บ้านสังกะสี บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก สร้างขึ้นด้วยสังกะสี ภายใต้รูปทรงจั่วที่ยกสูงจากพื้นถึงหลังคาร่วม 8 เมตร ทำให้ลมร้อนลอยขึ้นและหมุนเวียนออกไปนอกบ้าน อีกทั้งยังหันหน้าบ้านรับทิศเหนือ-ใต้ซึ่งเป็นแนวลมพัดผ่านได้ดี
สังกะสีอาจเป็นวัสดุก่อสร้างราคาประหยัดและมักถูกนำไปใช้กับอาคารที่ไม่ได้สร้างแบบถาวรจน เราแทบไม่ค่อยได้เห็นบ้านหลังไหนเลือกใช้สังกะสีเป็นวัดสุหลักกันเลย แตกต่างไปจาก บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก หลังนี้ที่โดดเด่นด้วยวัสดุสังกะสีที่ดูแวววาวเกือบทั้งหลัง แม้จะเป็นบ้านขนาดเล็กแต่เมื่อได้ลองเข้าไปภายในแล้ว ก็รู้สึกเย็นสบายไม่แตกต่างจากบ้านทั่วไปเลย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านสังกะสีหลังนี้อยู่สบายและไม่ร้อนอย่างที่ใครๆ กังวล นั่นก็เพราะ ทำเลที่ตั้งของบ้านอยู่ภายในสวนละมุดของครอบครัว คุณอ๊อด- อรทัย เจริญเรืองเดช และคุณตู่- อภิชาติ พรหมฤทธิ์ ที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ แถมยังรับไอเย็นจากท้องร่องสวนมา เป็นบริบทเฉพาะตัว
“สังกะสีมักถูกด้อยค่า แต่เราว่าสังกะสีก็มีเสน่ห์ และเป็นงานท้าทายของเราที่จะแสดงศักยภาพ ของสังกะสี และขยายสเกลให้กลายเป็นงานสถาปัตยกรรมในโครงสร้างเหล็ก ตอนแรกเราคิดกันไว้ว่า จะสร้างเรือนสำหรับเก็บไม้เก่าที่รื้อจากเรือนเดิมในสวนละมุดนี่แหละ เป็นเรือนของปู่ย่าตายายที่มีลูกๆอยู่ 8 คน พอรื้อเรือนไม้เดิมก็มีการแบ่งส่วนประกอบต่างๆ ของบ้านไม้แจกจ่ายให้ลูกๆทั้ง 8 คนไป และคิดอยู่เหมือนกันว่าจะเอาไม้เก่าที่ได้มาสร้างบ้าน แต่ก็ตัดสินใจสร้างเรือนเก็บไม้พวกนี้ไว้ก่อน เลยเป็นที่มาของการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กและสังกะสีลอนเล็กๆละเอียด ซึ่งเป็นวัสดุราคาไม่แพง และสร้างได้เร็ว แถมมีโรงงานสังกะสีซึ่งเป็นแหล่งซื้ออยู่ที่อำเภอศรีสำโรงใกล้ๆ นี่เอง”
ด้วยความที่คุณตู่เป็นภูมิสถาปนิกและคุณอ๊อดเป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน เขาจึงไม่ใช่ แค่เพียงทำโรงเก็บไม้ง่ายๆ เท่านั้น แต่ยังใส่ฟังก์ชันทั้งส่วนนั่งเล่น ห้องนอน ชั้นลอยอเนกประสงค์ ห้องน้ำ และส่วนครัวเปิดหลังบ้าน พร้อมระเบียงไม้ใต้ร่มเงาของต้นละมุดในสวน จนกลายเป็นบ้านขนาดเล็ก ที่สวยโดดเด่นไม่เหมือนใคร
