แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม

50 แบบบ้านสวน – บ้านฟาร์ม สำหรับคนรักธรรมชาติ

แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม
แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม

บ้านไม้กลางทุ่งนา ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ

  • เจ้าของ : คุณรวิษฎาวิมล หฤทรังสรรค์
  • ออกแบบสถาปัตยกรรม : ช่างเฮ็ดแบบ โดยคุณสุริยา เขาทอง

บ้านไม้กลางทุ่งนาที่มีความเป็นอีสานผสมล้านนา โดยประยุกต์ฟังก์ชันและองค์ประกอบให้ทันสมัยขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาที่มองเห็นความสวยงามของธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล >> อ่านต่อ

บ้านมะค่าโมง บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่มีลมโกรกตลอดทั้งปี

  • เจ้าของ : คุณธีระศักดิ์-คุณชื่นประภา พรหมลา
  • ออกแบบ : คุณธีระศักดิ์ พรหมลา

บ้านไม้ใต้ถุนสูงหลังนี้สร้างขึ้นด้วยงบประมาณสามแสนบาทที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของอดีตบาร์เทนเดอร์และพนักงานบัญชีซึ่งหันหลังให้ชีวิตเมืองกรุงกลับสู่ภูมิลำเนาในจังหวัดนครราชสีมา โดยเลือกใช้ไม้เก่าจากการรื้อบ้านของคุณยายที่ยังคงมีร่องรอยของตะปูเดิมๆ มาประกอบใหม่ด้วยฝีมือของช่างไม้เพียงคนเดียว ใช้เวลาออกแบบก่อสร้างรวม 8 เดือน จนกลายมาเป็นบ้านขนาดพอดีสำหรับอยู่กันสองคน ซึ่งมีเพียงห้องนอน ห้องน้ำ เน้นเป็นที่นั่งเล่นกว้าง ๆ สบาย ๆ ที่อยู่ได้สบายทั้งกายและใจ >> อ่านต่อ

แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม
แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม

บ้านกระต๊อบชนบท บรรยากาศรีสอร์ท วิวดอยเชียงใหม่

  • เจ้าของ: พันตำรวจเอก เกรียงศักดิ์ กัลยาวัฒนเจริญ
  • สถาปนิก: ผดุง ปาลี ร่วมออกแบบโดย พันตำรวจเอก เกรียงศักดิ์ กัลยาวัฒนเจริญ

บ้านหลังนี้ตั้งใจให้มีบรรยากาศแบบ บ้านกระต๊อบชนบท ที่เรียบง่าย แต่ตกแต่งให้สวยงาม ดูสบาย ที่สำคัญยังมีสวนซึ่งเก็บผลิตผลไปใช้จริงในร้านอาหารและโรงแรม พร้อมไก่อารมณ์ดีอีกกว่า 50 ตัว >> อ่านต่อ

บ้านไม้ชั้นเดียวกลางสวนผลไม้ที่ออกแบบตามความพอดีของชีวิต

  • เจ้าของ : คุณนพดล ศรีเกียรติขจร
  • ออกแบบ : บริษัทสถาปนิก สเปซไทม์ จำกัด โดยคุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล

แบบบ้านไม้ชั้นเดียวที่วางแปลนโดยมีเรือนเล็กๆ 4 หลังอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เชื่อมต่อด้วยระเบียงไม้ ซึ่งใช้เป็นทั้งทางสัญจรในบ้านและพื้นที่อเนกประสงค์ ท่ามกลางบรรยากาศของสวนผลไม้ที่เปิดมุมมองสู่บ่อน้ำขนาดใหญ่และวิวภูเขาด้านหลัง >> อ่านต่อ

แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม
แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม

บ้านกลางแปลง เรียบโล่ง โปร่งสบายในพื้นที่เกษตรกรรม

  • เจ้าของ : ครอบครัวกิกคาวะ
  • ออกแบบ : คุณมาซาชิ กิกคาวะ และคุณอิเคดะ ฮิซาชิ

บ้านไม้กลางฟาร์มรูปทรงทันสมัย ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางแปลงเกษตรได้อย่างกลมกลืนน่าอัศจรรย์ โดยออกแบบเป็นบ้านชั้นเดียวที่มีรูปทรงเรียบง่าย ภายในโปร่งโล่ง ที่สำคัญมีฝ้าเพดานสูง แปลนจึงออกมาเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดาดูคล้ายห้องขนาดใหญ่ แต่ละห้องมีพาร์ทิชันสามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้ เผื่อบางเวลาต้องการแบ่งพื้นที่เพื่อความเป็นสัดส่วนชัดเจน อีกทั้งยังช่วยเชื่อมบ้านกับธรรมชาติ รวมไปถึงแปลงเกษตรที่อยู่รายล้อม นอกจากนี้ผู้ออกแบบยังตั้งใจดีไซน์หน้าต่างบานใหญ่ให้อยู่ทางทิศใต้เพื่อเปิดรับลมเย็นสบายด้วย >> อ่านต่อ

แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม
แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม

บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น ในฟาร์มสเตย์บนเนินเขาสวย

  • เจ้าของ-ออกแบบ : คุณสิทธิโชค ยอดรักษ์ และคุณสรัญภร พงศ์พฤกษา

บ้านชั้นเดียวที่มีกลิ่นอายแบบญี่ปุ่นชัดเจนหลังนี้มีชื่อว่า “วาบิซาบิ” เจ้าของบ้านนำวัสดุไม้ไทยๆ อย่างไม้ประดู่ ไม้มะค่า ที่รื้อจากบ้านเก่าผสมกับไม้มังคุด ไม้มะขาม ไม้ขนุน ไม้ตำเสาหรือกันเกราที่เก็บมาจากภาคใต้มาใช้เป็นวัสดุหลัก ร่วมกับวัสดุอื่นที่หาง่ายในท้องถิ่น รวมถึงไม้กระพี้เขาควายที่นำมาใช้เป็นเสา 6 ต้นภายในบ้าน แต่ออกแบบจัดวางองค์ประกอบภายนอกและภายในให้ดูเหมือนเรียวคังหรือบ้านพักสไตล์ญี่ปุ่น เมื่อโอบล้อมด้วยวิวทิวทัศน์กลางเนินเขาสวยที่ทำแปลงเกษตรแบบพึ่งพาตัวเองไปด้วย ทำให้นึกว่าเป็นบ้านชนบทของญี่ปุ่นได้เลย >> อ่านต่อ

แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม
แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม

บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนาที่จังหวัดสกลนคร

บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา ที่ตอบโจทย์เจ้าของบ้าน ซึ่งต้องการบ้านกลางทุ่งนาเอาไว้ถ่ายรูปเหมือนเป็นสตูดิโอส่วนตัว รวมถึงใช้เป็นมุมรับรองเพื่อนๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่ชวนให้เผลอคิดว่าเป็นชนบทสักแห่งในประเทศญี่ปุ่น แต่ที่จริงคือตั้งอยู่ในภาคอีสานตอนบนของประเทศไทย >> อ่านต่อ

อยู่ตามวิถีธรรมชาติในบ้านชนบทที่บ้านต้นเต๊า

  • เจ้าของ : คุณภัคธิมา วรศิริ และคุณชิติพัทธ์ วังยาว
  • ออกแบบ : คุณภัคธิมา วรศิริ
  • ออกแบบวิศวกรรม : คุณโอภาส วรศิริ
  • รับเหมาก่อสร้าง : คุณชิติพัทธ์ วังยาว และทีมช่างบ้านบัว

บ้านที่นำเอาเอกลักษณ์ของบ้านในพื้นที่บ้านบัว จังหวัดพะเยากับรูปแบบของหลองข้าวซึ่งเป็นอาคารเก็บข้าวเปลือกมาใช้ แต่ปรับเปลี่ยนวัสดุและสีสันให้เป็นโครงสร้างเหล็กผสมปูน และเน้นสีขาวเพื่อความสะอาดตา รวมทั้งยังผสมผสานการใช้งานในรูปแบบวิถีชีวิตปัจจุบันเข้ากับลักษณะการใช้งานใต้ถุนและชานบ้านอย่างสมัยโบราณ โดยนอกจากสร้างบ้านไว้อยู่เองแล้ว ยังทำไว้สำหรับรองรับแขกที่มาพักแบบโฮมสเตย์ พร้อมทั้งเปิดเป็นคาเฟ่เล็กๆด้วย ความน่าสนใจของบ้านหลังนี้คือการยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมในหน้าน้ำ เพราะอยู่ติดกับคลองของหมู่บ้าน แต่ด้วยการออกแบบที่เข้าใจในบริบท ทำให้บ้านหลังนี้สามารถอยู่กับน้ำท่วมได้โดยไม่เป็นปัญหา เพราะเพียงแค่ปิดคาเฟ่ชั้นล่างและย้ายของขึ้นสู่ชั้นบนเพื่อให้น้ำสามารถผ่านใต้ถุนบ้านไปได้ และเปลี่ยนไปสัญจรโดยใช้สะพานเชื่อมชั้นสองของบ้านออกสู่ถนนแทน จนกว่าหน้าน้ำจะหมด ส่วนบริเวณโดยรอบบ้านก็ทำเป็นสวนครัวและทดลองปลูกข้าวไว้รับประทานเองอีกด้วย >> อ่านต่อ

แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม
แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม

บ้านไร่กลางทุ่งที่สร้างด้วยเงินเก็บสามแสนและน้ำพักน้ำแรงฉบับคนบ้านนอก

  • เจ้าของ: คุณในดวงตา ปทุมสูติ และคุณรุ่งโรจน์ ไกรบุตร

บ้านไร่หลังเล็กที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงและพลังใจของผู้เป็นเจ้าของที่ละทิ้งชีวิตวุ่นวายในเมืองกรุง มุ่งมั่นกลับมาทำกินบนผืนดินของบรรพบุรุษที่จังหวัดสุพรรณบุรี โครงสร้างบ้านเสร็จด้วยฝีมือช่างชาวบ้านที่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่อจากนั้นก็เป็นสองมือของเจ้าของบ้านฝ่ายชายที่ทำงานไม้ทั้งหมด คือ ผนัง ประตูหน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์บางส่วน นอกจากนี้ยังได้เตรียมแหล่งอาหารไว้ด้วย ทั้งแปลงผักสวนครัวที่เปลี่ยนชนิดผักที่ปลูกบ้าง ถือเป็นวิธีธรรมชาติเพื่อป้องกันโรคและแมลงซึ่งมักลุกลามเมื่อปลูกผักชนิดเดียวติดต่อกัน รวมถึงมียุ้งข้าวสำหรับเก็บกินในบ้าน มีบ่อน้ำธรรมชาติใช้อุปโภค โดยขุดบ่อและปลูกไผ่โดยรอบเป็นอาณาเขต ไผ่รวกไว้กินหน่อ ไผ่หนามมีลำใหญ่ไว้ใช้ทำรั้ว ส่วนหนึ่งเป็นดงกล้วย อีกส่วนทำนา นอกนั้นปลูกไม้ยืนต้นไว้ใช้ไม้ นับเป็นบ้านไร่แสนสุขที่น่าอยู่จริงๆ >> อ่านต่อ

แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม
แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม

วางจิต ปล่อยใจ ที่ไร่เอกเขนก

  • เจ้าของ: คุณเอกสิทธิ์ รัชตะกิตติสุนทร และคุณกมลวรรณ เปรมฤทัย

เมื่อมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ ออกจากคอมฟอร์ตโซน ตัดสินใจเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่รกร้างข้างทางในอําเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้กลายเป็น “ไร่เอกเขนก” ที่ปลูกผักแบบอินทรีย์ โดยน้อมนําพระราชดํารัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เกิดเป็นอริยสูตร 4 คือ พร้อม พอ เพียร และพัฒนา ภายในไร่มีอาคารที่ออกแบบเป็นบ้านดินสีคราม นอกจากเปิดเป็นคาเฟ่แล้ว ยังเป็นที่พักอาศัยของเจ้าของบ้าน ด้วยความเป็นบ้านดินจึงทําให้อากาศภายในบ้านค่อนข้างคงที่ไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัด จึงให้ความรู้สึกสบายๆ ในส่วนของไร่ปลูกผักนั้น เจ้าของบ้านได้ให้ชาวบ้านที่มีความถนัดในแต่ละด้านมาช่วยดูแล ซึ่งเรียกว่า “พ่อผัก-แม่ผัก” โดยที่นี่เรียกผักปลอดสารพิษว่า “ผักปลอดกิเลส” เพราะไม่ปลูกนอกฤดูกาล ไม่มีสารเร่งผลผลิต ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม จึงทําให้ผักที่ได้มีความงามตามธรรมชาติ พร้อมส่งตรงถึงโรงแรมและร้านอาหารในเชียงใหม่ รวมถึงมีจําหน่ายที่ไร่ด้วย >> อ่านต่อ

แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม
แบบบ้านสวนบ้านฟาร์ม