รวม เพลี้ย ศัตรูพืชตัวเล็ก ที่ต้องเฝ้าระวัง - บ้านและสวน

รวม เพลี้ย ศัตรูพืชตัวเล็ก ที่ต้องเฝ้าระวัง

เพลี้ยเป็นแมลงศัตรูพืชที่มีขนาดเล็ก และหลายสายพันธุ์มากลักษณะรูปร่างก็แตกต่างกันออกไป เป็นแมลงตัวอ่อนที่มีวงจรชีวิตสั้น แต่ขยายพันธุ์ได้เร็วมาก เพลี้ยหนึ่งตัวสามารถออกลูกได้หลายสิบตัวต่อครั้งและสามารถออกลูกได้ตลอดชีวิต จึงทำให้ระบาดได้รวดเร็ว เพลี้ย

เพลี้ยบางชนิดมีปีก บางชนิดก็สามารถกระโดดได้ไกล เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็พร้อมที่จะแพร่ระบาดในสวนไร่นาได้อย่างรวดเร็ว การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเพลี้ยแต่ละชนิดจึงจำเป็นต่อผู้ปลูกพืช จะทำให้เข้าใจถึงลักษณะการเข้าทำลายของเพลี้ย รวมไปถึงพืชที่เราปลูกนั้นเหมาะกับเพลี้ยชนิดไหนและมีวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างไรบ้าง วันนี้บ้านและสวนเรารวมเพลี้ย 4ชนิดที่พบได้บ่อย ไปดูกันว่ามีชนิดไหนที่ระบาดอยู่ในพืชของเราบ้าง เพลี้ย

ภาพ : pixabay

เพลี้ยอ่อน

เป็นแมลงที่มีปากแบบแทงดูด สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์พืชได้ ในช่วงระยะตัวอ่อนมีขนาดตัวเล็กมาก ลักษณะลำตัวอ้วนป้อมสีเหลืองอ่อน แต่เพลี้ยอ่อนบางชนิดจะมีลำตัวสีเขียวอ่อนไปจนถึงสีดำ และอาจจะมีปีกหรือไม่มีปีกก็ได้

ลักษณะการเข้าทำลาย โดยเพลี้ยอ่อนจะเข้าทำลายสร้างความเสียหายให้พืชด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆของพืชตั้งแต่ยังไม่โตเต็มวัย นอกจากนี้เพลี้ยอ่อนยังเป็นพาหะในการแพร่เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคพืชต่างๆอีกด้วย หากไม่รีบกำจัด เพลี้ยอ่อนจะสร้างความเสียหายให้พืช ซึ่งใบจะแสดงอาการเด่นชัดมากที่สุด เริ่มจากใบซีดด่าง เหลือง และจนกระทั่งหลุดร่วงไปในที่สุด หรือส่งผลให้พืชหยุดการเจริญเติบโตหากระบาดรุนแรง

เพลี้ยไฟ เพลี้ย

ปกติเพลี้ยไฟจะมีขนาดเล็ก ไม่เกิน 2 มิลลิเมตร ลำตัวเรียวยาวมีปีกแนบข้างลำตัว เมื่ออายุมากขึ้นสีจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง หรืออาจจะเป็นสีโทนส้มอมน้ำตาลในบางชนิด ช่วงที่พืชแตกใบอ่อนจะพบการระบาดของเพลี้ยไฟมากกว่าปกติ ซึ่งเพลี้ยไฟจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จึงทำให้สังเกตุเห็นได้ง่าย

ลักษณะการเข้าทำลาย เข้าทำลายด้วยการใช้ปากเจาะดูดน้ำเลี้ยงของพืช จนเห็นบริเวณที่ถูกทำลายเป็นเส้นสีขาวในระยะแรกๆ ต่อมาจึงเริ่มเหี่ยวแห้งเป็นสีน้ำตาล ถ้าเป็นยอดอ่อนจะเกิดการหงิกงอ หากระบาดอย่างรุนแรงพืชจะแคระแกร็นจนระงับการเจริญเติบโตไปในที่สุด ซึ่งในฤดูแล้งรุนแรงจนทำให้ผลหลุดร่วงได้ง่าย

เพลี้ยแป้ง

เพลี้ยแป้งมีลักษณะโดดเด่นคือมีผงแป้งสีขาวปกคลุมทั่วลำตัว รูปร่างตัวค่อนข้างอ้วนกลม สำหรับเพลี้ยแป้งตัวเมียจะลอกคราบ 3 ครั้ง ก่อนวางไข่ ซึ่งตัวผู้จะลอกคราบ 4 ครั้ง และเพลี้ยแป้งมีมิตรที่เป็นพาหะตัวสำคัญนั่นก็มด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายในวงกว้างได้เร็วขึ้น และยังมีส่วนช่วยให้เพลี้ยมีชีวิตรอดอยู่ใต้ดินเมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมอีกด้วย

ลักษณะการเข้าทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆของพืช จะชอบแฝงตัวอยู่ตามช่อดอกและยอดอ่อน และจะขับถ่ายของเหลวที่มีส่วนให้ดึงดูดราดำ เมื่อใดที่พืชมีผงสีขาวกระจุกตัว หรือกระจายตามส่วนต่างๆของต้นพืช นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า พืชได้รับความเสียหายจากเพลี้ยแป้งแล้ว ซึ่งจะทำให้พืชนั้นเหลืองซีด หงิกงอ หยุดการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตน้อยลง

เพลี้ยจักจั่นรูปลิ่ม

เพลี้ยจักจั่นเป็นแมลงจำพวกปากดูด และจากการที่มันมีแพนหาง และผงแป้งปกคลุมลำตัว จึงดูคล้ายข้าวตอกแตก มันเลยถูกตั้งฉายาว่า “แมลงข้าวตอก”

ลักษณะการเข้าทำลาย เพลี้ยจักจั่นจะเข้าทำลายโดยการดูดน้ำเลี้ยงบริเวณโคนใบเป็นอันดับแรก เราจึงจะสังเกตุเห็นความผิดปกติของใบก่อน โดยใบอ่อนจะบิดงอ ขอบใบจะแห้งกรอบและจะทิ้งสารที่ก่อให้เกิดราดำไว้ทำให้ราดำมาสร้างความเสียหายให้พืชได้อีกทอดหนึ่ง

เพลี้ยหอย

เพลี้ยหอยเป็นแมลงปากดูดที่มีขนาดเล็กมากและมีรูปร่างที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละสายพันธุ์ มีลักษณะเด่นคือมีเกราะหุ้มลำตัวที่คล้ายเปลือกหอย และยังแยกเป็นกลุ่มเกราะแข็งและเกราะอ่อนอีก เกราะหุ้มลำตัวนี้ไม่ได้มีมาตั้งแต่กำเนิด แต่จะต้องมีการลอกคราบและดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชก่อนจึงจะเริ่มสร้างเกราะหุ้มลำตัวได้

ลักษณะการเข้าทำลาย ลักษณะการสร้างความเสียหายให้พืชเพลี้ยหอยจะคล้ายกับเพลี้ยอ่อน คือเจาะดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืช จนทำให้พืชนั้นเสื่อมโทรมและหยุดการเจริญเติบโตในที่สุด นอกจากนี้ยังจะปล่อยของเหลวที่จะทำให้เชื้อราเกาะติดที่บริเวณผิวด้านนอกของพืชอีกด้วย

แนวทางการป้องกันจัดการและดูแล

การที่จะระบุวิธีป้องกันหรือกำจัดแบบเจาะจงสำหรับเพลี้ยแต่ละชนิดนั้นค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร เราสามารถใช้วิธีเดียวกันดูแลป้องกันเพลี้ยทุกชนิด เพียงแค่ต้องนำไปปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์หรือตามการระบาดในช่วงนั้นๆตามความเหมาะสม ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้

-หมั่นสังเกตและสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้เห็นสัญญาณการเริ่มระบาดและสามารถกำจัดได้ทันที ควรมีการตัดแต่งทรงพุ่มไม่ให้แน่นจนเกินไปจะช่วยให้การระบาดลดลงและดูแลจัดการง่ายเมื่อมีการระบาดของเพลี้ยอีกด้วย

-หากพบเพลี้ยจำนวนน้อยๆเราสามารถฉีดน้ำใส่บริเวณยอดเพื่อไล่เพลี้ยที่หลบซ่อนอยู่ได้ แต่ควรทำอย่างสม่ำเสมอซ้ำหลายๆครั้ง จนแน่ใจแล้วว่าจะไม่มีเพลี้ยกลับมาอีก

-หากพบเพลี้ยเริ่มระบาดแต่ยังไม่รุนแรงจนเป็นวงกว้างมากเกินไป เราสามารถตัดกิ่งที่มีเพลี้ยไปเผาทำลาย หรือหากเป็นเพลี้ยที่เกาะนิ่งอยู่กับที่ ก็สามารถใข้มือรูดทำลายได้เลย

-ใช้ปุ๋ยเร่งใบเพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อน เพื่อให้พืชแข็งแรงและแตกยอดอ่อนพร้อมกันทั้งหมด จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยให้สั้นลงได้

-คอยสังเกตแมลงพาหะ เช่น มด ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเพลี้ยบางชนิด และหลังจากกำจัดเพลี้ยชนิดที่มีการขับถ่ายของเหลวแล้ว ควรมีการฉีดพ่นสารป้องกันและยับยั้งเชื้อราทุกครั้ง

ภาพ : pixabay , คลังภาพบ้านและสวน

แหล่งอ้างอิง : เกษตร ทูเดย์


วิธีกำจัดเพลี้ยแป้ง

วิธีกำจัดเพลี้ยอ่อน