ศาลพระภูมิ-ศาลเจ้าที่ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ศาลพระภูมิ-ศาลเจ้าที่ สองชื่อนี้ต่างกันอย่างไร และใครเป็นคนอยู่อาศัยในบ้านเล็กๆ เหล่านี้กันแน่?

ศาลพระภูมิ-ศาลเจ้าที่ เป็นคำที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่หลายๆ คนอาจยังไม่เคยทราบว่า “ศาลพระภูมิ” และ “ศาลเจ้าที่” มีความแตกต่างกันอย่างไร มีที่มาจากไหน และใครเป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ เหล่านั้นกันแน่ วันนี้ บ้านและสวน จะมาเล่าให้ฟัง

ศาลพระภูมิ-ศาลเจ้าที่ ต่างกันอย่างไร

บ้านโดยทั่วไปนิยมตั้งทั้งศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่คู่กัน โดยให้ศาลพระภูมิอยู่ทางซ้ายมือ อาจเรียกรวมๆ ได้ว่า ศาลพระภูมิเจ้าที่ หรืออาจตั้งศาลเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ซึ่งความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างศาลทั้งสองประเภทคือ ศาลพระภูมิมักจะมีลักษณะเป็นวิหาร ตั้งอยู่บนฐานที่เป็นเสาเพียงต้นเดียวซึ่งยกระดับอยู่สูงว่าศาลเจ้าที่ ส่วนศาลเจ้าที่มักจะมีลักษณะเป็นเรือนบ้านแบบไทย ตั้งอยู่บนฐานที่มีเสา 4 ถึง 6 ต้น อยู่ในระดับต่ำกว่าศาลพระภูมิ

ทำไมศาลพระภูมิต้องตั้งบนเสา 1 ต้น?

ศาลพระภูมิ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่สิงสถิตของ “พระภูมิ” เทพารักษ์ผู้ปกปักรักษาพื้นที่และบ้านเรือน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผสมปนเปกันระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย กับศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดูที่เข้ามาในภายหลัง ความเชื่อเรื่องการตั้งศาลพระภูมิบนเสาต้นเดียวนั้น อาจมีที่มาจากหลายๆ แห่ง แต่มีตำนานหนึ่งที่กล่าวถึง ท้าวทศราช เจ้าเมืองพาลีผู้กดขี่ข่มเหงราษฎร จนถูกพระนารายณ์ลงโทษให้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เมื่อสำนึกผิดแล้ว พระนารายณ์จึงให้อภัยและให้ท้าวทศราชทำหน้าที่พระภูมิ คอยปกปักรักษาสถานที่ต่างๆ โดยประทับอยู่บนบ้านหลังเล็กที่สร้างอยู่บนเสาเพียงต้นเดียวเท่านั้น นี่จึงเป็นเงื่อนไขที่คนไทยปฏิบัติสืบต่อกันมา เพราะหากศาลพระภูมิไม่เป็นไปตามที่ท้าวทศราชรับปากกับพระนารายณ์เอาไว้แล้ว พระภูมิก็จะไม่สามารถเข้ามาสิงสถิตในศาลได้นั่นเอง

ศาลพระภูมิ โมเดิร์น
ศาลพระภูมิทรงโมเดิร์น
ศาลพระภูมิในสไตล์โมเดิร์น แต่ยังคงแนวคิดเดิมที่ต้องตั้งอยู่บนเสาต้นเดียว/ฐานเดี่ยว

ศาลเจ้าที่/ศาลตายาย ใครเป็นคนอยู่?

ศาลเจ้าที่ หรือ ศาลตายาย ตั้งขึ้นสำหรับเป็นที่อยู่ของดวงวิญญาณที่คอยปกปักรักษาบ้านเรือนหรือสถานที่นั้นๆ เช่น บรรพบุรุษ เจ้าของที่ดิน หรือเจ้าที่เจ้าทางตามความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย ศาลเจ้าที่ถือเป็นที่อยู่ของวิญญาณคนทั่วไป จึงนิยมสร้างให้มี 4 เสา เปรียบเสมือนบ้านเรือนของคนธรรมดา ซึ่งถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในลำดับถัดมาจากพระภูมิที่เป็นเทพ ศาลเจ้าที่จึงถูกสร้างให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศาลพระภูมิด้วย

ศาลพระภูมิ
ศาลเจ้าที่ดีไซน์เรียบง่าย ตั้งบนเสา 4 ต้น

ศาลพระภูมิเจ้าที่แบบร่วมสมัย

ในปัจจุบันมีการออกแบบศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่ให้มีรูปลักษณ์ที่สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมของบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะแบบโมเดิร์น มินิมัล หรือแม้แต่สไตล์ยุโรป ไม่ได้มีลักษณะเป็นปราสาทหรือบ้านเรือนไทยเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เช่นเดียวกับความเชื่อของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอตามแต่ละยุคสมัย

ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิซึ่งมีดีไซน์ล้อรับกับตัวบ้าน ผสมผสานระหว่างความเชื่อกับงานออกแบบ
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิรูปทรงโมเดิร์น ดีไซน์โดดเด่น ดูแปลกตา
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิเจ้าที่ที่ทำจากไม้เก่า ในรูปลักษณ์แบบไทยล้านนา
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิที่ออกแบบให้สอดคล้องกับบ้านในสไตล์ยุโรป

เรื่อง – Tinnakrit

ภาพ – คลังภาพบ้านและสวน


ไอเดียออกแบบ ศาลพระภูมิ-ตี่จู่เอี้ย ให้เข้ากับดีไซน์บ้าน

ข้อควรรู้ก่อน ตั้งศาลพระภูมิ

7 ไอเดีย หิ้งพระติดผนัง ไม่มีห้องพระก็กราบไหว้บูชาได้

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag