รวมการออกแบบ-ก่อสร้างที่มักพลาด
25ปัญหาบ้าน ที่มักออกแบบและก่อสร้างพลาด เพื่อเป็นจุดสังเกตเมื่อสร้างบ้านหรือเลือกซื้อบ้าน จะได้ไม่ต้องมาปรับปรุงและลดการซ่อมแซมบ้านตั้งแต่ต้นทาง
1.ทีวีแขวนผนังกับสารพัดสาย
คนที่ต้องการติดตั้งทีวีแขวนผนังมักมี 2 เหตุผล คือ ประหยัดพื้นที่วาง และต้องการความเรียบง่าย ซึ่งการติดตั้งจริงๆไม่ได้ง่ายเพียงแค่แขวนทีวีเฉยๆ เพราะมักลืมคิดถึงการต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งต้องเสียบสารพัดสายโยงกัน จึงมักเห็นสายต่างๆห้อยจากทีวีลงมาต่อกับเครื่องที่วางอยู่ด้านล่าง ดังนั้นถ้าคิดจะแขวนทีวีให้สวย ต้องทำผนังอีกชั้นที่เจาะรูเพื่อซ่อนการเดินสายต่างๆ รวมถึงการเตรียมปลั๊กไฟไว้อย่างเพียงพอ ก็จะไม่ต้องพ่วงสายให้ดูรกตา 25ปัญหาบ้าน
2.ตู้หนังสือแอ่น
ตู้หรือชั้นที่มักแอ่นและเสียหายเร็วคือตู้หนังสือ เพราะหนังสือนั้นหนักกว่าที่เราคิด ดังนั้นหากต้องการทำตู้เก็บหนังสือควรระวัง 2 เรื่อง คือ ควรวางตู้หนังสือตามแนวคานพื้นซึ่งรับน้ำหนักได้ดีกว่าบริเวณกลางห้องที่ไม่มีคาน และการเลือกตู้และชั้นที่ใช้วัสดุแข็งแรงอย่างเหล็กหรือโครงไม้ หากทำด้วยแผ่นพาร์ทิเคิลหรือแผ่นเอ็มดีเอฟควรเลือกหน้ากว้างของชั้นแต่ละช่องไม่เกิน 60 เซนติเมตร หรือน้อยกว่านั้นยิ่งดี ก็ป้องกันชั้นแอ่นและลดการซ่อมแซมในอนาคต 25ปัญหาบ้าน
3.หน้าต่างเปิดออก แต่ลมไม่เข้า
ถ้าจะติดตั้งหน้าต่างบานเปิด อย่าลืมดูทิศทางลม เพราะสามารถเปิดรับลมได้ด้านเดียว จึงควรเปิดรับลมประจำถิ่นซึ่งพัดมาทางทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้เป็นหลัก อีกทั้งหน้าต่างที่มีการเปิดยื่นออกไป เช่น บานเปิดและบานกระทุ้ง ควรระวังเปิดไปเจอทางเดินซึ่งอาจเผลอเดินชนได้
4.มือจับของประตูอะลูมิเนียม
ประตูกรอบบานอะลูมิเนียมมักมีขนาดกรอบแคบกว่ากรอบไม้ ทำให้พื้นที่ในการติดมือจับน้อยกว่า จะเห็นได้ชัดเมื่อใช้มือจับแบบตรงปกติกับประตูบานเปิด ซึ่งจับไม่สะดวกเพราะมือจับอยู่ชิดเกินไป จึงควรใช้มือจับที่ออกแบบยื่นออกด้านข้างก็จะจับได้สะดวกขึ้น
5.เปิดประตูทีไร “ปัง” ทุกที
ไม่ว่าใครจะอยาก “ปัง” แต่ประตูบ้านเราไม่ควร “ปัง” เพราะจะทำให้ผนังและประตูเสียหายได้ ซึ่งป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยอุปกรณ์หยุดประตู (Door Stopper) อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่หลายบ้านมักลืมติดกัน แต่จะเลือกแบบไหนแล้วแต่ความชอบเลย
6.โคมไฟสูงเกินไป
ห้องนั่งเล่นที่ออกแบบเป็นโถงสูงหรือโถงบันได มักออกแบบแขวนโคมไฟห้อยจากเพดาน รวมถึงการติดโคมไฟเพดานที่อยู่สูง ซึ่งช่างติดตั้งให้เราได้เพราะเขามีนั่งร้าน แต่อย่าลืมว่าเราต้องเป็นคนเปลี่ยนหลอดไฟและทำความสะอาดโคมไฟเอง เพราะมีหลายกรณีที่โคมไฟเหล่านี้ถูกทิ้งร้าง แล้วต้องเดินไฟใหม่ในตำแหน่งที่เปลี่ยนได้ ซึ่งการเปลี่ยนหลอดไฟในที่สูงทำได้หลายวิธี เช่น ใช้ไม้ยื่นสำหรับเปลี่ยนหลอดไฟ ใช้บันไดสูง (ต้องหาที่เก็บบันไดด้วย) และใช้ระบบรอกเพื่อนำโคมไฟลงมาเปลี่ยนข้างล่าง แต่จะให้ดีก็อย่าติดโคมไฟไว้สูงเกินไป ชีวิตจะได้ไม่ลำบาก
7.เรื่องของบันได
บันไดเป็นจุดพลาดยอดฮิตของหลายๆ บ้าน ปัญหาที่มักพบเจอคือ
- จมูกบันไดไม่ยื่น จมูกบันไดคือส่วนยื่นของปลายลูกนอน ซึ่งควรยื่นให้เหลื่อมกัน 1 นิ้ว เพื่อช่วยให้เดินได้เต็มเท้าและมีระยะการก้าวที่สะดวก จำเป็นมากสำหรับบันไดที่มีลูกนอนไม่กว้าง แต่ถ้าเป็นบันไดที่มีลูกนอนกว้างกว่าปกติ จะไม่ทำจมูกบันไดเหลื่อมกันก็ยังเดินได้สะดวก
- ระยะความสูงของลูกตั้งไม่เท่ากัน จุดที่พบบ่อย คือ ระยะจากพื้นกับบันไดไม่เท่ากับขั้นอื่น ซึ่งเกิดจากการคำนวณระดับพื้นไม่ถูกต้อง หรือมีการเปลี่ยนวัสดุปูพื้น เพราะวัสดุปูพื้นแต่ละชนิดจะมีการเตรียมระดับต่างกัน หากก่อสร้างระดับพื้นคลาดเคลื่อนก็จะส่งผลกับระดับบันไดด้วย
8.ยืนทำครัวแล้วปวดหลัง
การทำครัวจะเหนื่อยยิ่งขึ้น หากทำเคาน์เตอร์ไม่พอดี ทำให้ต้องก้มตัวมากกว่าปกติ ซึ่งมี 2 จุดที่สำคัญ คือ
- ระยะยื่นของจมูกท็อปเคาน์เตอร์และระยะสอดปลายเท้า ควรยื่นขอบท็อปเคาน์เตอร์ออกมาประมาณ 1 นิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เดินชนมือจับตู้ใต้เคาน์เตอร์ และควรออกแบบฐานตู้ให้มีระยะสอดปลายเท้าลึก 2 นิ้ว ก็จะช่วยให้ยืนชิดเคาน์เตอร์ได้โดยไม่ต้องเอนตัวมาข้างหน้า
- ความสูงเคาน์เตอร์ สำหรับคนไทยควรทำสูง 85 – 90 เซนติเมตร ก็จะไม่ต้องก้มตัวทำอาหารจนปวดหลัง
9.เสียบ-ถอดปลั๊กตู้เย็นยากจัง
ตำแหน่งปลั๊กทั่วไปมันอยู่สูงจากพื้น 30-40 เซนติเมตร แต่เมื่อวางตู้เย็นแล้วมักบังที่อยู่ด้านหลัง ทำให้การถอดและเสียบปลั๊กต้องเลื่อนตู้เย็นออกมาจึงจะเอื้อมถึง ปลั๊กสำหรับตู้เย็นจึงควรติดตั้งให้เยื้องจากตำแหน่งตู้เย็นเล็กน้อย อาจอยู่ที่ผนังด้านข้าง หรือทำสวิตช์ต่อกับปลั๊กก็จะสะดวกมากขึ้น
10.เลือกเตาแก๊สก่อนทำเคาน์เตอร์ครัว
เนื่องจากเตาแก๊สมีทั้งแบบลอยตัวและแบบฝัง ซึ่งมีการเตรียมพื้นที่ติดตั้งต่างกัน หากเป็นแบบฝังสามารถทำเคาน์เตอร์เรียบเสมอกันได้ แต่ถ้าใช้แบบลอยตัว ควรทำเคาน์เตอร์ลดระดับลงมา 10 -12 เซนติเมตร (แล้วแต่รุ่น) เพื่อให้ระดับเตาแก๊สไม่สูงเกินไป
11.เลือกก๊อกซิงค์ให้ถูก
การเลือกก๊อกของอ่างล้างจานให้ถูกตั้งแต่แรก จะช่วยลดปัญหาได้หลายอย่าง
- ที่จับแบบก้านโยก ไม่ควรเลือกก๊อกแบบหมุนเด็ดขาด เพราะจะเปิดปิดยากโดยเฉพาะเมื่อมือลื่นจากน้ำมันหรือน้ำยาล้างจาน การใช้ก้านโยกจะสามารถใช้มือหรือข้อศอกปัดเพื่อเปิดปิดน้ำได้ง่ายและเร็ว
- ก้านก๊อกยาวและปรับองศาได้ รูปแบบก๊อกน้ำจะสัมพันธ์กับขนาดและความลึกอ่างล้างจาน ถ้าอ่างลึกและกว้าง ก๊อกน้ำไม่จำเป็นต้องยาวหรือสูง แต่ถ้าอ่างล้างจานตื้นและเล็กอย่างนิยมใช้ทั่วไปเพราะมีราคาย่อมเยา ควรใช้ก๊อกก้านยาวและปรับองศาได้ เพื่อให้สามารถล้างอุปกรณ์ขนาดใหญ่อย่างหม้อหรือเขียงใหญ่ๆ ได้ง่ายขึ้น
12.ชอบกินน้ำพริก แต่ใช้ครัวฝรั่ง
แพนทรี่หรือครัวแบบฝรั่งนั้นดูสวยดี แต่บางครั้งความสวยก็กินไม่ได้ ถ้าปกติเราชอบทำอาหารไทยที่ต้องตำน้ำพริก โขลกพริกแกง และผัดไฟแรงๆ ก็เหมาะกับการทำครัวด้วยเคาน์เตอร์ปูน ปูกระเบื้องเซรามิกหรือแกรนิตที่ทนแรงกระแทกได้ดี ทั้งยังอาจทำแท่นปูนหรือไม้แบบตั่งสูงประมาณ 45 เซนติเมตร เป็นที่นั่งสำหรับเด็ดมะเขือ ตำน้ำพริกได้แบบไม่เมื่อยขา จึงไม่เหมาะกับท็อปหินสังเคราะห์และเคาน์เตอร์โครงไม้ที่ใช้สำหรับทำอาหารเบาๆ