สารพัดปัญหาก่อสร้าง-ต่อเติมบ้าน การแก้ไขและป้องกัน

ปัญหาบ้าน

11.ทำอย่างไรเมื่อพบน้ำซึมจากห้องน้ำ

ห้องน้ำเป็นจุดชุมนุมท่องานระบบ และความชื้น จึงต้องใช้เวลาหาต้นเหตุและแก้ให้ตรงจุด หากพบการรั่วซึม เบื้องต้นให้สังเกตว่าเป็นการรั่วซึมเมื่อใช้งาน หรือรั่วซึมตลอดเวลา หากรั่วซึมตลอดเวลา อาจเกิดจากท่อน้ำประปาแตก-รั่วในผนังและพื้น ก็จะสังเกตเห็นความชื้นในบริเวณที่น้ำรั่ว หากรั่วซึมเมื่อมีการใช้งาน อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น

  • ท่อน้ำทิ้งรั่วซึม มักพบบริเวณข้อต่อท่อ หรือจุดต่อท่อน้ำทิ้งกับพื้นคอนกรีต ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วยการเปิดฝ้าชั้นล่าง แล้วนำกระดาษทิชชูพันไว้ หากหลังใช้ห้องน้ำแล้วทิชชูเปียกก็แสดงว่ามีการรั่วซึมจุดนั้น
  • พื้นไม่ได้ทาวัสดุกันซึม เมื่อมีน้ำซึมลงมาใต้กระเบื้อง ก็จะสะสมแล้วซึมลงเนื้อคอนกรีตหรือรอยร้าวได้  รวมถึงผนังส่วนเปียกที่ความชื้นอาจซึมผ่าน ทำให้ผนังอีกฝั่งสีโป่งพองได้
ปัญหาบ้าน

12.วิธีแก้ไขเหล็กเส้นเป็นสนิม ปูนแตก

แม้เหล็กเส้นจะอยู่ในเนื้อคอนกรีตก็เป็นสนิมได้ หากโดนความชื้นบ่อย แช่น้ำ ผิวคอนกรีตแตกร้าว หรือปูนเสื่อมสภาพ ความชื้นก็จะค่อยๆ ซึมเข้าไปทำให้เหล็กเส้นขึ้นสนิม และดันเนื้อคอนกรีตให้แตกออก จุดที่พบบ่อย คือ หลังคาดาดฟ้า คาน ค.ส.ล. หากปูนเพิ่งเริ่มแตกจะยังไม่เป็นอันตรายจึงควรรีบแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้นาน สนิมจะกินเนื้อเหล็กมากขึ้นจนเหล็กและคอนกรีตเสียการรับกำลังไป โครงสร้างก็จะพังลงมาได้ ควรให้วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญมาตรวจ โดยมีแนวทางการซ่อมแซมคือ

  1. ปลดการรับแรง (Unloading) โดยติดตั้งค้ำยันชั่วคราวให้ถ่ายน้ำหนักไปยังโครงสร้างข้างเคียง
  2. สกัดคอนกรีตที่เสียหายออก เพื่อดูเนื้อเหล็กเสริมและเนื้อคอนกรีตภายใน เพื่อให้วิศวกรประเมินความเสียหาย
  3. ทำความสะอาดเหล็กเสริม กำจัดสิ่งสกปรกออก 
  4. ปรับปรุงเหล็กเสริม เช่น ขจัดสนิมออก แล้วเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบป้องกันสนิม แต่ถ้าเหล็กเสียหายมาก อาจต้องเปลี่ยนเหล็กเสริมหรือดามเสริมความแข็งแรง
  5. ทำโครงสร้างให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยวัสดุที่วิศวกรกำหนด เช่น คอนกรีตกำลังสูงแบบ Non Shrink 
ปัญหาบ้าน

13.หลังทาวน์เฮ้าส์-ตึกแถวต่อเติมเต็มพื้นที่ได้ไหม

ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พื้นที่ด้านหลังทาวน์เฮ้าส์ต้องเป็นพื้นที่โล่งและห่างจากเขตที่ดิน 2 เมตร ส่วนด้านหลังตึกแถวต้องห่างจากเขตที่ดิน 3 เมตร เราจึงไม่สามารถต่อเติมอาคารจนเต็มพื้นที่ได้ โดยจุดประสงค์ของกฎหมายเรื่องการเว้นพื้นที่ว่างก็เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัย เช่น เมื่อเกิดไฟไหม้จะได้มีทางหนีไฟและไฟไม่ลามติดกันง่าย สามารถออกไปซ่อมแซมได้ มีแสงแดดส่องถึง มีการระบายอากาศ และบ้านไม่ใกล้จนรบกวนกันเกินไป จึงเป็นคำตอบของคนที่สงสัยว่าทำไมโครงการบ้านไม่ทำครัวหลังบ้านมาให้เลยจะได้ไม่ต้องมาต่อเติมภายหลัง

