จัดสรรพื้นที่ บ้านหลังน้อย ให้คุ้มค่าและลงตัวที่สุด

ลัดเลาะไปตามหนทางที่ขนาบด้วยธรรมชาติอัน เขียวชอุ่มร่มรื่นของอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางอุณหภูมิที่เริ่มหนาวเย็นลงในช่วงปลายปี สีเหลืองอ่อนๆของ บ้านหลังน้อย ซึ่งออกแบบอย่างเรียบง่ายดูสงบกลมกลืนกับบริบทโดยรอบก็ค่อยๆเผยตัวตนให้เราได้เห็น ที่นี่เป็นบ้านพักอาศัยที่เพิ่งสร้างใหม่ เป็นส่วนขยายที่เชื่อมต่อกับ TITA Gallery พื้นที่แสดงงานที่ศิลปินและผู้รักงานศิลปะในเมืองเชียงใหม่รู้จักกันเป็น อย่างดี และร้านกาแฟวาวี ร้านกาแฟพื้นถิ่นรสละมุนลิ้นที่นักท่องเที่ยวมักมาแวะลิ้มลอง

HARMONY-IN-LITTLE-HOUSE-01-733x1024

บ้านกล่องสี่เหลี่ยมสูงสามชั้นหลังนี้มี พื้นที่ใช้สอยประมาณ 270 ตารางเมตร ผมสะดุดตากับการออกแบบจังหวะช่องเปิดของประตูและหน้าต่างทั้งบานคู่และบาน เดี่ยวที่สลับไปมา มีสัดส่วนเรียบง่ายแต่ดูสวยงาม โดยนำบานกระทุ้ง บานเกล็ด และอิฐช่องลมมาสลับใช้สร้างลูกเล่นภายนอก ทั้งยังสัมพันธ์กับประโยชน์ใช้สอยภายในอีกด้วย ผู้ออกแบบจากบริษัทสถาปนิก 49 (เชียงใหม่) จำกัด เล่าถึงความประทับใจในการออกแบบให้ฟังว่า

“ความยากของงานนี้คือมีพื้นที่ออกแบบบ้าน ค่อนข้างจำกัดเพียง 40 ตารางวา จากเนื้อที่ทั้งหมด 200 ตารางวา ซึ่งแบ่งไปทำร้านกาแฟ แกลเลอรี่ และร้านจำหน่ายงานฝีมือ และด้วยสภาพพื้นที่ที่คดเคี้ยวรวมถึงระยะร่นตามกฎหมาย การวางผังและการออกแบบโครงสร้างจึงค่อนข้างยุ่งยาก รวมถึงนี่เป็นการออกแบบบ้านของนักสะสมงานศิลปะที่มีตัวตนชัดเจน เราจะทำอย่างไรถึงนำสิ่งเหล่านี้มาใส่ไว้ในบ้านและต้องสัมพันธ์กับบริบทโดย รอบด้วย”

HARMONY-IN-LITTLE-HOUSE-02-791x1024

HARMONY-IN-LITTLE-HOUSE-03-836x1024

HARMONY-IN-LITTLE-HOUSE-05-744x1024

HARMONY-IN-LITTLE-HOUSE-08-738x1024

ผู้ออกแบบกำหนดให้ตัวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของ รั้วเพื่อประหยัดพื้นที่ ไม่ใช้รูปทรงหลังคาที่ใหญ่เกินไป แต่พยายามสร้างความเชื่อมโยงกับอาคารเดิม โดยนำแป้นเกล็ดไม้สักซึ่งปกติมักนำไปใช้ทำหลังคามาสร้างลูกเล่นให้ตัวอาคาร ด้านหน้าตรงบริเวณชั้นหนึ่ง ทำให้ความโมเดิร์นดูอ่อนนุ่มลง อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ สีเหลืองอ่อนๆของตัวอาคารนั้นแท้จริงแล้วคือสีที่นำมาจากดินในบ่อดินของ อำเภอแม่ริมที่อยู่ลึกลงไปประมาณ 200 เมตร ซึ่งมีสีเหลืองทองเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ นำมาผสมกับปูนฉาบอาคารในรอบสุดท้าย โดยคลุกเคล้ากับเศษฟางสับเพื่อเพิ่มแรงยึดเกาะ ลดการแตกร้าว เป็นเทคนิคที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเซรามิกชาวเชียงราย เจ้าของบ้านดอยดินแดง ที่นำเทคนิคจากงานเซรามิกมาประยุกต์ใช้กับงานสถาปัตยกรรมได้อย่างดี

ภายในบ้านตกแต่งอย่างเรียบง่าย เน้นแสดงสัจจะของวัสดุให้มากที่สุดด้วยการทำผิวพื้นและผนังให้คล้ายผิวปูน เปลือย นำไม้จริงที่มีพื้นผิวสวยงามตามธรรมชาติมาใช้เป็นหลัก นำของตกแต่งสไตล์พื้นถิ่นที่มีลวดลายจักสานมาใช้ร่วมกับเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์นได้อย่างลงตัว สถาปนิกแก้ปัญหาบ้านที่มีพื้นที่น้อยด้วยการออกแบบระดับระหว่างชั้นที่สูง กว่าปกติคือ 3.25 เมตรโดยไม่มีฝ้า และขยายความสูงหน้าต่างเป็น 2.80 เมตร เพื่อเพิ่มความโปร่งสบายและบรรยากาศที่ดีให้บ้านอีกด้วย

HARMONY-IN-LITTLE-HOUSE-06

HARMONY-IN-LITTLE-HOUSE-10

บ้านแต่ละหลังมีเรื่องราวแตกต่างกัน มีจังหวะในการดำเนินชีวิตช้าเร็วไม่เท่ากัน และนี่คือตัวอย่างของบ้านที่มีองค์ประกอบหลายๆอย่างสอดคล้องกัน ดูราวกับท่วงทำนองเพลงที่สอดประสานกันได้อย่างลงตัว

HARMONY-IN-LITTLE-HOUSE-09

HARMONY-IN-LITTLE-HOUSE-11-774x1024

 

เรื่องโดย : ศุภชาติ บุญแต่ง
ภาพโดย : ฤทธิรงค์ จันทองสุข