ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็น สวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ที่คงกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นไว้อย่างเต็มเปี่ยม
แต่ที่พิเศษกว่าคือเป็นสวนญี่ปุ่นรูปแบบผสมผสาน มีลักษณะเป็นเนินแบบสวนธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้มีต้นไม้มากนัก มีการจัดวางหินและพื้นกรวดแบบสวนหินคาเรซันซุยอยู่รวมกัน โดยไม่ได้แยกออกจากกันชัดเจน ซึ่งสวนญี่ปุ่นแบบผสมผสานนี้ มีมาตั้งแต่หลังยุคเอโดะ เมื่อประมาณ 300-400 ปีที่ผ่านมา
คุณภูริ – ภูริวัจน์ วรากิติยาวิโรจกุล ผู้ออกแบบสวน เล่าถึงความเป็นมาของสวนแห่งนี้ให้ฟังว่า “เจ้าของบ้านติดต่อมา เพื่อให้ช่วยซ่อมสวนเดิมครับ ตอนเข้ามาดูพื้นที่ผมก็เสนอว่าบริเวณนี้น่าเล่นกับสวนญี่ปุ่น เจ้าของบ้านเองก็ชอบญี่ปุ่นอยู่แล้ว หลังจากพูดคุยกันก็เลยตัดสินใจทำสวนใหม่ทั้งหมดครับ โจทย์ของเราคือสวนที่ดูเรียบ ๆ ต้นไม้ไม่ต้องมาก ดูแลง่าย เน้นพร็อปส์สวย ๆ เพื่อให้เข้ากับบ้านที่เป็นสไตล์โมเดิร์น และเข้ากับบุคลิกของเจ้าของบ้าน
“สมาชิกในบ้านชอบมานั่งเล่นบริเวณพักผ่อนในช่วงเช้าและบ่ายเป็นส่วนใหญ่ ผมใช้มุมมองจากบริเวณนี้เป็นหลัก สวนจึงมีจุดโฟกัสเพียงแค่มุมเดียว จึงช่วยจัดการมิติในสวนได้ง่ายขึ้น รั้วสูงและไม้เลื้อยเป็นของเดิมที่มีอยู่แล้วและเจ้าของอยากเก็บไว้ แต่ต้นทิ้งใบด้านล่างเกือบหมดทำให้ดูไม่สวย ผมใช้ไม้สนตีเป็นกำแพงยาวตลอดแนว เว้นระยะให้โปร่งเพื่อให้ไม่รู้สึกอึดอัด กำแพงไม้สนนี้มีประโยชน์หลายอย่าง นอกจากจะช่วยบังความไม่สวยของไม้เลื้อยแล้ว ยังช่วยพรางตาว่าด้านหลังกำแพงมีอะไรต่อไปอีก ลวงให้รู้สึกว่าสวนกว้างกว่าที่เห็น และยังใช้เป็นแบ็กกราวนด์ให้สวนดูเด่นขึ้นด้วยครับ”
ไม่ว่าจะเป็นฉากไม้สนที่ทอดยาวตลอดแนวกำแพงเสม็ดแดงต้นใหญ่ฟอร์มสวยที่แตกกิ่งทอดเลื้อย ชี้นำให้สายตามาไม่ว่าจะเป็นฉากไม้สนที่ทอดยาวตลอดแนวกำแพง เสม็ดแดงต้นใหญ่ฟอร์มสวยที่แตกกิ่งทอดเลื้อยชี้นำให้สายตามาหยุดอยู่ที่ตะเกียงหินขนาดใหญ่ที่ตั้งเด่นบนเนินมอสส์เขียวชอุ่ม กลุ่มก้อนหินน้อยใหญ่ที่จัดวางเรียงรายลดหลั่นอยู่บนพื้นกรวด ทุกอย่างล้วนสอดคล้องต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน และทำให้ภาพรวมของสวนญี่ปุ่นที่นิ่งสงบนี้ดูโมเดิร์นและมีอะไรที่น่าสนใจยิ่งขึ้น
“ที่นี่ใช้หินที่ผมเรียกว่า ‘แกรนิตเขียว’ ครับ ลักษณะคล้ายหินแกรนิต เมื่อโดนน้ำจะเป็นสีดำ ๆ เขียว ๆ ไม่มันเงา ผิวขรุขระมีเหลี่ยมมุมดูมีมิติ เป็นหินที่ไม่ได้มีขายทั่วไป ผมไปเจอและซื้อเก็บสะสมไว้ จริง ๆ แล้วผมคิดว่าในบ้านเรามีวัตถุดิบที่นำมาใช้จัดสวนญี่ปุ่นได้เยอะทีเดียว เพียงแต่ไม่มีใครนำมารวมไว้ เราแค่ต้องเฟ้นหา ผมเองก็ชอบที่จะไปตามหา เจอของสวย ๆ ก็เก็บสะสมไว้ ทั้งหิน ต้นไม้ และของตกแต่งสวนต่าง ๆ แล้วค่อยเลือกนำมาใช้ให้เหมาะกับสวนในแต่ละที่ครับ
