดิ์ทิ้งท้ายไว้ว่า “สถาปัตยกรรมอยู่กับธรรมชาติอย่างเดียวไม่ได้ ที่สำคัญ ต้องตอบสนองวิถีชีวิตมนุษย์ บ้านนี้น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งในการพัฒนาการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ต่อไป”

บ้านไม้ครึ่งปูนใต้ถุนสูง
บ้านไทยโมเดิร์นอยู่ท่ามกลางทุ่งนาผสานวิถีชีวิตสมัยใหม่เข้ากับวิถีธรรมชาติที่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

เจ้าของ : คุณภาณุ โชคอภิรัตน์

สถาปนิก : ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง ทวีคูณสถาปนิก


เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : ปรัชญา จันทร์คง, ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง, นพพร ภมรสุวรรณ

สไตล์ : ประไพวดี โภคสวัสดิ์

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ บ้านผสานธรรมชาติ Humble Living โดย สำนักพิมพ์บ้านและสวน


บ้านคอนกรีตเสริมเหล็กสีสดที่เต็มไปด้วยศิลปะของผู้สืบสานโนราโรงครู

รวมบ้านสวย 4 ภาค ที่ออกแบบในสไตล์ไทยพื้นถิ่นร่วมสมัย

ติดตามบ้านและสวน