แต่ทำไมจึงยังเห็นมีการต่อเติมกันเกือบทุกบ้านได้ อาจเพราะไม่มีคนร้องเรียน ซึ่งถ้าต่อเติมไม่ถูกต้องก็อาจมีคำสั่งให้รื้อถอนได้ ดังนั้นทั้งเพื่อลดการเกิดปัญหาต่างๆ หากต้องการต่อเติมบ้าน ควรปรึกษาสถาปนิกหรือวิศวกร เพื่อความถูกต้อง มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งควรคุยกับโครงการและเพื่อนบ้านก่อนทำการต่อเติม ก็ช่วยลดความขัดแย้งลงได้

14.การตั้งเสาต่อเติมหลังคาเล็กๆ ตั้งบนพื้นคอนกรีตเลยได้ไหม

การทำโครงสร้างเสารับหลังคาที่ได้มาตรฐานจำเป็นต้องตอกเสาเข็มและทำฐานราก เพื่อความมั่นคงแข็งแรง และลดการทรุดตัว หรือในกรณีเป็นพื้นที่ดินแข็ง เช่น แถบภูเขา ซึ่งตอกเสาเข็มไม่ลง ก็ทำเป็นระบบฐานรากแผ่ ส่วนการตั้งเสาบนพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่แนะนำให้ทำเพราะโครงสร้างเสาอาจล้มหรือพื้นอาจแตกร้าวได้ แต่พอจะทำได้ในกรณีที่เป็นหลังคาเบา เช่น หลังคาผ้าใบ พอลิคาร์บอเนต เมทัลชีตที่ผืนหลังคามีขนาดเล็ก

15.ต่อเติมพื้นที่แคบ ใช้เสาเข็มอะไร

ถ้าเป็นการต่อเติมชั้นเดียว สามารถใช้เสาเข็มสั้นอย่างเสาเข็มหกเหลี่ยมได้ แต่ถ้าต้องการเสาเข็มที่รับน้ำหนักมาก และทำงานในพื้นที่แคบได้มีเสาเข็มอีก 2 ประเภท คือ

  • เสาเข็มเหล็ก เป็นเสาเข็มระบบแห้ง ลักษณะคล้ายสกรูตัวใหญ่ที่สามารถเจาะลงดินโดยไม่ต้องมีการขุดก่อน และไม่มีงานปูนที่ทำให้เลอะเทอะ มีแรงสั่นสะเทือนน้อยมาก มีทั้งเสาเข็มสั้น และเสาเข็มยาวที่เจาะได้ถึงชั้นดินดาน  
  • เสาเข็มสปันไมโครไพล์ เสาเข็มคอนกรีตกำลังสูงระบบตอก ซึ่งเป็นเสายาวประมาณ 1.5 เมตร และทำการเชื่อมต่อกันระหว่างตอกจนได้ความยาวถึงชั้นดินดาน ใช้เครื่องตอกขนาดเล็กที่ถอดประกอบเข้าในอาคารได้ มีแรงสั่นสะเทือนน้อย โดยตอกห่างแนวกำแพงได้น้อยสุดประมาณ 50 เซนติเมตร
ปัญหาบ้าน

16.ต่อเติมหลังคาแบบไหน แก้ปัญหาอับชื้น

หากการต่อเติมจำเป็นต้องทำผนังทึบทั้งหมด เช่น การต่อเติมครัวหลังบ้าน แนะนำให้ทำช่องระบายอากาศที่หลังคา โดยทำหลังคาต่างระดับ ร่วมกับการใช้แผ่นหลังคาโปร่งแสง ให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาได้ ก็จะลดความอับชื้นได้ดี โดยมีตัวอย่างการทำหลังคาต่างระดับมาแนะนำ 2 แบบ

  • หลังคาเพิงหมาแหงนมีคอสอง
  • หลังคาเพิงหมาแหงนต่างระดับ

17.ต่อเติมโดยฝากโครงสร้างกับรั้วได้ไหม

การต่อเติมควรทำโครงสร้างใหม่แยกจากโครงสร้างเดิม เพื่อไม่ทำให้โครงสร้างเดิมเสียหาย เพราะทั้งตัวบ้านและรั้ว ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักส่วนต่อเติมนี้ อีกทั้งตัวบ้านและรั้วก็ใช้เสาเข็มคนละประเภทกัน จึงมีโอกาสที่จะทรุดตัวต่างกันได้มาก กลับกลายเป็นว่าแทนที่จะประหยัด อาจต้องมาซ่อมทั้งบ้านและรั้วที่เสียหายอีก โดยเฉพาะถ้าเป็นรั้วร่วมซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์คนละครึ่งกับเพื่อนบ้าน ยิ่งไม่ควรทำอะไรกับโครงสร้างรั้ว

ปัญหาบ้าน

18.ต่อเติมหลังคาอย่างไรไม่ให้รั่ว

มี 2 จุดที่ป้องกันหลังคารั่วซึม คือ การทำรอยต่อหลังคากับผนังบ้านเดิมอย่างถูกวิธี และการมุงหลังคาให้ลาดเอียงตามข้อกำหนด

  • รอยต่อหลังคากับผนังบ้านเดิม ต้องทำเฟรชชิ่งอย่างถูกวิธี โดยเฟรชชิ่งเมทัลชีต ควรทำการกรีดผนังให้เป็นร่องเพื่อเก็บขอบเฟรชชิ่งไม่ให้น้ำเข้าได้ง่าย การใช้วัสดุยาแนว/กันซึมย่อมมีอายุการใช้งาน จึงควรเปลี่ยนเมื่อเสื่อมสภาพประมาณ 3-5ปี หรือถ้าต้องการให้มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถทำเป็นปีกนก ค.ส.ล ยื่นออกมาอย่างน้อย 25 เซนติเมตร
  • มุงหลังคาให้ลาดเอียงตามข้อกำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันน้ำไหลย้อน เช่น  หลังคาเมทัลชีตมุงลาดเอียงอย่างน้อย 5 องศา   กระเบื้องลอนคู่ ลอนเล็ก มุงลาดเอียง 15-40 องศา

19.ต่อเติมแล้วจะทรุดไหม ป้องกันอย่างไร

การต่อเติมมีโอกาสทรุดแน่นอนเพียงแต่จะทรุดมากหรือน้อย  แม้ว่าจะตอกเสาเข็มยาวเหมือนกันก็ตาม เพราะสร้างต่างเวลากัน อัตราการทรุดตัวจึงไม่เท่ากันโดยสิ่งที่จะช่วยให้การทรุดสร้างความเสียหายให้กับตัวบ้านน้อยลง คือ การต่อเติมแบบแยกโครงสร้างบ้านเดิมกับส่วนต่อเติมออกจากกัน แล้วออกแบบบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างส่วนต่อเติมกับโครงสร้างเดิม ให้มีรอยต่อที่ดูกลมกลืนกับตัวบ้าน เช่น การเว้นร่องรอยต่อ การลดระดับพื้นไม่ให้เท่ากัน แล้วปิดร่องด้วยวัสดุอุด เช่น โฟมเส้น และยาแนวด้วยวัสดุที่มีความยืดหยุ่น เช่น พอลิยูรีเทน ก็จะช่วยให้รอยแตกหรือรอยร้าวที่เกิดจากการทรุดตัวอยู่ในวงจำกัด และในอนาคตเมื่อเกิดรอยแยกมากขึ้น ก็สามารถยาแนวใหม่โดยที่ไม่เสียหายลุกลามไปยังส่วนอื่น

ปัญหาบ้าน

20.ใช้ผนังอะไรในการต่อเติมห้อง

ถ้าเป็นการต่อเติมของบ้านที่มีการอยู่อาศัยแล้ว จะเหมาะกับผนังระบบแห้งหรือที่เรียกว่าระบบผนังโครงเบา เป็นทำโครงคร่าวแล้วกรุด้วยวัสดุแผ่น เช่น ไฟเบอร์ซีเมนต์ จึงมีน้ำหนักเบา ทำงานเสร็จเร็ว หากทำการตัดมาจากภายนอกมาประกอบที่หน้างานก็จะมีฝุ่นน้อย และถ้าจุดไหนที่ต้องการแขวนตู้ ชั้นต่างๆ ก็ทำโครงเหล็กเสริมก็จะรับน้ำหนักได้ ฉะนั้นการทำผนังโครงเบานี้ จึงควรออกแบบและกำหนดจุดติดตั้งตู้และชั้นติดผนังล่วงหน้า และสามารถกรุฉนวนระหว่างแผ่นผนัง เพื่อป้องกันความร้อนและเสียงรบกวนได้ดีขึ้น


  • คอลัมน์ Home Expert ธค 65 นิตยสารบ้านและสวน
  • เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
  • ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล

อัปเดตราคาวัสดุก่อสร้าง ปลายปี 2565

รู้ไว้ใช่ว่าราคา ค่าแรงช่าง ตามมาตรฐาน

ติดตามบ้านและสวน