สวนผักหลังบ้านและ สวนผักบนดาดฟ้า เพราะใส่ใจในสุขภาพอยู่เสมอ นอกจากการเป็นที่ปรึกษาการสร้างแบรนด์ด้านแฟชั่นและธุรกิจอื่น ๆ แล้ว เจ้าของบ้าน อย่าง คุณมิ้งค์ – เสาวคนธ์ พรพัฒนารักษ์ ยังสนุกกับการสร้างสรรค์เมนูอาหาร ซึ่งเมนูประจำวันส่วนใหญ่ยังคงเป็น อาหารคลีนจำพวกสลัดและน้ำผักปั่น หลังคุณมิ้งค์มีลูกน้อย คือ “น้องมูน” ความใส่ใจในเรื่องนี้ก็ยิ่งเพิ่มทวีคูณ
สวนผักหลังบ้าน
บ้านสีอิฐสไตล์โมร็อกโกกับการจัดสวนเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 3 ปี ก่อน แม้วันนี้ภาพสวนจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา และความพึงใจของเจ้าของบ้าน แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับบ้านมาตั้งแต่เริ่มต้นก็คือ “สวนครัว” ซึ่งจัดไว้บริเวณหลังบ้านตลอดริมกำแพงอิฐเปลือยที่ยาวขนานไปกับตัวบ้าน ออกแบบให้มีแปลงผักหลากหลายชนิดที่ใช้ปรุงเป็นเมนูอาหารคู่ครัวในแต่ละวัน และพืชสวนครัวเหล่านี้ก็ถูกปลูกหมุนเวียนกันไปตามช่วงอายุ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องโรคและแมลง
จะว่าไปแล้วพื้นที่บริเวณนี้ก็เปรียบเสมือนห้องทดลองที่ทำให้คุณมิ้งค์คุ้นเคยกับการปลูกพืชผักและค่อย ๆ เรียนรู้เรื่อยมา แม้คุณมิ้งค์จะบอกว่าถนัดในเรื่องการจัดตกแต่ง และหาอุปกรณ์เสริมมากกว่า ทั้งโต๊ะปลูกผัก โรงเรือนสำเร็จรูป ขนาดเล็กที่สั่งทางออนไลน์ ซึ่งคุณมิ้งค์บอกว่าใช้ได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง กระทั่งโรงเรือนไม้หลังใหญ่สไตล์ยุโรปที่สั่งทำพิเศษ เพื่อจัดเตรียมไว้สำหรับปลูกสมุนไพรฝรั่ง กลายเป็นของตกแต่งชิ้นสำคัญที่มากประโยชน์ คุณมิ้งค์ได้ตกแต่งบริเวณข้างโรงเรือนด้วยโต๊ะไม้ขนาดใหญ่กลายเป็นมุมอเนกประสงค์ สำหรับใช้นั่งกินข้าวหรือปาร์ตี้เล็ก ๆ ในครอบครัว
เนื่องจากร่มเงาของไม้ใหญ่ที่แผ่ปกคลุมบริเวณนี้ แม้จะตัดแต่งกิ่งไม้ออกบ้างเพื่อเปิดช่องแสง แต่พืชผักด้านล่างก็ยังคงต้องการแสงมากกว่านี้ เมื่อเริ่มเกิดข้อจำกัด คุณมิ้งค์จึงมองหาพื้นที่ใหม่สำหรับขยายแปลงผัก และได้เลือกพื้นที่บนดาดฟ้า ซึ่งเคยจัดไว้เพื่อความงามแต่เพียงอย่างเดียว
เพิ่มพื้นที่ปลูกผักบนดาดฟ้า
นอกจากความงามตามธรรมชาติของสวนสวยบนผืนดินที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่ครั้งเมื่อ 3 ปีก่อน ในช่วงนั้น บนหลังคาโรงจอดรถแห่งนี้ได้จัดสวนสไตล์ยุโรปชนบท มีหญ้า น้ำพุพลิ้วไหวล้อไปกับบรรยากาศของสวนสวย ซึ่งแม้จะปลูกต้นไม้ในกระถาง แต่ก็สามารถจัดตกแต่งให้ดูเป็นธรรมชาติได้อย่างลงตัว และเมื่อถึงคราวปรับพื้นที่สำหรับเพิ่มแปลงผักก็ดูจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับสวนสไตล์นี้ นักจัดสวนจึงใช้พื้นที่มุมที่ได้รับแสงแดดดี ออกแบบเป็นแปลงไม้ให้กลมกลืนกับบรรยากาศเดิมในแปลงปลูกพืชผักที่ใช้บ่อย ๆ โดยปลูกแบบผสมผสานกัน รวมถึงแทรกกระถางปลูกผักและไม้ดอกกินได้ไว้ตามจุดต่าง ๆ ล้อรับไปกับสวนเดิมเป็นสวนใหม่ที่เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์กินได้ด้วย ซึ่งก็เข้ากับธีมของสวนยุโรปชนบท
อีกสิ่งที่โดดเด่นอย่างชัดเจนบนดาดฟ้าก็คือ โรงเรือนโครงไม้ขนาด 2.20 x 2.40 เมตร ที่ออกแบบให้มีหลังคาเพิงหมาแหงนคล้ายกระท่อมร้างที่ผนังบางส่วนหายไป ซึ่งตำแหน่งที่วางโรงเรือนถูกใช้เป็นฉากหลังให้กับสวน ภายในโรงเรือนมีไม้ยืนต้น อย่าง มะพร้าวแคระและต้นทีทรีออยล์ตกแต่งไว้ ส่วนภายนอกโรงเรือนปลูกต้นเฟื่องฟ้าและเหลืองออสเตรเลียที่ให้ดอกสีสวย ส่งให้โรงเรือนไม้เก่าหลังนี้ดูสวยงามน่าค้นหา
ภายนอกโรงเรือนยังมีไม้ยืนต้นอื่น ๆ อย่าง แก้วเจ้าจอม แปรงล้างขวด หูกระจงแดง จอมพล และยี่โถ ปลูกไม้พุ่ม อย่างนีออน ผักชีช้าง หงส์ฟู แทรกด้วยไม้ดอกกินได้ อย่าง ดาวกระจาย เดือนฉาย กุหลาบ เวอร์บีน่า มาร์กาเร็ต แปลงปลูกผักจำพวกเคล สวิสชาร์ด และแปลงสมุนไพรผสมผสาน อย่าง มินต์ เบซิล โรสแมรี่ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง และมะเขือเทศ เพื่อให้เจ้าของบ้านได้นำผลผลิตไปใช้ปรุงอาหาร
พื้นที่ของคุณแม่และลูกน้อย
นอกจากมีพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักที่สวยงามและเพื่อเพิ่มผลผลิตในครัวเรือนแล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นที่เล่นสนุกของน้องมัน และคุณแม่ได้เล่นน้ำและเก็บผักอย่างสนุกสนาน ซึ่งคุณมิ้งค์มั่นใจว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวสำหรับลูกน้อย นอกจากก่อให้ เกิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์แล้ว สวนแห่งนี้ยังคล้ายห้องเรียนธรรมชาติที่ส่งเสริมการเรียนรู้และผ่อนคลายจิตใจ ดังเช่นที่ตนเองสัมผัสได้
“มิ้งค์รู้สึกได้เลยว่าการทำสวนทำให้ใจเย็นขึ้น ต้นไม้จะสอนให้เรารู้จักรอคอย แต่ละฤดูกาลมีความต่างให้เราได้ดู แรก ๆ เคยเห่ออยากได้ต้นไม้แปลก ๆ แต่เอาเข้าจริงก็เรียนรู้ว่า ต้นอะไรที่อยู่ได้หรือไม่ได้ ตอนหลังเริ่มรู้สึกว่าต้นไม้ธรรมดา ๆ ที่ชอบบรรยากาศแบบบ้านเรากลับอยู่ได้ยั่งยืนกว่า ดังนั้น หากต้องการสร้างบรรยากาศในแบบที่ต้องการ สามารถทำได้ ด้วยการออกแบบค่ะ”
หนังสือ จัดสวนกินได้อย่างมีสไตล์ (The Edible Garden)
เจ้าของ : คุณเสาวคนธ์ พรพัฒนารักษ์
ออกแบบ-จัดสวน : Saturday & Sunday Garden โดยคุณภูษิต พันสาง และคุณสมภพ พานทอง