ปัจจุบันมีคาเฟ่หลายแห่งที่สร้างสวนสวยเป็นองค์ประกอบ เพื่อเป็นจุดขายที่ช่วยดึงดูดลูกค้าหรือเหล่าคาเฟ่ฮอปปิ้งให้เข้ามาถ่ายรูป แต่สำหรับ Botanist Activity Space& Café แห่งนี้กลับต่างออกไป
เพราะเป็นคาเฟ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สะสมและทดลองปลูกของ คุณโป้ง – ทัศไนย สินพาณิชย์ ผู้ที่มีความรักและความหลงใหลในการปลูกต้นไม้มาตลอด 30 ปี
“ผมทำงานจัดสวนและอยู่กับต้นไม้มาตลอดชีวิต มาวันนี้ในอายุขนาดนี้ก็เลยตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากการปลูก การสะสม รวมถึงการจัดสวนให้คนที่รักต้นไม้เหมือนกันได้เข้ามาเรียนรู้ เลยเริ่มเปิดพื้นที่แห่งนี้ ให้เป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้พฤกษศาสตร์บนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 2.5 ไร่ในเขตคลองสามวา มีนบุรี ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 โซนตามการเลี้ยงดูต้นไม้ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และใช้รูปแบบธุรกิจของคาเฟ่เข้ามาเชื่อมโยงระหว่างคนกับการเรียนรู้ โดยมีครอบครัวเข้ามาช่วยกันสนับสนุนและบริหารงานให้เกิดขึ้น” คุณโป้งเล่าถึงที่มาและแนวคิดในการริเริ่ม
Creek/Tropical Garden
โซนแรกเริ่มต้นจากบริเวณทางเข้าที่ทำ เป็นซุ้มขนาดใหญ่ให้ดูร่มรื่น มีกลิ่นอายของความเป็นทรอปิคัลเล็กน้อย โดยได้ออกแบบให้ด้านข้างตลอดแนวทางเดินมีเส้นทางของนํ้าตกและลำธาร เลียบลัดเลาะขนานเข้ามาสู่พื้นที่ด้านใน พร้อมทั้งปลูกพรรณไม้ที่หลากหลายและมีสีสันที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นไม้ยืนต้น ไม้คลุมดิน หรือไม้กระถางแขวน โดยเฉพาะมอสส์และกลุ่มเฟิน เพื่อทำให้ผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมเยือนรู้สึกสดชื่นและเย็นสบายไปกับเสียงของนํ้าที่ไหลรินเบาๆ และโลกสีเขียวตรงหน้า
Jurassic Garden
ต่อมาเป็นโซนของไม้โบราณอายุยืนหลายร้อยปี โดยเฉพาะไม้ในกลุ่มปรง (Cycad) ตั้งแต่สายพันธุ์ทั่วไปที่หาได้ในไทย และไม้นำเข้าสายพันธุ์หายากจากทั่วทุกมุมโลก “ปรงเป็นพรรณไม้ที่อยู่ในประวัติศาสตร์โลกมานานมากกว่า 300 ล้านปี ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ จึงเป็นที่มาของโซนป่าดึกดำบรรพ์ (Jurassic Garden) และนอกจากต้นปรงแล้วยังมีต้นไม้เก่าแก่อีกหลายชนิดที่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นไม้ที่เติบโตช้า ชอบแสงแดดจัด ทนทานต่อการขาดนํ้า สามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนทราย ซึ่งเราจะสามารถสังเกตความสวยสมบูรณ์ของใบได้จากรูปแบบการบิดและสีสันที่แตกต่างกัน” คุณโป้งค่อยๆ อธิบายรายละเอียด พร้อมพาทีมงานเดินชมพื้นที่สวนโดยรอบ
Desert Garden
โซนกลุ่มไม้ทะเลทรายถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด เนื่องจากบริเวณนี้ออกแบบให้เป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ มีโครงสร้างเพดานที่ค่อนข้างสูง และเลือกใช้วัสดุมุงหลังคาแบบโปร่งแสง เพื่อช่วยควบคุมปริมาณความร้อนจากดวงอาทิตย์และความชื้นในอากาศให้พอเหมาะจัดวางองค์ประกอบโดยเลือกใช้แคคตัสที่มีรูปทรง และสีสันหลากหลาย เรียงลำ ดับสูง – ตํ่าให้มีจังหวะที่ลดหลั่นกัน นอกจากนี้บริเวณด้านหลังคุณโป้งยังได้สร้างอาคารสองชั้นที่มีโครงสร้างสีขาวและกรุกระจกโดยรอบ เป็นส่วนของคาเฟ่ไว้สำหรับบริการขนมและเครื่องดื่ม เพื่อให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจและลดทอนบรรยากาศความรู้สึกร้อนระอุของโรงเรือนด้านหน้า ก่อนจะเชื่อมต่อไปยังทางเดินสกายวอล์กด้านบน
Rain Forest
สวน Rain Forest มีลักษณะเป็นป่ารกทึบมีแสงแดดส่องลงมาได้รำไร ประกอบด้วยพรรณไม้หลากหลายชนิดที่เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี การเลือกปลูกต้นไม้จึงต้องเลือกชนิดที่ชอบสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกัน อย่างมอสส์ บีโกเนีย พรมญี่ปุ่น และเฟินชนิดต่างๆ อีกทั้งยังต้องดูแลรักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยการติดตั้งระบบพ่นหมอก เพื่อควบคุมความชื้นเฉลี่ยชั่วโมงละประมาณ 3-5 นาที รวมถึงตัดแต่งกิ่งไม้ควบคุมให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนด และเก็บเศษใบไม้แห้งใบไม้ร่วงให้พื้นที่สะอาดสวยงามอยู่เสมอ
จากคุณค่าของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้หมุดหมายของการมา Botanist Activity Space & Café จึงไม่ใช่แค่เพียงการนั่งจิบกาแฟหรือรับประทานขนมอร่อยในบรรยากาศดีๆ เท่านั้น แต่เป็นการได้สัมผัสถึงความรัก ความเอาใจใส่ และความตั้งใจในการถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างต้นไม้กับชายผู้รักและหลงใหลในต้นไม้คนนี้
นิตยสาร บ้านและสวน ปี 2565 ฉบับที่ 554
เจ้าของ- ออกแบบ : คุณทัศไนย สินพาณิชย์
เจ้าของร่วม : คุณธนิกาญจน์ นิยมเดช, คุณปาณิสรา เศรษฐภักดี, คุณปริทัศน์ ศะศิธร, คุณกานติรัตน์ ชื่นเงิน และคุณคุณัช โล้กูลประกิจ
ที่ตั้ง: 501 ถนนสามวา แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กทม.
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล