10 เทรนด์ บ้านในอนาคต
บ้านในอนาคต อีก 10 ปีหน้า รูปแบบการใช้ชีวิตและการอยู่อาศัยย่อมไม่เหมือนเดิม มาดู 10 เทรนด์บ้านในอนาคตกัน
ข้อมูลจากการวิจัยพบแนวทางการพัฒนาธุรกิจด้านที่อยู่อาศัยของ ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคตบารามีซี่แล็บ (Baramizi Lab) ซึ่งเป็นผู้จัดทำ ASA WOW Thematic Pavilion ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ อมรินทร์กรุ๊ป และพันธมิตร และบรรยายใน Future Lab Forum 2022 หัวข้อ Xperience Design Future Trend for Property Sector 2023-25 พบ 10 เทรนด์ที่ตรงกับ 3 ปัจจัยคือ เป็นไปในทิศทางเดียวกับ Megatrend มี Innovation Case Study ที่เกิดซ้ำกัน และสอดรับกับความคาดหวังของผู้บริโภคระดับสากลและคนไทย 10 เทรนด์ บ้านในอนาคต มีดังนี้
1.BIODIVERSE WELL-LIVING
ประสบการณ์สุขภาพดีท่ามกลางความหลากหลายทางชีวภาพ
เมืองและที่อยู่อาศัยที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี จะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย โดยเน้นสร้างการอยู่อาศัยท่ามกลางธรรมชาติที่มีความหลากหลาย หรือพยายามไม่เป็นส่วนหนึ่งของการทําลายความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อชดเชยการพัฒนาเมืองในอดีตที่ทำลายธรรมชาติที่มีความหลากหลายไปมาก ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพมีข้อดี คือ ช่วยสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง ช่วยสร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพที่แตกต่าง และสร้างการตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของสรรพสิ่งรอบตัวมนุษย์
2.THE SERENEXURIOUS
ประสบการณ์ความนิ่งสงบ เข้าถึงจิตวิญญาณเพื่อสร้างสมดุลอย่างมีระดับ
Carlin Creative Trend Bureau ได้ตีพิมพ์เทรนด์เกี่ยวกับการออกแบบประจําปี 2023 ที่มีชื่อว่า Gain Height ประสบการณ์แห่งการล่องลอย (Levitation) โดยนิยามว่าจิตใจของเราจะผ่อนลงเมื่อเกิดระยะห่างจากตัวตนและความกังวลใจ จะนําพาถึงการตรึกตรองและความสงบสู่จิตวิญญาณ ประสบการณ์เหล่านี้ถูกกระตุ้นด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ก้าวหน้า ทําให้เกิดรูปทรงโค้งมนที่ตื่นตา บริสุทธิ์ ดูไร้โครงสร้าง เช่น การออกแบบพื้นที่ให้โอบล้อมตัดการรับรู้และสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เพื่อความสงบและเติมเต็มจิตใจ การออกแบบด้วยรูปร่างรูปทรงที่โค้งมนเหมือนดั่งล่องลอยในอากาศ อาจรวมทั้งผิวสัมผัสที่นุ่มและด้าน เสริมความลื่นไหลและความกระปรี้กระเปร่า
แบบแปลนห้อง และการวางเฟอร์นิเจอร์ ทำเองได้
3. ALL-IN-HOME
ประสบการณ์ของบ้านที่รองรับทุกมิติการใช้ชีวิต
การสร้างที่ บ้านในอนาคต ไม่ได้ตอบโจทย์เพียงการใช้พักอาศัยอีกต่อไป แต่ต้องรองรับทุกมิติการใช้ชีวิตได้ด้วย พื้นที่บ้านมีการจัดสรรอย่างอิสระตามกิจกรรมที่เกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนได้ตามไลฟ์สไตล์ ทั้งการทำงาน การเรียนรู้ โซเชียล การพบแพทย์ การบริโภค งานอดิเรกและความบันเทิง โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อบ้านกับทุกกิจกรรมได้
