พื้นที่ลักษณะแคบยาวมักกลายเป็นข้อจำกัด สำหรับคนที่อยากมีสวนสวย ๆ โดยเฉพาะ สวนป่า ร่มรื่นที่มีทั้งนํ้าตกและบ่อปลา ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากของผู้ออกแบบเลยทีเดียว
บ้านหลังนี้ มีพื้นที่ว่างข้างลานจอดรถที่มีหน้ากว้างเพียงแค่ 4 เมตร กับความต้องการของเจ้าของบ้านที่ตรงกับโจทย์ยาก อย่าง สวนป่า ที่กล่าวไปข้างต้น แถมยังอยากให้ถูกหลักฮวงจุ้ยด้วย งานนี้ผู้ออกแบบจะแก้ปัญหาอย่างไร เราไปชมพร้อม ๆ กันครับ
“สวนนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนครับ ส่วนแรกเป็นบริเวณเอ๊าต์ดอร์ด้านหน้าบ้านก่อนจะเข้าสู่ลานจอดรถ เป็นที่ตั้งของศาลพระภูมิ เจ้าของบ้านอยากให้มีพื้นที่ตั้งโต๊ะบูชาเพื่อทำพิธีต่าง ๆ ได้ ผมเลือกทำเป็นลานโล่งกว้าง เว้นระยะให้ห่างจากแนวร่มเงาไม้ใหญ่ เพิ่มความร่มรื่นด้วยไม้พุ่มที่ไม่สูงมากนักเพื่อไม่ให้บังศาล เช่น ปริกหางกระรอก จั๋งไทย มอนสเตอร่า ฟิโลเดนดรอน พื้นโรยกรวดและเติมไม้คลุมดินและไม้ดอกพวก บัวดิน ดาหลา เอื้องหมายนาดอกชมพู เสริมให้ดูมีสีสัน สร้างมิติให้ศาลดูเด่นยิ่งขึ้น ตกแต่งด้วยหินฟองนํ้า เพื่อให้ดูสัมพันธ์กับสวนทรอปิคัลที่อยู่ถัดไปด้านใน” คุณไม้- ฐาปนิต โชติกเสถียร เริ่มเล่าถึงการออกแบบสวนให้เราฟัง
“ส่วนที่สองเป็นสวนนํ้าตก ซึ่งมีเรื่องฮวงจุ้ยเข้ามาเกี่ยวข้องครับ ซินแสไม่อยากให้เป็นนํ้าตกที่ตกมาจากที่สูง ผมจึงทำ เป็นนํ้าผุดจากแง่งหินออกมาแทน การไหลของนํ้าจะไม่ทิ้งตัวลงมาจากหัวนํ้าตกเหมือนทั่วไป แต่จะเอ่อไหลเป็นสเต็ปในลักษณะของลำธารที่มีความยาวประมาณ 7 เมตร ปลายลำธารเป็นบ่อปลารูปเลข 8 ยาวประมาณ 6 เมตร เดิมเจ้าของไม่อยากให้บ่อปลาลึกมากนัก ตั้งใจจะให้ลึกแค่ 80 เซนติเมตร เพื่อให้เล่นกับปลาได้ง่าย ในส่วนของบ่อปลาผมได้ คุณมดเอ็กซ์-รัฐพล สายวิรุณพร จากบริษัทโค่ยทูยู จำกัด ที่ร่วมงานกันบ่อย ๆ มาช่วยทำให้ครับ
“หลังจากทำบ่อปลาเสร็จ เจ้าของบ้านเห็นว่าบ่อตื้นเกินไป อยากให้ลึกกว่านี้ ซึ่งเราไม่สามารถไปกดเสาเข็มใต้ดินได้ จึงแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มความสูงเหนือดินแทนครับ ต้องปรับแก้ลำธารใหม่ ใส่ดินเพิ่มถมเนินใหม่เพื่อยกลำธารให้สูงขึ้น วางตำแหน่งหินและต้นไม้กันใหม่ แต่กลายเป็นว่าการปรับแก้ครั้งนี้ทำให้ลำธารดูน่าสนใจมากขึ้น จากเดิมที่พื้นที่ค่อนข้างแคบ พอเราเพิ่มความสูงเข้าไปทำให้มีพื้นที่ให้เราใส่ลูกเล่นได้มากขึ้น การวางหินวางต้นไม้เกิดมิติที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นครับ ส่วนด้านในสุดของสวนจะเป็นโซนนั่งเล่น ใต้พื้นไม้เป็นระบบบ่อกรอง ตั้งชุดเก้าอี้นั่งเล่นชมสวน มีไทรเกาหลีของเดิมเป็นแบ็กกราวนด์ ปลูกเสม็ดแดงให้ร่มเงา เติมไม้พุ่มด้านล่าง วางหินให้ดูเชื่อมกับสวนน้าตก พื้นส่วนที่เหลือแค่โรยกรวดบาง ๆ วางแผ่นทางเดินเท้าแบบง่าย ๆ เนื่องจากด้านล่างเป็นระบบบ่อกรอง เราต้องเผื่อไว้สำหรับการดูแลซ่อมแซมในอนาคตครับ”
จากผลงานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าคุณไม้สามารถออกแบบสวนได้หลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็น สวนหิน สวนญี่ปุ่น หรือสวนเม็กซิกัน ซึ่งต่างก็มีเอกลักษณ์โดดเด่น สวนทรอปิคัลในสไตล์ของคุณไม้เองก็มีความต่างไปจากนักออกแบบท่านอื่นเช่นกัน ซึ่งคุณไม้ให้แง่คิดไว้ว่า “สวนทรอปิคัลมีองค์ประกอบเหมือน ๆ กันครับ อย่างเรื่องต้นไม้ ผมก็ใช้ไม้เมืองร้อนในบ้านเราที่นิยมกันทั่วไป สิ่งที่ต่างออกไปคือแนวคิดและรายละเอียดที่ผู้ออกแบบจะใส่เข้าไป ซึ่งจะบ่งบอกตัวตน เช่น มิติของการจัดวางหิน การจัดวางพรรณไม้ มีโฟร์กราวนด์ มิดเดิลกราวนด์ แบ็กกราวนด์ อีกเรื่องที่บ่งบอกคาแร็กเตอร์ผมได้ชัดคือการใช้สีของพรรณไม้ ผมคุมโทนเน้นสีเขียวให้ดูเป็นธรรมชาติ เล่นเรื่องของเฉดสี และจะไม่ใช้สีที่เด่นจนเกินไป อาจมีบ้างแต่ก็ใช้แต่งแต้มเพียงเล็กน้อย เล่นในเรื่องเท็กซ์เจอร์ มีการเบรกด้วยฟอร์มของใบที่มีความแตกต่าง เช่น ใส่ต้นเสน่ห์จันทน์ที่มีใบทรงกลมขนาดใหญ่แทรกในกลุ่มเฟินที่ใบมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว หรือเลือกใช้ต้นไม้ที่มีลักษณะเด่น เช่น ปลูกปาล์มจีบไว้ด้านในสุดของสวนเพื่อดึงสายตา สร้างคาแร็กเตอร์ให้มีความโดดเด่นขึ้นมา ทำให้สวนดูไม่น่าเบื่อ
“โชคดีที่สวนแห่งนี้ได้รับแสงในช่วงครึ่งเช้า ทำให้เล่นต้นไม้ได้มากครับ ผมเลือกใช้ไม้ใหญ่ที่มีฟอร์มต้นสวยดูเป็นธรรมชาติ มีพุ่มใบโปร่ง เช่น เสม็ดแดง ชุมแสง เพื่อให้แสงส่องผ่านมาถึงมอสส์ เฟิน และไม้ดอกพวกกล้วยไม้ดิน เอื้องหมายนา บีโกเนีย ที่ปลูกอยู่ด้านล่างได้ อีกลูกเล่นของผมคือการปล่อยให้มีดอกไม้ร่วงหล่นตามพื้นในสวนหรือตกลอยอยู่ในบ่อนํ้า กลีบดอกไม้เหล่านี้ช่วยแต้มสีนิด ๆ หน่อย ๆ ในสวน ช่วยเพิ่มความละมุน ดูเนียนตา สร้างสีสันแต้มความเป็นธรรมชาติให้สวนดูน่ารักและมีเสน่ห์ดูน่ารักและมีเสน่ห์
“บ่อยครั้งที่การทำงานมักเกิดปัญหา หน้างานอาจไม่เป็นไปอย่างที่เราคิดวางแผนไว้ก่อนหน้า ก็ต้องพิจารณาปรับแก้กันไปตามความเหมาะสม การเจอปัญหาเป็นข้อดีที่ทำให้เราพัฒนางานให้ดีขึ้น ทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากที่เราเคยทำ โดยส่วนตัวผมคิดเสมอว่าผมจะสร้างความแตกต่างในทุก ๆ งาน ซึ่งแต่ละงานก็จะมีโจทย์ที่ต่างกันออกไป มันคือความท้าทายครับ” คุณไม้กล่าวทิ้งท้าย
นิตยสาร บ้านและสวน ปี 2565 ฉบับที่ 555
เจ้าของ : คุณเอนก ศรัณยวิโรจน์
ออกแบบ : Murraya Garden โดยคุณฐาปนิต ธนิสร โชติกเสถียร
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม