ระบบนิเวศของความสุขที่ออกแบบได้

บ้านสีขาวที่แก้ปัญหาบ้านแน่นให้กลายเป็นบ้านโล่ง อยู่สบายและมีสุขภาวะในอาคารที่ดี (Well-Being) แบบบ้านมินิมัลสีขาว

แบบบ้านมินิมัลสีขาว
หน้าบ้านหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแดดค่อนข้างมาก จึงออกแบบผนังอาคาร 2 ชั้น คือผนังบล็อกช่องลมชั้นนอกเพื่อกรองแสงแดด และทำบานเลื่อนกระจกไว้ชั้นในให้เปิดระบายอากาศได้ ดีไซน์แรกออกแบบองค์ประกอบบ้านเป็นสี่เหลี่ยม แต่ปรับให้มีเส้นโค้งดูน่ารักขึ้น ให้เข้ากับน้องนาวาลูกสาวเจ้าของบ้าน
พอต้นไม้เริ่มแผ่กิ่งก้านมากขึ้น แล้วคุณเมธจะตัดแต่ง แต่น้องนาวาไม่ยอมให้ตัด เพราะจินตนาการให้ใต้กิ่งไม้ที่แผ่คลุมเหนือช่องตาข่ายเป็นฐานลับที่ปลอดภัยเวลาหนียักษ์

ความสุขที่แท้จริงนั้นก่อเกิดขึ้นจากภายใน และที่ใจกลางบ้านสีขาวทรงกล่องที่เรียบเท่ปนน่ารักด้วยบล็อกช่องลมและซุ้มโค้งแห่งนี้ ก็มีความสุขก่อตัวขึ้นทีละน้อยภายในบ้านที่ออกแบบโดยใช้หลักการนิเวศวิทยสถาปัตย์ (Ecological Architecture) ให้บ้านอยู่สบายแบบองค์รวม มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว จนเกิดระบบนิเวศความสุขที่มี คุณเมธ พิทยชาครวัตร คุณโจ้-รจนา วิกรานตเสวี น้องนาวา คุณยาย คุณย่า ต้นกัลปพฤกษ์ ปลาหางนกยูง แมลงเต่าทอง สายลม แสงแดด สเปซภายในบ้าน และเพื่อนบ้านมาสัมพันธ์กัน ทำให้ทุกๆวันที่ผ่านไปนั้นเป็นวันที่มีความหมาย

แต่เดิมบนที่ดิน 50 ตารางวานี้เป็นบ้านชั้นเดียวอายุราว 30 ปี ที่มาซื้อไว้ด้วยเป็นทำเลรถไฟฟ้าผ่าน เมื่อวางแผนจะมีลูกจึงคิดขยับขยายบ้านให้รองรับคนทั้ง 3 รุ่น ด้วยความตั้งใจที่อยากสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ครอบครัว จึงอยากให้มีห้องนอนชั้นล่าง 2 ห้องสำหรับคุณย่าและคุณยาย พื้นที่ให้ลูกได้วิ่งเล่น มี   คอร์ตยาร์ด ซึ่งบ้านในโครงการที่ไปดูมายังไม่ตอบโจทย์ จึงตัดสินใจสร้างบ้านใหม่บนที่ดินเดิม และติดต่อให้ คุณแป้ง-ใยชมภู นาคประสิทธิ์ และ คุณหวาย-จิตรทิวัตถ์ อู่ทรัพย์ สถาปนิกแห่ง MAKE It POP มาออกแบบ เพราะชื่นชอบผลงานที่เน้นเรื่องบ้านที่อยู่สบายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตกแต่งด้วยโทนสีขาวกับไม้สีอ่อนแบบมินิมัลที่เจ้าของเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์เองให้เข้ากับตัวบ้านสีขาว โดยเลือกใช้สีทาบ้านที่ปลอดภัย (Low VOCs) เพื่อสุขภาวะที่ดีในการอยู่อาศัย

