แบบบ้านไม้ทรงปั้นหยา ที่ให้กลิ่นอายแห่งอดีต - บ้านและสวน
แบบบ้านไม้ทรงปั้นหยา

บ้านไม้ทรงปั้นหยาที่ได้แรงบันดาลใจจากพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

แบบบ้านไม้ทรงปั้นหยา ที่ให้ความรู้สึกย้อนยุคกลับไปสมัยอดีต ด้วยฝีมือช่างไม้ที่ค่อยๆบรรจงคัดไม้และเลือกใช้ไม้อย่างใจเย็นและคุ้มค่า เพื่อให้ได้บ้านไม้เรือนไทยอย่างที่เจ้าของบ้านต้องการ

แบบบ้านไม้ทรงปั้นหยา
แบบบ้านไม้ทรงปั้นหยา ทาสีขาวสะอาดตาตัดกับกรอบประตู- หน้าต่างสีเขียว รั้วระเบียงโดยรอบใช้เส้นสายที่เรียบง่าย เพิ่มความน่าสนใจให้ตัวบ้าน
ระเบียงทางเดิน
ระเบียงทางเดินหน้าบ้านปูพื้นด้วยกระเบื้องซีเมนต์ซีกรีตลายโบราณโทนสีเข้ม วางเก้าอี้ชิดผนังไว้นั่งเล่นยามบ่าย

แบบบ้านไม้ทรงปั้นหยา สีขาวสะอาดตาตัดกับเส้นสายสีเขียวของประตู-หน้าต่าง ท่ามกลางธรรมชาติของต้นไม้เขียวที่อยู่รายรอบ เหมือนพวกเราได้ย้อนยุคกลับไปสมัยคุณปู่- คุณย่ายังหนุ่มยังสาว บ้านหลังนี้เป็นของ คุณเล็ก ที่มีความใฝ่ฝันมาตลอดว่าอยากมีบ้านไม้เรือนไทย

“คิดมาตลอดว่าอยากได้ แบบบ้านไม้ทรงปั้นหยา เพราะได้ไปเห็นบ้านที่ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ของอาจารย์วราพร  สุรวดี จึงสร้างตามแบบนั้น โชคดีมากที่วันหนึ่งไปเจอบ้านไม้เก่าย่านสุขุมวิทเขากำลังจะทุบทิ้ง จึงเหมาไม้มาทั้งหมดในราคาสองแสน ซึ่งคาดว่าไม้ที่ได้มาคงพอสำหรับทำบันไดและประตู- หน้าต่าง ปรากฏว่าพอรื้อฝ้าออกถึงได้เห็นว่าโครงสร้างหลังคาเป็นไม้สักหนาทั้งหมด จึงได้ไม้มากพอสำหรับโครงสร้าง จะมีบางส่วนที่เป็นไม้ใหม่บ้าง เช่น พื้น”

บ้านหลังนี้สร้างด้วยช่างเพียงสองคน คือ “ลุงบัวลี” กับลูกมือ ซึ่งลุงบัวลีเป็นช่างไม้ฝีมือดีที่เข้าใจไม้และมีขั้นตอนในการทำงานที่ละเอียดอ่อน

“บ้านนี้ใช้เวลา 2 ปีกว่าจะเสร็จ เพราะลุงบัวลีแกเป็นช่างไม้ที่ชำนาญการเข้าไม้แบบโบราณ เราไม่สามารถไปเร่งรัดอะไรแกได้เลย เพียงแต่บอกลุงว่า เราอยากได้อะไร แล้วลุงจะไปทำมาให้

“ไม้ทุกชิ้นจะอยู่ในหัวแกหมด แบบบ้านทุกอย่างใช้วิธีบอกลุงว่าขอตามแบบนี้เป๊ะๆ ส่วนผังห้องต่างๆ ลุงเป็นคนวางให้หมด ไม่เคยรู้เลยนะ ว่าระเบียงจะกว้างยาวขนาดไหน เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับความยาวของไม้ ซึ่งลุงแกทำทุกอย่างตามขั้นตอนการทำงานของแก คนอื่นไม่เข้าใจก็อาจจะหงุดหงิดได้ เพราะแกมีการเตรียมไม้ คัดไม้ ใช้ไม้ทุกชิ้นอย่างคุ้มค่า

ชั้นล่างของบ้านยกพื้นสูงขึ้นประมาณ 80 เซนติเมตร ระเบียงด้านหน้ากรุกระเบื้องลายโบราณสีเข้ม วางเก้าอี้ไม้ไว้สำหรับนั่งพักผ่อนยามเย็น ด้านในบ้านเปิดโล่งเป็นพื้นที่ใหญ่ต่อเนื่องกัน เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ล้วนเป็นของเก่าที่คุณเล็กชื่นชอบและเก็บสะสมมานาน แต่ทุกชิ้นยังสามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเปียโน ตู้เย็น โคมไฟ หรือแม้แต่รายละเอียดชิ้นเล็กๆอย่าง ประกับ

“จำได้ว่าเคยไปเห็นที่บ้านเก่าหลังหนึ่งติดตัวประกับแบบนี้ จึงตั้งใจว่าจะทำแบบนั้นให้ได้ ซึ่งตอนนั้นบ้านใกล้จะเสร็จแล้ว แต่ยังหาไม่ได้เลย ไปเดินหาที่คลองถมเจอคู่เดียว ราคา 50 บาท ยังคิดอยู่เลยว่า แล้วเมื่อไรจะหาได้ครบ แต่พอดีไปหัวหินแล้วไปเจอร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นตึกแถว จึงลองไปถามเขาดูเผื่อจะมีหลงเหลือบ้าง เขาบอกว่าบ้านแม่ยายเขาเป็นเรือนปั้นหยา กำลังจะรื้อบ้านเพื่อเดินระบบไฟฟ้าใหม่ เขาจะโละทิ้ง จึงขอซื้อ แต่ได้มาในสภาพดำปี๋เลยนะ ต้องมาขัดใหม่เองทั้งหมด

“ชอบของเก่า ชอบในความคลาสสิก อาจจะมาจากคนละยุคสมัย แต่กลับมีความกลมกลืนกัน ถึงแม้จะเป็นของเก่า แต่ต้องใช้งานได้จริง และอยู่ในราคาที่เหมาะสมด้วย”

สวิตช์ไฟโบราณ
สวิตช์ไฟแบบเก่าที่เดินสายไฟลอยด้วยประกับทั้งหลัง เข้ากับบ้านได้เป็นอย่างดี มุมรับแขกวางโซฟาตัวใหญ่น่านั่ง โต๊ะกลางขาเหล็กรูปทรงอ่อนช้อย พื้นไม้สีธรรมชาติให้ความรู้สึกอบอุ่นน่าสัมผัส
เปียโนโบราณ
เปียโนโบราณอายุร่วมร้อยปีที่แวะเวียนไปดูที่ร้านอยู่บ่อยๆ จนเมื่อร้านจะปิดกิจการจึงได้มาในราคา 6 หมื่นบาท เก้าอี้เปียโนให้ช่างต่อขึ้นมาใหม่ ส่วนผ้าหุ้มเบาะเป็นฝีมือคุณเล็ก
วิทยุโบราณ
วิทยุโบราณเสียงดี ได้มาในราคา 2,000 บาท
โต๊ะกินข้าวไม้
โต๊ะกินข้าวที่ต้องซ่อมแซมและทำสีใหม่ รออยู่นานสองนานกว่าจะเจอเก้าอี้ที่เข้ากันได้ครบชุด พื้นไม้ด้านบนทาสีเขียวและเว้นส่วนท้องพื้นให้คงสีไม้ธรรมชาติไว้ทำให้ดูมีมิติได้อย่างน่าสนใจ
แพนทรี่
เคาน์เตอร์เก่าที่ซื้อมาซ่อมแซมใหม่จนสวยงาม ใช้นั่งจิบกาแฟยามเช้า
ชั้นวางแก้วที่บอกความต้องการกับช่างไม้ไปว่าอยากได้ที่แขวนถ้วยไอศกรีมด้วย จึงได้มาอย่างที่เห็น
เครื่องบดกาแฟแบบหมุนมือที่ใช้บดกาแฟทุกเช้า

