ทองหล่อ – เอกมัย การประชันและประนีประนอมในย่านสร้างสรรค์

” ทองหล่อ – เอกมัย เมืองที่มีประวัติศาสตร์ มีเรื่องราว ควรรักษาและพัฒนาให้ร่วมสมัย เพราะไม่เพียงสร้างคุณค่าและความภูมิใจ เอกลักษณ์ยังสร้างมูลค่ามากกว่าสิ่งใหม่ที่ใครๆก็สร้างได้”

ทองหล่อ - เอกมัย
สวนครูองุ่น

ทองหล่อ – เอกมัย เป็นอีกย่านที่มีเอกลักษณ์ทั้งในด้านสถาปัตยกรรมและผังเมือง รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนในย่านที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยอย่างน่าสนใจ เป็นที่หมายตาทั้งนักลงทุนและนักสร้างสรรค์ จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งบ้านพักอาศัยเดิมที่ปรับเป็นพื้นที่ธุรกิจ มีโครงอสังหาริมทรัพย์สุดหรู และมีการผลักดันโครงการพื้นที่สาธารณะระดับเมือง มาทำความรู้จักย่านทองหล่อ-เอกมัย ผ่านมุมมองของ คุณยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก-ผู้บริหารบริษัทฉมา จำกัด  บริษัทฉมาโซเอ็น จำกัด และผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม we!park องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่เชิญชวนทุกคนมามีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียว

คุณยศพล บุญสม

อ่านเรื่องน่าสนใจ : we!park แพลทฟอร์มที่ชวนให้ทุกคนเป็นเจ้าของสวนในเมือง

ทำไมย่านทองหล่อ-เอกมัยจึงเติบโตมาอย่างหลากหลาย

ในอดีตยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นเคยเคลื่อนผ่านและตั้งฐานทัพในย่านนี้ จึงมีชุมชนชาวญี่ปุ่นเกิดขึ้น ส่งผลให้มีร้านค้า ร้านอาหาร สินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นแพร่หลายในเวลาต่อมา และสมัยที่มีโครงการรถไฟฟ้าแรกเริ่ม นักลงทุนอาจมองว่าย่านนี้เป็นสุขุมวิทตอนปลายที่ยังรอการพัฒนา จึงยังคงเป็นชุมชนพักอาศัยของคนไทยดั้งเดิมและชาวญี่ปุ่นที่เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่อมาจึงมีกลุ่มนักลงทุนเข้ามาซื้อที่ดินซึ่งยังมีราคาไม่สูงมาก พร้อมกับการเกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจวางแผนแต่งงาน ซึ่งทำให้ผู้คนรู้จักย่านทองหล่อมากขึ้น รวมถึงการเกิดธุรกิจสถานบันเทิงใหม่ๆ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ย่านนี้เป็นแหล่งแฮงก์เอ๊าต์ชั้นดีของคนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติ จนเมื่อมีการทำโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า คอนโดมิเนียมที่กระจุกตัวย่านสุขุมวิทตอนต้นถึงย่านอโศก จึงขยายไปยังย่านพร้อมพงษ์ ทองหล่อ และเอกมัย

ทองหล่อ - เอกมัย
The Commons

เสน่ห์ทองหล่อ-เอกมัย ย่านพักอาศัยเก่าที่ดึงดูดนักลงทุน

จากชุมชนชาวไทยและชาวญี่ปุ่นขนาดเล็กกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น และยังมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยในย่านเรื่อยๆ จึงเป็นย่านที่มีความหลากหลาย เป็นแหล่งรวมร้านอาหารนานาชาติ คอมมูนิตี้มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าแฟชั่น ร้านไลฟ์สไตล์เฟอร์นิเจอร์ สถานบันเทิง สตูดิโอแต่งงาน คลินิกความงาม และสำนักงานต่างๆ ความหลากหลายนั้นสะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมที่คงกลิ่นอายดั้งเดิม ดีไซน์ใหม่ และผสมผสานกัน มีการรวมกลุ่มคนที่เกิดจากความสนใจเฉพาะด้านอยู่รวมกัน เช่น นักออกแบบ กลุ่มขายของตกแต่งบ้าน เรียกได้ว่าเป็นย่านที่มีผู้คนมาแสดงความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ออกมาในแบบของตัวเองได้อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้คนต่างพากันเข้ามายังย่านสร้างสรรค์แห่งนี้ อาจเนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีการเดินทางที่สะดวก ลัดเลาะตามตรอกซอกซอยไปยังย่านสุขุมวิทและย่านอื่นๆ ได้

ทองหล่อ - เอกมัย
ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัฒนาพานิช
ทองหล่อ - เอกมัย
The Monument ทองหล่อ
ทองหล่อ - เอกมัย
ออฟฟิศ ฉมา, ฉมาโซเอ็น

