บ้านอาจ้อ มิวเซียม โฮมสเตย์ 

บ้านอาจ้อ มิวเซียม โฮมสเตย์ สถาปัตยกรรมในยุครุ่งเรืองของเหมืองแร่ภูเก็ต

บ้านอาจ้อ มิวเซียม โฮมสเตย์ 
บ้านอาจ้อ มิวเซียม โฮมสเตย์ 

เลียบถนนเทพกระษัตรีตัดกับทางที่มุ่งตรงสู่หาดไม้ขาวและสนามบินนานาชาติภูเก็ต นานมาแล้วมีบ้านหลังหนึ่งตั้งตระหง่านให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้ชื่นชมและชวนสงสัยถึงความเป็นมา จนกระทั่งประตูบ้านหลังนี้ได้เปิดออกอีกครั้ง พร้อมให้ผู้ที่เคยหลงใหลและคนหน้าใหม่ที่อยากรู้เข้ามาเยือนและหลงเสน่ห์บ้านหลังนี้ในชื่อของ บ้านอาจ้อ มิวเซียม โฮมสเตย์  (อาจ้อ หมายถึง ทวด)

บ้านอาจ้อ มิวเซียม โฮมสเตย์ 
บ่อนํ้าหน้าบ้านอาจ้อเป็นแหล่งนํ้าจืดไว้อุปโภคตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากภูเก็ตมีภูมิประเทศเป็นเกาะ จึงจำเป็นต้องมีแหล่งนํ้าจืดในที่ดิน นอกจากใช้ประโยชน์แล้ว ยังช่วยให้บ้านมีภูมิทัศน์ที่สวยงามขึ้นอีกด้วย
บ้านอาจ้อ มิวเซียม โฮมสเตย์ 
บ้านอาจ้อก่อสร้างและแล้วเสร็จในช่วงปี 2479  ถือเป็นบ้านสไตล์โคโลเนียลที่ได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโค ดังจะเห็นได้จากมุมของบ้านที่ออกแบบให้มีลักษณะโค้งมนและมีรายละเอียดที่ดูเรียบง่ายกว่าสถาปัตยกรรมในยุคก่อน

บ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านตากอากาศ 3 ชั้น 8 ห้องของคหบดีนามว่า ตันจิ้นหงวน หรือหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ผู้บุกเบิกธุรกิจทำเหมืองแร่ในจังหวัดภูเก็ต และเป็นต้นตระกูลหงษ์หยก หนึ่งในตระกูลเก่าแก่ของจังหวัดภูเก็ต โดยใช้เป็นบ้านพักในช่วงที่ต้องมาคุมงานที่เหมือง แทนการนอนที่โรงแรมหรือกลับไปพักที่บ้านในตัวเมืองซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณเหมืองมาก รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นสไตล์ตะวันตกที่มีกลิ่นอายของอาร์ตเดโคผสมอิตาเลียนวิลล่าและวัฒนธรรมจีนได้อย่างลงตัว สร้างแล้วเสร็จราวปี 2479 แต่เนื่องจากระยะหลังลูกหลานในตระกูลเริ่มกลับไปทำงานในเมืองมากขึ้น ทำ ให้บ้านหลังนี้ถูกปิดตายนานถึง 37 ปี จนกระทั่ง คุณจุ๋ม -อรสา โตสว่าง คุณโอ๊ค – บรรลุ และ คุณอ๊อด – สัจจ หงษ์หยก  ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลตัดสินใจรีโนเวตบ้านหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อเป็นของขวัญมอบให้แด่อาก๊อง (ปู่) คุณณรงค์ หงษ์หยก ในวัย 90 ปีที่ป่วยอยู่ ได้กลับมาเห็นบ้านหลังนี้ที่ในอดีตท่านเคยเติบโต ใช้ชีวิต รวมถึงแต่งงานและเลี้ยงลูกๆ อยู่ที่บ้านหลังนี้

