การสร้าง-ซ่อม-ต่อเติมบ้านมักเกิดสารพัด ปัญหาบ้าน ซึ่งหากรู้วิธีป้องกันและแก้ไข ก็ช่วยลดความเสียหายได้อย่างมาก เราจึงรวม 20 ปัญหาที่มักเจอ พร้อมการแก้ไข ปัญหาบ้าน มาฝากกัน
1.ลดปัญหาผนังฉาบปูนแตกลายงา
การแตกลายงามักเกิดจากปูนฉาบแห้งเร็วเกินไป เพราะน้ำซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปูนเซ็ตตัวจนแข็งแรง ระเหยเร็วเกินไป หรือน้ำถูกอิฐดูดไปในระหว่างฉาบ จึงเกิดการแตกลายงาได้ โดยวิธีฉาบปูนบนผนังก่ออิฐมอญที่ลดการแตกลายงา คือ ปัญหาบ้าน
- นำอิฐแช่น้ำก่อน 1 ชั่วโมง หรือใช้สายยางฉีดน้ำให้อิฐชุ่ม เพื่อช่วยให้อิฐอิ่มน้ำ จะได้ไม่มีการแย่งน้ำจากเนื้อปูนก่อ
- หลังจากก่อเสร็จแล้ว ควรทิ้งช่วงให้ชั้นปูนก่ออยู่ตัว ก่อนทำการฉาบต่อไป ซึ่งก่อนฉาบ 1 วัน ควรมีการรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ก่อน และรดน้ำซ้ำอีกครั้งในเช้าวันฉาบ
- ทำการบ่มผนัง โดยรดน้ำผนังที่ฉาบเสร็จแล้วต่อเนื่อง 3-7 วัน อย่างน้อยวันละ1 ครั้ง
- ป้องกันผนังที่ฉาบแล้วไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรง เพราะจะทำให้น้ำระเหยเร็วเกินไป
- ส่วนที่โดนความร้อนมาก มีการกรีดผนัง หรือจุดที่เสี่ยงกับการแตกร้าว ควรกรตะแกรงกรงไก่ก่อนฉาบปูน
2.ป้องกันมุมผนังช่องประตู-หน้าต่างร้าวได้อย่างไร
ถ้าเป็นรอยร้าวเล็กๆ มักเกิดกับวงกบไม้ที่มีการยืดหดตัวสูง หรือไม่ได้ใส่ตะแกรงลวดกรงไก่บริเวณรอยต่อขอบปูนกับวงกบ ซึ่งไม่มีอันตรายเพราะเป็นเฉพาะผิวปูน แต่ถ้ารอยร้าวค่อนข้างใหญ่และลาม อาจเกิดจากการก่อสร้างผนังช่องเปิดไม่ได้ทำเสาเอ็น-คานทับหลัง หรือทำไม่ถูกต้อง โดยเสาเอ็น-คานทับหลังทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหรือโครงเหล็กที่ถูกต้องจะต้องทำไว้โดยรอบช่องเปิด และยึดกับคานด้านบนและคานด้านล่างของผนัง
3.ทำไมบ้านสร้างใหม่ แต่พังเร็ว พังหลายจุด
หากบ้านมีปัญหาหลายจุดเกิดความเสียหายเร็วกว่าที่ควรเป็น มักเกิดจากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นหากเป็นบ้านพร้อมอยู่ เช่น บ้านจัดสรร ห้องคอนโดมิเนียม ซึ่งเราไม่เห็นขั้นตอนการก่อสร้าง จึงต้องตรวจรับบ้านก่อนโอนให้ละเอียด ส่วนบ้านสร้างเอง เจ้าของบ้านสามารถเช็กจากสัญญา แบบก่อสร้าง และ BOQ (ย่อมาจาก Bill of Quantities หรือใบแสดงรายการวัสดุและค่าใช้จ่าย) ซึ่งในแบบก่อสร้างจะระบุการใช้วัสดุและการติดตั้งเบื้องต้นไว้ ส่วน BOQ นอกจากจะใช้ตรวจสอบราคาแล้ว ในนั้นยังแจกแจงรายการของประเภทงานและวัสดุไว้อย่างชัดเจน จึงสามารถใช้ตรวจวัสดุต่างๆ ว่าถูกต้องตามรายการที่ระบุไว้หรือไม่ หรือหมวดงานใดที่ทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ ซึ่งเจ้าของบ้านสามารถใช้เป็นใบเช็กงานและวัสดุได้ จึงควรถือไปทุกครั้งเมื่อไปดูความคืบหน้างาน แต่ถ้าดูแล้วไม่เข้าใจ สามารถถามผู้ออกแบบหรือผู้รับเหมาให้อธิบายให้ฟังได้
4.ผนังฉาบอิฐมวลเบาร้าว อาจเพราะใช้ปูนฉาบผิด