ทองหล่อ – เอกมัย การประชันและประนีประนอมของผู้อยู่เดิมและผู้มาใหม่

ทองหล่อ-เอกมัยเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีผู้คนย้ายเข้ามาในย่านนี้มากขึ้น ด้วยมูลค่าที่ดินและการเติบโตของย่านจึงดึงดูดนักลงทุนเข้ามาเพื่อพัฒนาเชิงธุรกิจ ซึ่งสะท้อนผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีทั้งการผสมผสานกลิ่นอายแบบดั้งเดิมและแบบใหม่เข้าด้วยกัน อย่างออฟฟิศของฉมาที่ก่อตั้งเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ก็เป็นการปรับบ้านพักอาศัยเดิมที่ผสมผสานฟังก์ชันและไลฟ์สไตล์ใหม่เข้าไป ซึ่งมีลักษณะนี้ค่อนข้างมากในย่านนี้ ขณะเดียวกันก็สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ชัดเจนมากๆ อย่างสถาปัตยกรรมของอาคารริมสองข้างถนนที่มีดีไซน์โดดเด่น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการประชันความสร้างสรรค์ที่มีต่อกันในย่านแห่งนี้ การเกิดอาคารเหล่านี้มากขึ้นแสดงถึงจำนวนคนต่างถิ่นที่ย้ายเข้ามา และย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในย่าน ทั้งการจราจร ความหนาแน่นของผู้คน การใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน การเบียดบังทัศนียภาพ คนภายในย่านจะต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา

PARK X EKKAMAI

การพัฒนาพื้นที่แบบต่างคนต่างทำ สู่การเชื่อมโยงกับพื้นที่สาธารณะของเมือง

แม้ว่าจะมีการพัฒนาต่างๆ ภายในย่าน แต่กลับมีพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอต่อคุณภาพชีวิตที่ควรจะเป็น มีภาคเอกชนที่พัฒนาพื้นที่ที่ดีให้มีประโยชน์ต่อชุมชน เช่น สวนครูองุ่น ซึ่งเป็นสวนที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาทำกิจกรรมและพักผ่อนได้ PARK X EKKAMAI เป็นโครงการให้บริการที่จอดรถที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ลงทุนและคนในย่าน หรือ The Commons คอมมูนิตี้มอลล์ที่มีพื้นที่ส่วนกลางซึ่งเอื้อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในย่าน แต่ก็เป็นการพัฒนาแบบต่างคนต่างทำ จะดียิ่งขึ้นหากเราสามารถพัฒนาไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาของย่านไปพร้อมกัน ซึ่งตอบโจทย์เชิงธุรกิจและผู้คนในย่านก็ได้ประโยชน์ ก็จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการทำทางเดินเท้าภายในย่าน และการออกแบบพื้นที่เอกชนริมถนน หากลดการปิดกั้นรั้วทึบแล้วออกแบบให้เอื้อต่อคนเดินเท้าด้วย ผู้คนก็จะเชื่อมต่อกัน และดื่มด่ำกับวิถีชีวิตในย่านได้ดีขึ้น

โครงการสวนป่าเอกมัย
โครงการสวนป่าเอกมัย

เมืองจะมีความสมดุลเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะควบคู่กัน ซึ่งทาง ฉมา ฉมาโซเอ็น และ we!park พยายามผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะของเมือง อย่างโครงการสวนป่าเอกมัยที่ตั้งอยู่ในย่านเอกมัย-ทองหล่อ เป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวซึ่งเกิดขึ้นจากพื้นที่เหลือบริเวณถนนทางข้ามแยกยกระดับจากถนนเพชรบุรีไปถนนเอกมัย ด้านล่างของทางยกระดับติดกับคลองแสนแสบ โดยควรพัฒนาให้ใช้งานพื้นที่สวนป่าเอกมัยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และโครงการปรับภูมิทัศน์บริเวณคลองเป้ง โดยทำทางเดินเท้าริมคลองเพื่อเชื่อมพื้นที่และเพิ่มเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวให้ย่านนี้

การที่ย่านเกิดการพัฒนาและมีความหลากหลายถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะไม่มีข้อเสีย การที่ต่างคนต่างปรับเปลี่ยนโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนเดิมของย่าน อาจทำให้เสน่ห์และความทรงจำของย่านหายไป กลายเป็นเมืองที่ทันสมัยเหมือนกับเมืองอื่นๆ แต่ขาดเอกลักษณ์ “การสร้างสรรค์โดยรักษาคุณค่าและพัฒนาอย่างร่วมสมัย” จึงน่าจะเป็นก้าวต่อไปที่เราควรเดินไปด้วยกัน

โครงการปรับภูมิทัศน์บริเวณคลองเป้ง

คอลัมน์พิเศษ นิตยสารบ้านและสวน ม.ค.66

เรื่อง : ชัชนันท์ คำสำรวย

ภาพ : เอกสุวัชร์ จงจิรวัฒน์, ยุทธนา กล้วยไธสง, คลังภาพบ้านและสวน, ฉมา, ฉมาโซเอ็น


ตลาดน้อย ย่านรอยต่อทางวัฒนธรรมและยุคสมัยของเมือง

อารีย์ ย่านน่าเดินแบบ “อารีย์สไตล์”

ติดตามบ้านและสวน