“ตลาดน้อย เสน่ห์ของย่านเก่าที่สร้างทดแทนไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เมืองมีความหลากหลายอย่างน่าสนใจ ความเป็นเมืองที่เข้ามาจึงควรถ่อมตนกับเอกลักษณ์เดิมของย่าน“
“ตลาดน้อย” ย่านต้องมนตร์เสน่ห์จากวัฒนธรรมเก่าแก่ของจีน ที่ยังคงทิ้งร่อยรอยทางประวัติศาสตร์เด่นชัด รอคอยให้เราเดินลัดเลาะเข้าไปทำความรู้จัก สัมผัสวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตเก่าและใหม่ที่ผสมผสานกันหลากหลาย จนเกิดคำถามว่า ทำไมคนรุ่นใหม่จึงสนใจเข้าไปทำธุรกิจในย่านเก่าแก่ แล้วย่านเก่าแบบนี้สำคัญกับ “ความเป็นเมือง” อย่างไร มาทำความรู้จักตลาดน้อยในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมือง และสถาปัตยกรรม ผ่านมุมมองของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรยา บุญประสงค์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์และปรับปรุงอาคาร และการฟื้นฟูย่านเก่า ซึ่งจะพาเราไปทำความรู้จักกับ ตลาดน้อย ในแง่มุมต่าง ๆ และตั้งใจส่งต่อประเด็นให้เราได้ขบคิดอย่างน่าสนใจ
ภาพจำแรกของตลาดน้อย คือ ย่านคนจีน
เหตุใดวัฒนธรรมจีนจึงมีอิทธิพลต่อย่านนี้อย่างมาก
ตลาดน้อยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวจีนที่ย้ายมาจากฝั่งกรุงธนบุรีตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่ได้มีแค่ชาวจีนเท่านั้น แต่ยังมีชาวมุสลิม โปรตุเกส และชาวตะวันตกกลุ่มอื่น ๆ ตั้งรกรากอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน การเจริญเติบโตของตลาดน้อยสามารถเท้าความย้อนไปยังความเฟื่องฟูของท่าเรือสำเภาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และการกำเนิดของท่าเรือ “โปเส็ง” ของตระกูลโปษยจินดา และท่าเรือสำคัญอีกหลายแห่งในบริเวณท่าน้ำราชวงศ์และทรงวาดอีกด้วย ตลาดน้อยในเวลานั้นก็น่าจะเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่ตั้งรกรากของชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนฮากกา ชาวจีนแต้จิ๋ว และชาวจีนอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม
ช่วงแรกชาวจีนที่อาศัยอยู่ในตลาดน้อยเป็นชาวฮกเกี้ยน ตั้งรกรากอยู่บริเวณ “บ้านโรงกระทะ” มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ไม่มีการระบุขอบเขตของพื้นที่แต่อย่างใด แต่ถ้าเราเข้าไปเดินในตลาดน้อยจะเห็นกระทะที่แขวนไว้ในเชิงสัญลักษณ์ ต่อมาพระยาวิสูตรสาครดิฐ หรือจอห์น บุช ผู้เป็นกัปตันเดินเรือคนสำคัญได้เข้ามาตั้งรกรากในบริเวณสี่พระยา และมีการใช้พื้นที่ในบริเวณเป็นอู่ต่อเรือ จนกระทั่งภายหลังการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง การค้าขายทางเรือก็ขยายตัวออกไป มีการสร้าง “ฮวยจุงโล่ง” (ล้ง 1919) ในบริเวณคลองสาน เป็นท่าเรือกลไฟแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อค้าขายสินค้าทางการเกษตร หนังสัตว์ และเครื่องเทศ ยังเป็นสถานที่ตรวจคนเข้าเมืองในสมัยนั้นด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ย่านตลาดน้อยก็มีชาวจีนฮากกา ชาวจีนกวางตุ้ง และชาวจีนไหหลำย้ายเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้มากขึ้น จนเติบโตขึ้นเป็นชุมชนตลาดขนาดใหญ่ เช่น ตลาดเจ้าสัวสอน ตลาดเจ้าสัวเท่ง ตลาดเจ๊กปิ่น เป็นที่ตั้งของห้างร้าน สำนักงาน ธนาคาร และกิจการสำคัญหลายแห่ง
ตลาดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างการตั้งรกรากของชาวจีนกับชาวตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนชาวโปรตุเกสที่ขยายตัวมาจากย่านกุฎีจีน หรือชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสำรวจแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงรัชกาลที่ 3 ตลาดน้อยจึงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานจากคนต่างถิ่น แม้ทุกวันนี้เราจะไม่พบกลุ่มคนเหล่านี้แล้ว แต่ร่องรอยทางสถาปัตยกรรมได้แสดงให้เราเห็น และนึกย้อนไปถึงความสัมพันธ์ในอดีตของชุมชนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก บนถนนทรงวาด โบสถ์กาลหว่าร์ สถานทูตโปตุเกส และสถานกงศุลฝรั่งเศส หรือแม้แต่ร่องรอยของอาชีพตีเหล็กที่นำพาให้ผู้พบเห็นได้นึกย้อนไปถึงช่างตีเหล็ก และการทำเหล็กหล่อ
อิทธิพลที่มีผลต่อบ้านเรือนและสถาปัตยกรรม และความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
อาคารส่วนมากได้รับอิทธิพลจีนที่สะท้อนแนวคิดเรื่องฮวงจุ้ย ทั้งลักษณะการวางผังที่มีที่ลานโล่งตรงกลางที่เชื่อมไปยังส่วนต่างๆ ในลักษณะของชานเหอหยวน บ้านที่มีคอร์ตล้อมลานสามด้านช่วยให้อาคารมีสุขลักษณะที่ดีจากการเปิดรับแสงแดด น้ำฝน สร้างลำดับการเข้าถึงอย่างเป็นสัดส่วน ดังเช่นบ้าน “โซว เฮง ไถ่” สถาปัตยกรรมแบบจีนยังสะท้อนถึงความเชื่อ สังเกตได้จากหน้าจั่วอาคารที่แสดงการส่งเสริมธาตุของผู้เป็นเจ้าของบ้าน อาคารส่วนใหญ่เป็นผนังก่ออิฐรับน้ำหนักผสมโครงสร้างไม้ อาคารจึงมีความสูงไม่มากนัก
เดินลัดเลาะต่อไป เรายังพบอาคารลักษณะคล้ายห้องแถวคือ ด้านหน้าติดถนนมีความกว้างไม่มากนัก แต่มีความลึกค่อนข้างมาก อาคารในลักษณะนี้จึงแบ่งออกเป็นหลายคอร์ต คล้ายกับตึกแถวในเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันเป็นอาคารที่หายาก ผุพังไปตามกาลเวลา การซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีจำเป็นต้องใช้ช่างฝีมือ การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมจีนเหล่านี้จึงต้องการกลไกในการบริหารจัดการและการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อที่จะช่วยกันรักษาคุณค่าเหล่านี้ไว้
ติดตามอ่าน : บ้านโซวเฮงไถ่ ตำนานบ้านจีนยุคแรกของกรุงเทพฯ
การปลุกย่านเก่าให้มีชีวิต
ย่านเปลี่ยนไปตามกาลเวลาอย่างเป็นพลวัต การเข้ามาอยู่ของคนกลุ่มใหม่ หรือการที่ย่านหมดอายุและซบเซาลงในที่สุด การฟื้นฟูย่านเก่าในตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจึงแตกต่างกันไปตามปัจจัยในแต่ละพื้นที่ ภายหลังการฟื้นฟูตลาดน้อยจากกลุ่มนักวิจัย สถาปนิก และกลุ่มนักอนุรักษ์ ได้กระตุ้นให้ตลาดน้อยกลายเป็นแหล่งหมายตาของการลงทุนอีกครั้ง โดยเฉพาะการเปิดตัวของแหล่งท่องเที่ยวแบบไลฟ์สไตล์ และกลายเป็นจุดเช็กอินของคนรุ่นใหม่ แม้ว่าการควบคุมระดับการเปลี่ยนแปลงตามหลักการการอนุรักษ์ย่านจะเป็นไปได้ยาก แต่การเปลี่ยนแปลงในระดับที่สมดุลจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมไปกับการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตในย่าน แต่ตลาดน้อยยังมีความหลากหลายของกิจกรรมใหม่ค่อนข้างน้อย ส่วนมากมักเป็นคาเฟ่และเน้นการขายเครื่องดื่ม ซึ่งถ้าผนวกกับความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์จะทำให้มีกิจกรรมที่หลากหลายและเกิดความยั่งยืน