บ้านใต้ถุนสูงจากความทรงจำวันเด็ก

ประโยคที่คุณแป้ง สถาปนิก จำได้แม่น เมื่อได้ฟังความต้องการของเจ้าของบ้าน คือ “อยากนอนแล้วหันไปทางไหนก็เห็นต้นไม้”  เมื่อได้ฟังก็รู้สึกว่า “เข้าทาง” กับแนวทางการออกแบบของออฟฟิศ จากการพูดคุย เจ้าของบ้านทั้งคู่อยากได้บ้านที่อยู่ได้โดยไม่ต้องเปิดไฟทั้งวัน ไม่ต้องอยู่ในห้องปรับอากาศตลอด อยู่กับสภาพแวดล้อมได้เหมือนบ้านไทยโบราณ “จริงๆเราก็เป็นคนต่างจังหวัด คุณโจ้เป็นคนเชียงใหม่ ส่วนผมเป็นคนราชบุรี ตอนเด็กก็อยู่บ้านคุณตาคุณยายที่เป็นบ้านใต้ถุนสูง มีนอกชาน มีระเบียงรอบบ้าน พอฝนตกเราก็สนุก มีฝนสาดบ้าง อากาศถ่ายเทดี อยากได้บ้านอารมณ์แบบนั้น” คุณเมธเล่าความทรงจำวัยเด็ก ไอเดียใต้ถุนบ้านจึงเป็นหนึ่งในคอนเซ็ปต์การออกแบบที่ทำชั้นล่างโล่งๆ แบบกึ่งภายนอกกึ่งภายใน (Semi-Outdoor) ที่อยู่ช่วงกลางวันได้แบบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา เป็นภาพสะท้อนความทรงจำวัยเด็กที่ใช้งานได้ดีกับบ้านยุคปัจจุบัน แบบบ้านมินิมัลสีขาว

แบบบ้านมินิมัลสีขาว
ออกแบบพื้นที่ภายในบ้านให้โปร่งแบบกึ่งภายนอกกึ่งภายใน (Semi-outdoor) ที่เปิดเชื่อมต่อกับคอร์ต ยาร์ด และทำผนังห้องครัวเป็นบานเลื่อนสูงเพดานให้ปิดได้เมื่อต้องการใช้งานครัวจริงจัง
แบบบ้านมินิมัลสีขาว
ออกแบบทุกพื้นที่ให้เชื่อมถึงกันได้ในแนวตั้งและแนวนอน ทั้งทางสายตาและการใช้งาน ในขณะที่คุณแม่ทำครัว คุณยายสาละวนที่มุมครัวนอนบ้าน คุณพ่อขลุกกับมุมกาแฟที่ชื่นชอบ และน้องนาวานอนเล่นที่คอร์ตชั้น 2 ก็ยังมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้

แก้ปัญหาบ้านแน่นให้กลายเป็นบ้านโล่ง

จากความต้องการที่อยากให้บ้านเปิดโล่งนี้ แม้จะถูกใจทุกคน แต่ก็ทำให้สถาปนิกเครียดเล็กๆในรอยยิ้ม เพราะต้องใส่ฟังก์ชันหลายอย่างในพื้นที่ 50 ตารางวา (12×25 เมตร) ชั้นล่างมีห้องนอนผู้สูงอายุ 2 ห้อง ห้องน้ำพื้นที่กว้างรองรับการใช้วีลแชร์ มีคอร์ตยาร์ด เน้นพื้นที่ครัวเพราะทำอาหารจริงจัง เป็นครัวที่สวยโชว์ได้ มีพื้นที่ทำงานอดิเรก มีพื้นที่โล่งให้เด็กเล่น จากที่ตั้งใจจะสร้างบ้าน 2 ชั้นจึงมาลงตัวเป็นบ้าน 3 ชั้น พื้นที่ใช้งาน 280 ตารางเมตร

เจ้าของบ้านมีความชัดเจนว่าต้องการอะไร โดยก่อนมาคุยกับสถาปนิกได้วางแปลนที่อยากได้มาให้ดู สถาปนิกจึงพัฒนาจากแปลนนั้น โดยจัดโซนว่าทำอย่างไรให้ความแน่นนี้ดูโล่งที่สุด ออกแบบให้มีการแชร์พื้นที่ใช้งานร่วมกัน อย่างห้องครัวที่เปิดโล่งให้เชื่อมกับส่วนรับประทานอาหารและนั่งเล่นได้ หรือปิดเพื่อใช้งานจริงจังก็ได้ โดยเน้นเรื่องการระบายอากาศ ทิศทางลม การวางรูปทรงตัวอาคารและฟังก์ชันให้รับกับทิศลมและแดด ห้องนอนอยู่โซนหลังบ้านซึ่งเป็นด้านทิศเหนือ และคอร์ตยาร์ดให้อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทิศที่มีลมพัดผ่านดี แต่ก็มีแสงแดดร้อนในช่วงบ่าย จึงปลูกต้นไม้ช่วยกรองแสงแดด หน้าบ้านอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทิศที่รับแสงแดดพอสมควร จึงออกแบบเป็นผนัง 2 ชั้นแบบ Double Skin โดยทำผนังบล็อกช่องลมไว้ชั้นนอกเพื่อกรองแสงแดด และทำบานเลื่อนกระจกไว้ภายในอีกชั้น