“ส่วนการจัดวางหินหรือที่ผมเรียกว่า ‘การพรีเซ้นต์หิน’ ก็ใช้พื้นฐานการวางหินในงานจัดสวนเลยครับ เราจะเล่นกับจุดโฟกัสสายตา ต้องพินิจก่อน อ่านหินให้ออกว่าหน้าสวนอยู่ด้านไหน วางหินแบบไหนจะสวยที่สุดได้ในระดับไหน วางหินก้อนใหญ่เป็นประธานก่อน แล้วค่อยพิจารณาว่าจะเล่าเรื่องแบบไหน วางหินก้อนต่อๆ ไปอย่างไร ดูจากรูปทรงหิน ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ครับ ส่วนใหญ่ผมจะออกแบบเป็นกรอบไว้ก่อนแล้วค่อยมาดูหินจริงที่หน้างาน พยายามจัดวางให้เป็นไปตามเค้าโครงของแบบให้มากที่สุด บางทีเราก็กำหนดไม่ได้ว่าหินที่มีจะเหมาะกับพื้นที่จริงหรือไม่ บางครั้งอาจก้อนเล็กไป เราก็ต้องทำเนินเพื่อยกหินให้สูงขึ้น จัดวางตำแหน่งใหม่ให้ดูใหญ่ขึ้น เราต้องแก้ปัญหาเพื่อพรีเซ้นต์หินให้ได้ครับ ส่วนกรวดเลือกใช้กรวดแกรนิตสีเทาที่มีประกายนิด ๆ ทำให้สวนดูสว่างขึ้น และก็ไม่เปื้อนง่าย
“เดิมพื้นสวนเป็นสนามหญ้า แต่บริเวณนี้ร่มเกินไปสำหรับหญ้า เหมาะที่จะปลูกมอสส์มากกว่า เราเปลี่ยนเป็นมอสส์น้ำทั้งหมด ติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ให้ทำงานทุก 2 ชั่วโมง ครั้งละ 2 นาที เพื่อช่วยเพิ่มความชื้นให้มอสส์ และติดเพิ่มตามกิ่งต้นไม้ใหญ่ เพื่อพรมน้ำให้กระจายความชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณสวน ช่วยลดอุณหภูมิในบรรยากาศ ทั้งยังช่วยสร้างมิติของแสง ตอนแดดส่องจะเห็นแสงลอด เห็นรุ้ง ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้สวนด้วยครับ
“สำหรับสวนญี่ปุ่นแล้ว รูปแบบของสวนมีผลต่อการเลือกชนิดต้นไม้ สวนแต่ละแบบจะใช้ต้นไม้ที่ให้อารมณ์ต่างกัน เพราะสวนมีกำเนิดที่ต่างกัน มีฟีลลิ่งที่ต่างกัน อย่างเช่นสวนชา ต้นไม้จะดูมีความเป็นธรรมชาติ สีไม่ฉูดฉาดมาก ต้นไม้จะไม่ใหญ่มาก ควรเป็นไม้ระดับสายตามีความสูงไม่เกิน 2.50 เมตร ที่นี่ผมจัดสวนชาไว้ 2 จุด อยู่ใกล้บริเวณนั่งพักผ่อนที่เจ้าของบ้านใช้งานบ่อย ๆ ได้ยินเสียงน้ำไหลเบา ๆ ทำให้รู้สึกสงบครับ
“สำหรับสวนญี่ปุ่นแล้ว รูปแบบของสวนมีผลต่อการเลือกชนิดของต้นไม้ครับ สวนแต่ละแบบจะใช้ต้นไม้ที่ให้อารมณ์ต่างกั“เรายังเน้นจัดสวนที่เป็นสไตล์สวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่มีที่มาที่ไป เจตจำนงของสวนมีไว้เพื่อแต่งแต้มความสุขให้ผู้คน เราใช้ความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบของธรรมชาติมาแต่งแต้มความสุข ความสุขไม่ได้ต้องการความสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างล้วนมีความสวยงามในตัวเอง ทุกครั้งที่เราเดินเข้ามาในบ้านที่ยังดูรก ๆ แต่เมื่อเราหันหลังเดินออกจากบ้านแล้วลูกค้ายิ้ม เพื่อนๆ ของลูกค้าชมว่าสวนสวย ผมและพนักงานของผมก็มีความภูมิใจในสิ่งนี้ครับ” คุณภูริกล่าวถึงริเน็น (แนวคิดหรือปรัชญา) ของการทำงานทิ้งท้ายไว้ให้ฟัง
นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนมกราคม 2566
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, ยุทธนา กล้วยไธสง
ออกแบบ : บริษัท Wabisabi Spirit โดยคุณภูริวัจน์ วรากิติยาวิโรจกุล โทรศัพท์ 081-133-9596