4.ACTIVE-AGING EXTENDED
ประสบการณ์การยืดช่วงเวลาความแอคทีฟให้ยาวนานขึ้นกว่าเดิม
การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกันมากขึ้น แต่ส่วนมากเป็นการเตรียมพื้นที่เชิงรับเพื่อรองรับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องดีแต่ยังไม่ตอบโจทย์เพียงพอ เพราะไม่มีใครอยากแก่แล้วอยู่แต่ในบ้าน ซึ่งช่วงผู้สูงวัยจะมี 3 ช่วง คือ ผู้สูงวัยที่ยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้เอง ผู้สูงอายุที่เริ่มอยู่กับบ้าน และผู้สูงอายุที่เริ่มป่วยจนติดเตียง จึงเป็นเทรนด์การออกแบบบ้าน โครงการอสังหาริมทรัพย์ และเมืองที่ช่วยยืดช่วงเวลาที่ผู้สูงวัยยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้เองให้ยาวนานขึ้น เช่น มีพื้นที่อิสระให้ผู้สูงอายุซึ่งไม่รบกวนกันระหว่างคนในครอบครัว มีการใช้เทคโนโลยีในการเยียวยาร่างกายและจิตใจ ใช้กิจกรรมเชิงรุกในการรักษาสุขภาพ การดูแลจิตใจ ส่งเสริมในการสร้างมิตรภาพใหม่ๆกับคนรอบข้าง และการให้ผู้สูงอายุยังคงทำงานที่มีคุณค่า หรือได้แบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่น
5.RENT I/O (Instead of) OWN PHENOMENA
คนรุ่นใหม่มีแนวคิดยอมรับที่จะเช่า แทนการเป็นเจ้าของ
แนวคิดการเช่าแทนการเป็นเจ้าของ ในประเทศไทยปัจจุบันยังเกิดขึ้นไม่มาก แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ด้วยราคาที่ดินและค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ มีผลให้คนรุ่นใหม่จะมีความสามารถในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้น้อยลง จึงต้องเปลี่ยนเป็นการเช่า เทรนด์นี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้ ในทางธุรกิจถือเป็นช่วงเวลาการทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่นิยมของคนรุ่นต่อไป เช่น ที่พักอาศัยแบบเช่าสุดครบครับ หรือแม้แต่การเช่าไลฟ์สไตล์
6.REAL ESTATE AS A SERVICE สร้าง Life – Long Customer
ด้วยการทรานส์ฟอร์มโมเดลธุรกิจ
เป็นเทรนด์ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มาแรงในยุโรป โดยไม่มุ่งเน้นขายตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำเสนอขายบริการที่ตรงกับความต้องการในการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยมองหาช่องว่างใหม่ๆที่เกิดขึ้นในไลฟ์สไตล์ผู้อยู่อาศัยบ้านในอนาคต แล้วคิดบริการมารองรับ ทั้งบริการเรื่องบ้าน การทำงาน การเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ธุรกิจที่จะมีลูกค้าระยะยาว ทำให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งลูกค้าก็ได้คนมาช่วยเหลือ ธุรกิจก็ไม่ต้องหาลูกค้าใหม่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นตำตอบที่น่าสนใจสำหรับการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจสำหรับอนาคต
35 แบบบ้านสวน – บ้านฟาร์ม สำหรับคนรักธรรมชาติ
7.AI ASSISTANCE
ประสบการณ์ของผู้ช่วยที่ทําให้ชีวิตเปี่ยมประสิทธิภาพ