ทำผังอาคาร 2 ชั้น โดยเว้นช่องว่างระหว่างผนังก่ออิฐบล็อกช่องลมที่ช่วยกรองแสงด้านนอก กับผนังบานเลื่อนกระจกด้านใน เพื่อให้อากาศไหลเวียนแนวตั้งได้ แล้ววางพื้นตะแกรงเหล็กป้องกันตก
แบบบ้านมินิมัลสีขาว
ทำส่วนทางเดินไว้กลางบ้านเพื่อจ่ายไปยังห้องต่างๆ และเป็นส่วนเชื่อมต่อกันพื้นที่ Semi-outdoor ซึ่งเป็นพื้นที่โปร่งที่มีลมเข้า มีฝุ่นบ้าง มียุงบ้าง เมื่อเจ้าของบ้านเข้าอยู่แล้วพบว่า เมื่อบ้านมีความโปร่ง มีลมพัดผ่านดี สว่าง มีซอกมุมน้อย ทำให้มียุงน้อยกว่าที่คิด
แบบบ้านมินิมัลสีขาว
พื้นที่บริเวณหน้าบ้านค่อนข้างร้อน จึงออกแบบโถงบันไดที่เชื่อมระหว่างชั้น โดยใช้ผนังบล็อกแก้ว และผนังบล็อกช่องลมเพื่อเปิดรับลมและแสงธรรมชาติได้

ความสัมพันธ์ของคนและพื้นที่

เมื่อเข้ามาก็จะเห็นว่าพื้นที่ครัวและรับประทานอาหารเป็นจุดเด่นของบ้านที่ทุกคนมองเห็นกันระหว่างห้อง และระหว่างชั้นได้ เป็นการเชื่อมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทั้งคนในบ้านและเพื่อนบ้านด้วย บ้านนี้เน้นพื้นที่ครัวเป็นพิเศษ เพราะเจ้าของบ้านทั้งคู่เป็นนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีพื้นที่ครัว 3 ส่วนคือ ครัวในบ้าน ห้องทำงานบนชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ครัวกึ่งห้องทดลอง และครัวไทยนอกบ้านของคุณยาย ที่ทำเพิ่มหลังจากเข้าอยู่แล้ว จนกลายเป็นพื้นที่โปรดของคุณยายที่สามารถอยู่ได้ทั้งวัน เป็นมุมที่มองเห็นจากประตูหน้าบ้าน จึงสามารถทักทายเพื่อนบ้านที่เดินผ่านไปมาได้สะดวก

แบบบ้านมินิมัลสีขาว
บ้านล้อมคอร์ตเป็นรูปตัวยู (U) ทุกห้องในบ้านจึงเปิดให้เห็นต้นไม้กลางบ้านได้ ห้องนอนตกแต่งเรียบง่าย ทำหน้าต่างบานใหญ่ให้ลงมาเกือบถึงพื้น เปิดมุมมองที่เหมาะสมกับการนอนบนฟูกที่วางกับพื้น
ส่วนแต่งตัวทำตู้บิลท์อินเต็มผนังด้านหนึ่ง โดยทำหน้าบานให้เป็นกระจกเต็มบานสำหรับแต่งตัวได้ และต่อเนื่องกับระเบียงเล็กๆที่ใช้เป็นมุมซักล้างและตากผ้า
ทำผนังห้องน้ำเป็นประตูบานเลื่อนกระจกที่เปิดให้ต่อเนื่องกับห้องนอนได้ แล้วจัดเป็นสวนกระถาง พื้นโรยกรวดที่เติมความสดชื่นในการอาบน้ำ
แบบบ้านมินิมัลสีขาว

สภาวะน่าสบาย

ด้วยคุณแป้งทำงานเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาวะในอาคาร (Well-Being) ในการออกแบบอาคารขนาดใหญ่ จึงให้ความสำคัญกับสภาวะน่าสบายภายในบ้าน ให้มีความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยที่เหมาะสม ซึ่งดูเป็นทฤษฎีด้านเทคนิคที่มักใช้กับอาคารใหญ่ แต่นำมาปรับใช้กับสเกลบ้าน โดยให้มีทางลมเข้า-ออกไหลเวียนได้ทั่ว มีแสงธรรมชาติส่องเข้าถึงอย่างเหมาะสม ร่วมกับการวางรูปทรงตัวอาคารและฟังก์ชัน และต้องสัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย อย่างเจ้าของบ้านนี้ชอบอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง บ้านนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ยืนยันหลักการออกแบบนี้ให้เห็นว่าอยู่สบาย และส่งผลต่อการประหยัดพลังงานตามมา เพราะบ้านไม่ร้อน จึงลดการใช้เครื่องปรับอากาศลง