“ไหนๆ ก็สร้างแล้ว เลยอยากให้มีมุมพักผ่อนนอนเล่นได้ด้วย พื้นที่ในบ้านก็ราว 100 ตารางเมตร ออกแบบให้เป็นบ้านยกใต้ถุนสูงหน่อย เพราะที่ตรงนี้มีน้ำท่วมถึง และก็อยากให้มีลมพัดผ่านช่วยระบาย ความร้อนได้ด้วย ฐานบ้านเป็นค.ล.ส. ส่วนโครงสร้างอาคารเป็นเหล็ก นอกนั้นเราใช้สังกะสีคลุม ตั้งแต่หลังคาทรงจั่วสูง ครอบสันก็เป็นสังกะสี มาจนถึงผนังบ้าน วางแปลนโล่งๆ ง่ายๆ เน้นประตูหน้ากว้าง 2 เมตรเพื่อให้ขนของเข้าได้สะดวก พออยู่และใช้งานได้สักพักถึงได้เพิ่มชั้นลอยมาเป็นที่นอนที่นั่งเล่น อเนกประสงค์สำหรับเวลามีเพื่อนๆ มานอนด้วย
“โดนถามตลอดว่าอยู่แล้วร้อนไหม โชคดีที่เราอยู่ในสวนก็เลยไม่ร้อนมาก ช่วงร้อนสุดๆ เปิดพัดลมก็อยู่ได้นะ เย็นกว่าอยู่ข้างนอกด้วยซ้ำ เพราะจั่วหน้าบ้านที่ยกสูงมากจากพื้นถึงหลังคาก็ 8 เมตรและมีตะแกรงช่องลมทำให้ลมร้อนลอยขึ้นและหมุนเวียนออกไปนอกบ้านได้ แล้วยังหันหน้าบ้านรับทิศเหนือ-ใต้ซึ่งเป็นแนวลมพัดผ่านดีตัวสังกะสีแม้จะรับความร้อนมากแต่ก็คายความร้อนได้ดีด้วยเหมือนกันก็เลยไม่อมความร้อนไว้ ส่วนหน้าบ้านออกแบบไว้เป็นชานนั่งเล่นกว้างๆ เพิ่มชายคาด้วยแผ่นพอลิคาร์บอเนตใสๆ ช่วยกรองแดดและกันฝนแต่ยังเปิดรับแสงเข้าบ้านได้ ทำให้บ้านสว่างในตอนกลางวัน ส่วนเวลากลางคืนตัวสังกะสีสะท้อนแสงไฟให้เอฟเฟ็กต์ที่สวยไปอีกแบบดี”
แม้ภายนอกจะดูแข็งๆ ด้วยสังกะสี แต่ภายในกลับอบอุ่นอยู่สบายเพราะทั้งคู่เน้นเลือก เฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งเก่าและใหม่มาตกแต่งผสมผสาน รวมถึงส่วนประกอบไม้เก่าจากเรือนเดิม อาทิ หัวเสาไม้บ้านคุณตาคุณยาย ถังไม้ที่กลายมาเป็นแจกันในบ้าน หัวเตียงไม้เก่าที่ดัดแปลงเป็นตู้เก็บของ และที่ขาดไม่ได้เลยคืองานศิลปะภาพเขียนฝีมือคุณตู่ ซึ่งวาดเป็นงานอดิเรก โดยนำมาประดับตามมุมต่างๆ ในบ้านช่วยเพิ่มสีสัน มีชีวิตชีวา และความเป็นบ้านกึ่งแกลเลอรี่ไปในตัว
“พอบ้านเสร็จ คนแถวนี้ก็เปลี่ยนความคิดไปเลยนะว่าบ้านสังกะสีจะอยู่ไม่สบาย เพราะการตกแต่งในบ้านก็ช่วยได้เยอะเลย บางครั้งเรามีเพื่อนๆ มาค้างด้วย 7-8 คนก็อยู่ได้สบาย อยู่กับธรรมชาติของสวน ใช้ชานหลังบ้านเป็นครัวเปิด ทำหมูกระทะบ้าง นั่งแพ็กผลไม้บ้าง วาดรูปบ้าง ต่อไปในอนาคตเราอาจต่อเติมเรือนไม้เพิ่มขึ้นมาให้คุณแม่ด้วย โดยใช้ไม้เก่าที่เก็บไว้นี่แหละ”
เจ้าของ-ออกแบบ :คุณอรทัย เจริญเรืองเดช และคุณอภิชาติ พรหมฤทธิ์
ที่ตั้ง : จังหวัดสุโขทัย
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : พระจันทร์ดวงโบราณ
บ้านขนาดเล็ก ที่สวนกับบ้านเป็นพื้นที่เดียวกัน