ความน่าสนใจของตลาดน้อยอย่างหนึ่งคือ ความโดดเด่นด้านงานฝีมือและงานช่าง แสดงถึงองค์ความรู้วัฒนธรรมชาวจีนที่ได้ส่งต่อมายังรุ่นต่อรุ่น เช่น การหล่อพระ การทำรองเท้า การทำหมอน การทำขนมโบราณ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นไปตามเทศกาล เช่น การแสดงงิ้ว การทำอาหารเจ ฯลฯ และถ้าสิ่งเหล่านี้ได้รับการสืบสานให้สามารถอยู่ได้ในยุคปัจจุบัน ก็จะทำให้ย่านตลาดน้อยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เข้ามาแล้วไม่ได้จบอยู่แค่ที่ร้านอาหารหรือร้านกาแฟ แต่เราสามารถไปต่อที่กิจกรรมอื่น ๆ ที่มีการถ่ายทอดความรู้ และเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมไปด้วย อย่างโครงการของ TCDC ที่ได้เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน โดยเข้าไปดูแลธุรกิจทำหมอนร้านเฮงเส็งที่มีมานานให้สามารถขายได้ในปัจจุบันผ่านการออกแบบใหม่ เป็นการฟื้นฟูในลักษณะ Regeneration ที่พัฒนาของเก่าที่มีอยู่ให้ทันสมัยมากขึ้น
ความเป็นไปของย่านเก่า มีผลกระทบต่อเมืองอย่างไร
ความเป็นเมืองที่เข้ามาในย่านเก่าควรถ่อมตน น้อมรับเอกลักษณ์เดิมของย่าน จึงจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยควรให้น้ำหนักในการรักษาของเก่า เพราะความมีเสน่ห์ของย่านจะสามารถคงอยู่ได้ในระยะยาว การออกแบบสถาปัตยกรรม หรืออาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ ก็ควรให้ความเคารพกับบริบทของตลาดน้อย ทั้งในแง่ของขนาดและหน้าตาอาคาร เพราะสถาปัตยกรรมดั้งเดิมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมากและมีความน่าสนใจอยู่แล้ว อย่างร้านกาแฟ “ฮงเซียงกง” นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งเก่ากับใหม่ โดยรักษาอาคารดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด แต่นำมาใช้ในวัตถุประสงค์ใหม่ และยังคำนึงถึงการดูแลรักษาของเก่าที่มีอยู่อย่างยั่งยืนอีกด้วย
กิจกรรมหรือรูปแบบการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาภายในย่าน ควรมีการพูดคุยกันในระดับภาคใหญ่ก่อนเสมอ ทั้งการเกิดร้านของคนรุ่นใหม่ การสร้างอีเว้นต์ร่วมกันกับคนในชุมชน เพื่อจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ย่านเก่านั้นเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะทำให้คนในชุมชนสามารถอยู่รอดได้ระยะยาว แต่เราต้องไม่ลืมที่จะสร้างกฎเกณฑ์บางอย่างร่วมกัน เพื่อให้คนในชุมชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่มีคุณค่าได้รับประโยชน์ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะย่านตลาดน้อยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชุมชนย่านเก่าอื่นๆ เราจะได้มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ย่านเก่าที่ยั่งยืนและมีเอกลักษณ์หลากหลายตามวัฒนธรรมในแต่ละท้องที่ ก็จะสะท้อนให้ภาพรวมของเมืองที่มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
คอลัมน์พิเศษ นิตยสารบ้านและสวน มกราคม 2566
เรื่อง : Nantagan
ภาพ : เอกสุวัชร์ จงจิรวัฒน์, ยุทธนา กล้วยไธสง, คลังภาพบ้านและสวน