ทางเข้าบ้าน
ม้านั่งหน้าบ้านถือว่าเป็นของสำคัญที่ยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ด้วยรูปทรงที่ออกแบบมาให้โค้งรับกับมุมระเบียงหน้าบ้านพอดี ซึ่งเป็นของที่ยากจะหาช่างฝีมือในปัจจุบันทำขึ้นใหม่ได้
โถงหน้าบ้าน
ฉ่ายไบ๊ หรือผ้าฉาย คือหนึ่งในของประจำตระกูลที่นำมาประดับบริเวณประตูบ้านของคนไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ตอย่างสวยงาม ซึ่งแต่ละบ้านก็จะมีลักษณะรูปทรงและรายละเอียดแตกต่างกันไป มักใช้ในเทศกาลตรุษจีนหรืองานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่
คุณจุ๋ม – อรสา โตสว่าง สมาชิกในครอบครัวหงษ์หยก ผู้เป็นเจ้าของบ้านและหัวเรือใหญ่ที่ช่วยให้โครงการรีโนเวตบ้านอาจ้อสำเร็จได้ด้วยดี 
ผนังเพ้นต์ภาพ
ด้วยความที่บ้านหลังนี้เป็นบ้านพักตากอากาศ จึงไม่มีส่วนที่เป็นทางการสำหรับรับแขกเหมือนบ้านในเมือง เพราะถือว่าอยู่เอง ลักษณะของห้องโถงจึงโล่งสบาย สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ง่าย
ผนังตกแต่งรูป
ข้าวของเกือบทั้งหมดเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่หาจากบ้านหลังต่างๆของสมาชิกในครอบครัวหงษ์หยก ช่วยสร้างบรรยากาศของบ้านเก่าในภูเก็ตที่ดูสมบูรณ์ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือภาพถ่ายที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้เป็นอย่างดี

“ระหว่างที่เราทำบ้านหลังนี้ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ปี อาก๊องได้ฟังเพียงคำบอกเล่าของเด็กๆ อย่างเดียวว่าทำบ้านไปถึงไหนแล้ว จนในวันที่เราบอกว่าบ้านหลังนี้เสร็จพร้อมแล้ว เราก็เอาป้ายชื่อนามสกุลขึ้น สมควรแก่เวลาที่ต้องพาอาก๊องมาดูด้วยตัวเอง พอท่านได้เห็นก็นํ้าตาไหลเลย ในวันปกติอาก๊องจะต้องนอนตอนเที่ยง แต่วันนั้นนั่งตั้งแต่เช้ายันเย็น แล้วหัวเราะไม่หยุด เล่นดนตรีไม่หยุด อาก๊องรู้สึกว่าหายป่วยเลย ท่านเป็นคนชอบเล่นดนตรี เกิดมาเพื่อเล่นดนตรีเพราะฉะนั้นจึงมีเครื่องดนตรีอยู่เต็มบ้าน” คุณจุ๋มเล่า

รูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านยังคงเก็บรักษาให้มีลักษณะคงเดิมให้มากที่สุด โดยแทบไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเลย เพราะถึงแม้ว่าบ้านจะไม่ได้มีใครอยู่อาศัยมานาน แต่คนรุ่นก่อนก็ยังหมั่นมาตรวจตราซ่อมแซมอยู่เสมอ ดังนั้นการรีโนเวตจึงเป็นการซ่อมแซมแค่บางจุดเล็กน้อย และปรับตำแหน่งพื้นที่บางจุดให้สะดวกต่อการใช้งานในปัจจุบัน เช่นเดียวกับการออกแบบภายในที่ยังคงเก็บรักษาสิ่งดั้งเดิมของบ้าน แม้กระทั่งสีทาผนังก็ยังคงเป็นสีเดิม แต่เพิ่มเติมด้วยภาพวาดสีนํ้าลายดอกโบตั๋นซึ่งแทรกอยู่ในทุกส่วนของบ้าน ร่วมกับบรรดาของเก่าซึ่งล้วนเป็นข้าวของที่เคยใช้จริงในบ้านหลังนี้  รวมถึงเป็นของหายากในยุคสมัยเดียวกัน ซึ่งมาจากบ้านของอาก๊องในเมืองเองและจากบ้านหลังต่างๆ ของบรรดาญาติที่อาศัยในเมืองที่เก็บสะสมเอาไว้ โดยนำมาจัดวางเพื่อสร้างบรรยากาศให้กลิ่นอายความรู้สึกและความทรงจำของบ้านกลับคืนมา อีกทั้งยังเป็นการให้ความรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ผู้มาเยือนให้ได้รู้จักวิถีชีวิตและเรื่องราวความเป็นอยู่ที่มีเสน่ห์ เหมือนได้ย้อนกลับไปในปี 2479 จริงๆ