เตรียมโครงสร้างดาดฟ้าให้เป็นพื้นที่กิจกรรม เช่น วางสระน้ำ ตั้งแคมป์ ปลูกต้นไม้ หรืออาจปรับเป็นพื้นที่ทำงานอดิเรกในอนาคต
ทำบ่อน้ำเล็กๆเลี้ยงปลาหางนกยูงไว้ข้างคอร์ต เป็นอีกมุมนั่งเล่นระหว่างวันที่น้องนาวาชอบนั่งเอาเท้าแช่น้ำ และยังช่วยเว้นระยะให้ห้องนอนชั้นล่างที่อยู่ติดกันมีความเป็นส่วนตัว

นิเวศวิทยสถาปัตย์สร้างระบบนิเวศของความสุข

นิเวศวิทยสถาปัตย์ (Ecological Architecture) เป็นอีกหลักการที่ออกแบบอาคารโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ บริบทโดยรอย ซึ่งคุณแป้งอธิบายว่า “การออกแบบของเราแม้เป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่สร้างผลกระทบกับผู้อยู่อาศัย และชุมชนโดยรอบได้มาก อย่างการทำพื้นคอนกรีตมากๆ ก็จะเกิดปรากฏการณ์เกาะร้อน (Heat Island Effect) ให้เมือง ซึ่งการลดพื้นคอนกรีตใหญ่ๆก็ช่วยลดปรากฏการณ์นี้ได้ ถ้าทุกบ้านมีพื้นที่ให้น้ำซึมผ่านลงดินได้ ก็ช่วยหน่วงน้ำฝนได้บ้าง พื้นที่เล็กๆในบ้านก็จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมรอระบาย ซึ่งจะค่อยๆส่งผลกับเมืองไปด้วย”

เลือกใช้บล็อกปูนพื้นรุ่นที่น้ำสามารถซึมผ่านลงไปยังพื้นดินได้ ลดการท่วมขัง เมื่อพื้นดินมีความชื้นจึงช่วยลดความร้อนรอบบ้าน

เช่นเดียวกับการออกแบบบ้านให้พื้นที่ภายในเชื่อมต่อกับภายนอกบ้าน เกิดเป็นพื้นที่กึ่งภายนอกกึ่งภายใน (Semi-outdoor) ที่ทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด และเป็นความประทับใจของคุณโจ้ “พอเข้ามาอยู่ในบ้านแล้ว รู้สึกอยากเข้าไปทักทายทุกห้องในแต่ละวัน พื้นที่กลางบ้านเป็นจุดศูนย์รวมของทุกคน การมีพื้นที่เปิดโล่งแบบนี้ ทำให้เราอยากออกมาจากห้อง มาปูเสื่อเล่นโยคะใต้ต้นไม้ ลูกแช่เท้าในบ่อปลาหางนกยูง บางวันได้ทักทายแมลงเต่าทองที่บินผ่านมา อย่างช่วงโควิด-19 ที่กักตัวกัน บางวันเราก็นัดกันกางเต็นท์ตั้งแคมป์ที่คอร์ตบ้าง บนดาดฟ้าบ้าง เป็นประสบการณ์ในบ้านที่จะไม่เกิดขึ้น ถ้าบ้านเราไม่มีพื้นที่เปิดโล่งแบบนี้” เป็นความสุขเล็กๆในบ้านที่กำลังขยายตัว ซึ่งก่อเกิดจากการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพิงและเข้าใจกัน


  • เจ้าของ : คุณเมธ พิทยชาครวัตร – คุณรจนา วิกรานตเสวี
  • ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน : MAKE It POP Co.,Ltd. โทรศัพท์ 08-2914-5396  
  • วิศวกรโครงสร้าง : คุณพีระศักดิ์ มั่นคง
  • ก่อสร้าง : SUBAN CC

  • คอลัมน์ บ้านสวย นิตยสารบ้านและสวน ธ.ค.65
  • เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
  • ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

บ้านสีขาวประหยัดพลังงาน ซ่อนความอบอุ่นไว้ภายใน

รีโนเวตบ้านเก่าชั้นเดียว เป็นบ้านสีขาวมินิมัล

ติดตามบ้านและสวน