เนื้อของอิฐมอญที่มีความแน่น แตกต่างจากเนื้ออิฐมวลเบาที่มีความพรุนจากฟองอากาศ จึงมีการหด-ขยายตัวต่างกัน หากใช้ปูนสำหรับอิฐมอญมาก่อและฉาบอิฐมวลเบา จะทำให้มีโอกาสแตกร้าวง่าย ไม่ใช่เพราะอิฐมวลเบาไม่แข็งแรง ดังนั้นการก่อและฉาบอิฐมวลเบา จึงแนะนำให้ใช้ปูนก่อและปูนฉาบสำหรับอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ เพราะมีคุณสมบัติการยืดหดตัวและการแห้งตัวที่เหมาะสมกับอิฐมวลเบา อีกทั้งการฉาบจะฉาบหนาเพียง 5-10 มิลลิเมตรเท่านั้น เพราะอิฐมวลเบามีพื้นผิวเรียบได้ระดับอยู่แล้ว ไม่ฉาบหนาเหมือนการฉาบอิฐมอญ และใช้เกรียงสำหรับฉาบอิฐมวลเบา เพราะจะทำให้ปูนกระจายตัวสม่ำเสมอ และมีแรงยึดเกาะดีกว่า
5.ป้องกันกระเบื้องแตก ล่อน มีน้ำขังใต้กระเบื้อง
การปูกระเบื้องที่ช่างเมื่อก่อนนิยมใช้คือ การปูแบบ “ซาลาเปา” ที่นำปูนมาโปะตรงกลางหลังกระเบื้อง ไม่ได้เกลี่ยให้ทั่วแผ่น และการปูด้วย “ปูนขี้หนู” หรือ “ขุยหนู” เป็นการปูแบบกึ่งเปียก โดยใช้ปูนผสมทราย แล้วผสมกับน้ำในอัตราส่วนน้อย ๆ ทำให้ปูนดูเป็นขุยๆ เหมือนขี้หนู แล้วช่างจะวางแผ่นกระเบื้องลงไปบนผิวปูนขี้หนู เนื้อปูนจึงมีลักษณะเป็นรูพรุน และเป็นโพรงอากาศใต้กระเบื้อง ทำให้มีโอกาสแตก ล่อน และมีน้ำขังใต้กระเบื้องได้ สังเกตได้ด้วยการเคาะแล้วมีเสียงกลวงภายใน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ โดยวิธีการปูกระเบื้องที่ถูกต้อง คือการปรับระดับพื้นให้เรียบได้ระดับก่อน แล้วปูด้วยกาวซีเมนต์ให้เต็มแผ่น ก็จะไม่มีโพรงใต้กระเบื้อง
6.การป้องกันประตูตก
ประตูตกมีสาเหตุจากบานพับรับน้ำหนักไม่ไหว ซึ่งเกิดจากการติดบานพับให้รับน้ำหนักไม่ดีพอ หรือประตูมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากความชื้น โดยบานพับประตูบานเปิดที่นิยมใช้คือ บานพับปีกผีเสื้อ ควรติดบานพับอย่างน้อย 3 จุด โดยติดส่วนบน 2 ตัว เพราะเป็นจุดที่รับน้ำหนักและรับแรงเหวี่ยงมากที่สุด โดยประตูน้ำหนักเบา เช่น ไม้อัด ติดบานพับ 3 ตัว ประตูไม้จริงสูงไม่เกิน 2 เมตร ติดบานพับอย่างน้อย 4 ตัว และเพิ่มจำนวนตามขนาดและน้ำหนักประตู การเลือกใช้บานพับที่มีความทนทาน จึงช่วยให้ประตูใช้งานได้ยาวนาน โดยเรียงลำดับความทนทานจากน้อยไปมาก ได้แก่
- วัสดุ : เหล็กชุบสี < ทองเหลือง < สเตนเลส
- ระบบแหวน : แหวนพลาสติก < แหวนทองเหลือง < แหวนสเตนเลส < แหวนระบบลูกปืน
7.ป้องกันฐานเสาเหล็กเป็นสนิมเร็ว
ถ้าใช้เสาเหล็กนอกบ้านและตั้งอยู่บนพื้นโดยตรง มักเกิดสนิมที่โคนเสาและผุกร่อนเร็วกว่าส่วนอื่น เพราะได้รับความชื้นและมักโดนน้ำหรือมีน้ำขัง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการทำฐานเสาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 20 เซนติเมตร และทำท็อปปูนลาดเอียงเพื่อไม่ให้เกิดน้ำขัง โครงสร้างเหล็กต้องมีการทาสีกันสนิมให้ทั่วพื้นผิว ทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะเหล็กกล่องที่ไม่สามารถใช้แปรงทาสีด้านในได้ แต่จะใช้การจุ่มลงในรางสีทั้งชิ้นเพื่อให้สีเข้าไปเคลือบด้านใน หรือใช้เหล็กชุบกัลวาไนซ์ที่มาจากโรงงาน
8.ลดปัญหาพื้นที่จอดรถทรุด
พื้นคอนกรีตส่วนจอดรถหรือทางเดินในสวนมักทรุดจนเห็นรอยแยกจากโครงสร้างบ้าน เพราะมักทำเป็นโครงสร้างพื้นแบบวางบนดิน (Slab on ground) ที่ไม่ได้ตอกเสาเข็ม หรือตอกเสาเข็มสั้น ซึ่งมีการทรุดตัวมากกว่าตัวบ้าน เพราะบ้านใช้เสาเข็มยาว ซึ่งป้องกันและแก้ไขได้ตั้งแต่การถมดิน โดยทิ้งระยะเวลาให้ดินถมอยู่ตัวก่อนสร้างบ้าน ก็จะลดโอกาสดินทรุดได้ระดับหนึ่ง มีการรองพื้นและบดอัดดินให้แน่น และมีการออกแบบรอยต่อพื้นให้แยกจากโครงสร้างตัวบ้าน เพื่อช่วยป้องกันการแตกร้าวไม่ให้ลุกลาม แต่ถ้าพื้นทรุดมาก ก็จำเป็นต้องทุบพื้นคอนกรีตเดิมและปรับระดับทำพื้นใหม่
9.กระเบื้องระเบิดได้อย่างไร
กระเบื้องระเบิด กระเบื้องล่อน เป็นอาการของกระเบื้องที่ดันกันจนแอ่นตัว แล้วหลุดออกมาหลายๆแผ่น มีหลายสาเหตุ เช่น ปูกระเบื้องแบบไม่เว้นร่องยาแนวหรือปูชิดมากเกินไป มีน้ำซึมเข้าตามร่องกระเบื้อง ทำให้เกิดความชื้นใต้กระเบื้อง เมื่อโดนความร้อนจะเกิดไอน้ำและดันกระเบื้องขึ้นมา หรือมีอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดการยืดหดตัว มักเกิดบริเวณพื้นชั้น 1 หรือภายนอกอาคารที่โดนแดด ไม่ว่ากระเบื้องจะระเบิดเป็นบริเวณกว้าง หรือหลุดออกมาเพียงไม่กี่แผ่น แปลว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เบื้องต้นอาจซ่อมเฉพาะส่วนที่เสียหาย แต่ถ้ายังเป็นอีก แนะนำให้รื้อกระเบื้องออกทั้งหมดเพื่อหาต้นเหตุ และแก้ไขตามปัญหานั้นๆ เช่น พื้นคอนกรีตมีรอยร้าวที่ทำให้ความชื้นซึมเข้ามาได้ ก็ซ่อมรอยร้าวและทาวัสดุกันซึม
10.เสียงบ้านลั่นอันตรายไหม
การลั่นมีสาเหตุจากการขยายและหดตัวของวัสดุ เกิดได้ทั้งบ้านไม้ และบ้านโครงสร้างเหล็ก โดยเฉพาะเหล็กเป็นวัสดุที่นำความร้อนได้ดี มีการยืดหดตัวสูง โดยมักได้ยินเสียงลั่นหลายจุด เช่น
- เสียงหลังคาลั่น มักเกิดกับบ้านใหม่ที่เป็นโครงหลังคาเหล็ก โดยอาจมีเสียงหลายแบบ เช่น เสียงดัง “ตึ้ง” เป็นช่วงๆ เหมือนกับมีคนเอาเหล็กไปฟาดกับโครงหลังคา บางครั้งรู้สึกถึงแรงสั่นได้เลย หรือเป็นเสียงดังเป้งๆ แปะๆ เหนือฝ้าชั้นบน ซึ่งเกิดจากการสะสมความร้อนที่ผิวหลังคา วัสดุมีอัตราการยืดหดตัวที่ต่างกัน โดยเฉพาะหลังคาเมทัลชีต ส่วนวัสดุมุงอื่นทั้งกระเบื้องลอน หรือกระเบื้องคอนกรีตก็เกิดขึ้นได้ หากมีการขยายตัวมาก อาจเกิดรอยแตกร้าวบริเวณผนังรอบยอดเสาชั้นบนด้วย แต่เมื่อโครงหลังคายืดหดตัวจนเข้าที่แล้ว เสียงดังกล่าวจะเกิดน้อยลงจนไม่มีในที่สุด
- เสียงคล้ายลูกแก้วหล่นบนพื้น เกิดจากการยืดหดตัวของเหล็กเสริมในพื้นคอนกรีตที่โดนแดด มักเกิดในฤดูร้อน เมื่อเกิดการยืดหดตัวก็จะเกิดเสียงก้อง แต่เป็นเสียงที่ค่อนข้างเบา จึงมักจะได้ยินในเวลากลางคืนที่เงียบๆ และไม่มีผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้าง