มุมนั่งเล่น
มุมนั่งเล่นในอดีตซึ่งมีทั้งโต๊ะสำหรับเล่นไพ่นกกระจอก โทรทัศน์โบราณ และที่ขาดไม่ได้คือเปียโน ซึ่งอาก๊องมักเล่นเป็นงานอดิเรกอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆภายในบ้าน
มุนนั่งเล่น
ปีกอีกด้านหนึ่งของบ้านที่จำลองเป็นมุมห้องทำงานของอาจ้อชาย มีทั้งมุมนั่งปรึกษางานและเครื่องไม้เครื่องมือ รวมทั้งเอกสารโบราณจัดแสดงอยู่
ส่วนรับประทานอาหาร
โรงครัวหลังบ้านดัดแปลงเป็นร้านอาหารโต๊ะแดง มีจุดเด่นคือวางโต๊ะสีแดงยาวกลางร้าน ให้บรรยากาศอบอุ่นเหมือนการรับประทานอาหารเป็นครอบครัวใหญ่ และมีเก้าอี้ของหัวหน้าครอบครัววางอยู่หัวโต๊ะ
ผนังตกแต่งรูป
หนึ่งในผลงานศิลปะจากงาน Bangkok Art Biennale นำมาจัดแสดงในส่วนร้านอาหาร ช่วยเติมแต่งภาพวิถีชีวิตของคนในอดีตได้ดี
ผนังและกระเบื้องพื้นที่ผ่านกาลเวลามานานพอกับตัวบ้าน จนปัจจุบันเริ่มมีร่องรอยความไม่เรียบของผิวสัมผัส กลายเป็นเสน่ห์และความสวยงามที่ไม่สามารถทำเลียนแบบได้ง่ายๆ
ผนังเพ้นต์รูป
ภาพวาดดอกโบตั๋น ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำราชสำนักจีน  ตัวแทนของสตรีจากฝีมือการลงสีของคุณลูก้า ศิลปินชาวรัสเซีย และกลายมาเป็นโลโก้ของบ้านอาจ้อในที่สุด โดยตรงกลางออกแบบให้คล้ายใบหน้าของผู้หญิง เพื่อสื่อถึงอาจ้อหญิง
บันไดโบราณ
บันไดแต่ละขั้นตกแต่งด้วยตัวอักษรซึ่งเป็นสุภาษิตข้อคิดภาษาอังกฤษ ใต้บันไดเป็นมุมนั่งเล่นที่มีตู้เซฟโบราณซึ่งมีนํ้าหนักมากและเป็นของหายากในปัจจุบันวางประดับด้านข้าง

“สิ่งที่ได้รับมันมากกว่าการซ่อมบ้าน ทำให้เรารู้เลยว่าเด็กของเรามีศักยภาพแค่ไหน เด็กพวกนั้นสามารถเดินได้ด้วยตัวเขาเองอย่างที่อาก๊องอยากเห็น โปรเจ็กต์นี้พิสูจน์คนหลายคนมากว่าใครทำอะไรได้ แล้วใครถนัดอะไร เราค้นพบว่าเราสามารถทำตกแต่งภายในได้ดี อ๊อดและโอ๊คก็ซ่อมแซมบ้านจนสำเร็จ จี้สาว (พี่สาว) เองก็ค้นพบว่าตัวเองมีความสามารถมากกว่าการเป็นครูคหกรรม เพราะทำตั้งแต่ม่านและงานเย็บทุกอย่าง” คุณจุ๋มเล่า