เนื่องจากปัจจุบันเราต่างทำงานหลายอย่างที่เราไม่สมควรเสียเวลาทำ ซึ่งระบบ AI สามารถเข้ามาช่วยส่วนนี้ได้ จึงเป็นเทรนด์แห่งการพัฒนาเพื่อนำงานต่างๆเหล่านั้นออกไปจากชีวิตคนเรา เช่น เครื่องตัดหญ้าที่มีระบบประมวลผลการตัดซึ่งลดเวลาในการตัดให้เจ้าของบ้านได้ 20 นาที เทรนด์นี้จึงเป็นหนึ่งโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆรองรับระบบ AI ไลฟ์สไตล์ในอนาคต รวมถึงการออกแบบบ้านที่บางฟังก์ชันอาจหายไป หรือใช้พื้นที่เล็กลงเมื่อมีระบบ AI มาทดแทน
8.NET ZERO AGENDA
เป็นผู้นําเพื่อผลประโยชน์ของโลกและของธุรกิจ
ในเมื่อเรื่อง NET ZERO เป็นสิ่งที่เราควรทำและจะต้องทำอยู่แล้ว ทั้งในระดับบ้านและระดับเมือง จะดีกว่าถ้าเราเริ่มเร็ว และเปลี่ยนจากผู้ทำตามเทรนด์โลก มาสู่การเป็นผู้นําด้าน NET ZERO เป็นเทรนด์สำหรับการพัฒนาธุรกิจ โดยให้ตั้งเป็นหนึ่งเป้าหมายในการลงทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อเป็นเจ้าของนวัตกรรมและเป็นผู้นำองค์อื่นๆได้
9.HUMANITY RESILIENCE
ประสบการณ์นวัตกรรมการปรับตัวอยู่รอดเพื่อมวลมนุษยชาติ
ในยุคที่ทุกคนประสบปัญหาด้านความอยู่รอด ทั้งโรคภัย ภัยพิบัติ และความเสื่อมของสภาพแวดล้อม ประเทศไทยกําลังต้องการต้นแบบที่หลากหลาย สร้างสรรค์ สอดรับกับบริบทของสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่เป็นแนวทางเพื่อการวิจัยและพัฒนาในอนาคตเพื่อความอยู่รอดต่อปัญหาต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัยที่สามารถรับมือกับนํ้าท่วมหรืออยู่กับนํ้าท่วมได้อย่างเป็นปกติ เมืองต้นแบบที่เอาตัวรอดได้เมื่อโดนตัดขาด วัสดุที่ช่วยปกป้องจากภัยพิบัติต่างๆ นวัตกรรมที่คาดการณ์ถึงสภาพภัยพิบัติอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น และกรรมวิธีการผลิตที่สามารถทําได้แม้สถานการณ์คับขัน
10.NEW FRONTIER
การวิจัยและพัฒนาเพื่ออาณานิคมใหม่
เป็นเทรนด์ที่ดูไกลตัวมากๆ แต่ก็มีการวิจัยเรื่องที่อยู่อาศัยร่วมกับแวดวงอวกาศ จึงมีทิศทางใหม่ๆในการวิจัยและพัฒนาต่อไป เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีความเป็นอยู่ในอวกาศ การต่อยอดเทคโนโลยีอวกาศมาแก้ปัญหาบนพื้นโลก การสร้างแรงบันดาลใจด้วยจิตนาการถึงอวกาศ
รับฟังการบรรยาย Future Lab Forum 2022
รู้จักบารามีซี่ แล็บ (Baramizi Lab) ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคต เป็นหน่วยงานทำวิจัยที่เก็บข้อมูลกับกลุ่มคนในหลายกลุ่มธุรกิจ เพื่อนำมาวางแผนกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ในการก้าวสู่อนาคตสำหรับกลุ่มธุรกิจ ทิศทางองค์กร ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ตลอดจนการบริหารการพัฒนาเมือง โดยเชื่อว่าถ้าจะหาทิศทางในการก้าวสู่อนาคตนั้น การถามในสิ่งที่เป็นปัจจุบันจะไม่เห็นทิศทางอะไร เพราะผู้คนจะตอบในสิ่งที่ตัวเองเคยเห็นเท่านั้น จึงต้องศึกษาเทรนด์ นำสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตมาสร้างประเด็น และเข้าสู่กระบวนการวิจัย เพื่อให้เห็นความต้องการใหม่ๆ และความเป็นไปได้ในอนาคต
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซปต์แห่งอนาคต บารามีซี่ แล็บ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.baramizi.co.th/shop/
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, Baramizi Lab