เมื่อเดินขึ้นชั้นบน ส่วนแรกที่เจอคือโต๊ะทำงานตัวใหญ่ที่วางอยู่ระหว่างประตูระเบียงฝั่งซ้ายและขวา ทำให้มุมนี้มีลมพัดผ่านตลอดเวลา ฟากหนึ่งเป็นห้องน้ำและห้องแต่งตัวเชื่อมต่อกันอย่างเป็นสัดส่วน ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นห้องนอน ซึ่งบ้านหลังนี้จะมีเฉพาะห้องนอนเท่านั้นที่ติดแอร์ จึงมีการปรับรูปแบบหน้าต่างให้เหมาะสม ด้วยการติดแผ่นอะคริลิกเพิ่มเข้าไปเพื่อกันความเย็นไหลออก

ห้องนอนสีขาวในบรรยากาศเรียบง่าย ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวครึ้มนอกหน้าต่าง บรรยากาศแบบนี้ชวนให้ล้มตัวลงนอนเสียจริงๆ

มุมใต้บันได
มุมใต้บันไดเล็กๆใช้เป็นมุมเย็บผ้าทำงานฝีมือ บันไดกลางบ้านติดหน้าต่างตั้งแต่บริเวณชานพักสูงถึงชั้นบน แล้วกรุกระจกลายดอกพิกุลสีเขียวให้เข้ากับบ้าน
ตู้อาบน้ำโครงไม้กรุอะคริลิกแทนกระจกเพื่อความปลอดภัย ด้านในกรุกระเบื้องลายโบราณ แม้แต่อ่างล้างมือซึ่งเป็นของในยุคปัจจุบัน แต่เลือกรูปทรงที่ให้ความรู้สึกกลมกลืนกัน
มุมเล็กๆระหว่างประตูระเบียงสองข้าง จัดวางโต๊ะทำงานตัวใหญ่ ได้ทั้งความเป็นส่วนตัวและลมที่พัดผ่านได้สะดวก ผ้าม่านแบบสั้นที่คุณเล็กลงมือเย็บเองทั้งบ้าน เป็นส่วนตกแต่งเพิ่มความน่ารักให้บ้าน
นาฬิกาที่ต้องไขทุกๆ 7 วัน
ห้องนอนเรียบง่ายสีขาวสะอาดตา ผ้าม่านแบบสั้นให้ลมพัดผ่านห้องได้สะดวก
ติดกระจกที่หน้าต่างบานเกล็ดในห้องนอน เพื่อแอร์จะได้ไม่รั่วไหล

แบบบ้านไม้ทรงปั้นหยา ในสมัยก่อนนั้นนิยมทาสีมากกว่าจะโชว์เนื้อไม้ “ชอบสีเขียวอยู่แล้ว แต่จะทาบ้านสีเขียวทั้งหลังก็คงไม่ใช่ จึงเลือกใช้สีเขียวตัดกับสีขาวเป็นหลัก เช่น ภายในบ้านบริเวณโครงสร้างพื้นทาสีเขียวไข่กา แต่เว้นส่วนท้องพื้นเป็นสีไม้ธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นเส้นสายที่สวยงาม ส่วนด้านนอกตัวบ้านทาสีขาวครีมตัดกับประตู- หน้าต่างสีเขียวเข้ม และพยายามปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงากับบ้านมากขึ้น ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะจัดสวนรอบบ้านใหม่ให้สวยสดชื่น”

เจ้าของ- ออกเเบบ : คุณเล็ก


เรื่อง : jOhe

ภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู, ธนาวุฒิ โชติประดิษฐ

สไตล์: บุญยวีร์  บุนนาค

ผู้ช่วยสไตลิสต์: เกษม์จงกล  พูลล้น

บ้านไม้โคโลเนียลใต้ถุนสูง กับความทรงจำที่ผูกพัน

เรือนไม้หลังงามจากยุคล่าอาณานิคมของเมืองไทย

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ของอาจารย์วราพร สุรวดี