ผนังตกแต่งรูป
ทุกผนังในบ้านจัดรูปภาพเป็นหมวดต่างๆ ทั้งภาพงานแต่งงาน ภาพในวัยเด็ก และภาพวิถีชีวิต ซึ่งกลายเป็นมุมถ่ายภาพสุดเก๋ให้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมชม
หน้าต่างคลาสสิก
ระเบียงหน้าบ้านบริเวณชั้น 2 ในอดีตเป็นที่สั่งการของอาจ้อหญิง ที่ช่วยให้สามารถสั่งงานกับคนงานกว่าร้อยคนได้ในคราวเดียวทุกๆเช้า
เตียงโบราณ
บรรยากาศภายในห้องพักประดับตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของที่ให้กลิ่นอายแบบปีนัง ซึ่งเป็นการผสมทางวัฒนธรรมของเมืองท่าในภูมิภาคนี้รวมถึงภูเก็ต พร้อมระเบียงให้ออกไปชมวิวสวนมะพร้าวหลังบ้าน
มุมแต่งตัว
. โต๊ะเครื่องแป้งสำหรับแต่งตัวในห้องพัก  เพื่อให้ผู้เข้าพักได้รับความรู้สึกเหมือนการมาพักที่บ้านของเพื่อนมากกว่าการพักในโรงแรมทั่วไป
เตียงนอน
เตียงนอนเป็นของทำใหม่ให้มีรูปทรงแบบวินเทจในขนาดควีนไซส์คล้ายกับเตียงโบราณที่เคยใช้ในบ้านหลังนี้

นอกจากรีโนเวตบ้านเพื่อเป็นของขวัญให้แด่อาก๊องและใช้เป็นพิพิธภัณฑ์รวมถึงโฮมสเตย์แล้ว จุดประสงค์อีกอย่างของที่นี่คือการเปิดมูลนิธิณรงค์ หงษ์หยก นำรายได้ที่ได้จากค่าเข้าชมและเข้าพักสมทบทุนเพื่อสนับสนุนอาชีพให้เด็กยากจนได้ปลูกผักในโรงเรียนหงษ์หยกบำรุง โดยผลผลิตที่เหลือจากการนำไปปรุงอาหารกลางวันของทางโรงเรียน บ้านอาจ้อจะรับซื้อในราคาตามท้องตลาดที่ยุติธรรม เช่นเดียวกับคนเฝ้าสวนของบ้านซึ่งอยู่กับมะพร้าวมาทั้งชีวิต ก็ฝึกให้ทำคุกกี้มะพร้าวมาขายให้บ้านอาจ้อ โดยกำไรทั้งหมดจะแบ่งให้เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งของพวกเขาด้วย

ห้องใต้หลังคา
ห้องใต้หลังคาจัดแสดงเป็นห้องหอสำหรับใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน อีกทั้งยังใช้เป็นห้องจัดแสดงความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านในอดีตไว้อย่างครบถ้วน
ผนังตกแต่งรูป
มุมน่ารักของบ้านอาจ้ออีกมุมคือโปสต์การ์ดและคำอวยพรจากผู้ที่เคยมาเยี่ยมเยือน
บันไดโบราณ
บันไดหลังบ้านสำหรับใช้เป็นทางสัญจรอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันออกแบบให้มีผนังไม้เลื้อยสร้างความสดชื่นได้ และใช้เป็นทางสำหรับลงมาที่ห้องนํ้าอีกด้วย
ห้องน้ำ
ห้องนํ้าเป็นส่วนที่ทำใหม่ เป็นอาคารที่แยกจากตัวบ้านเดิมเพื่อความสะดวกในการใช้งานที่เหมาะสมกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น โดยแขกแต่ละห้องจะยังคงใช้ห้องนํ้าของห้องตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้ร่วมกับห้องอื่น
รายละเอียดและวิถีชีวิตหลายอย่างภายในบ้านยังคงเก็บรักษาไว้เป็นความรู้ ทั้งการออกแบบรางระบายนํ้ารอบบ้านไปจนถึงการหมักเครื่องปรุงสำหรับเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารของคนในพื้นที่

ความทรงจำที่เลยผ่านกลับมาคงอยู่และสานต่อให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวหงษ์หยกภายในบ้านหลังนี้อีกครั้ง แต่ที่ดูจะมีความหมายมากกว่านั้นคือ บ้านหลังนี้ได้กลายเป็นความทรงจำแสนสวยงามอันทรงคุณค่าที่ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของใครอีกหลายคนที่จะผ่านเข้ามาและนำติดตัวเขาตลอดไป

บ้านอาจ้อ มิวเซียม โฮมสเตย์ 102 ถนนเทพกระษัตรี ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 

โทรศัพท์ 06-2459-8889 


เรื่อง : ปัญชัช

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข

รีโนเวตตึกแถวสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ให้เป็นบ้านและแกลเลอรี่แสนสวย

วิลล่า มูเซ่ : ย้อนเวลาไปกับบ้านไทยยุคโคโลเนียลที่บูรณะเป็นแหล่งเรียนรู้