วิธีตรวจรับบ้าน ด้วยตัวเอง
วิธีตรวจรับบ้าน ก่อนรับโอนหรือรับส่งมอบบ้าน โดยมี Checklist แต่ละจุดให้ตรวจและสังเกตความผิดปกติ ซึ่งต้องแก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยก่อนรับโอน
วิธีตรวจรับบ้าน ด้วย Checklist 14 หมวด ควรค่อยๆตรวจทีละจุดแบบไม่รีบร้อน สามารถทำได้ด้วยตัวเอง หรืออาจจ้างผู้เชี่ยวชาญไปตรวจ ซึ่งเจ้าของบ้านควรอยู่ด้วยทุกขั้นตอน เพื่อรับทราบปัญหาและติดตามการแก้ไขต่อไป
ตรวจข้อมูลเบื้องต้นของบ้าน
- ตรวจสอบหมายเลขหมุดเขตที่ดิน
- เช็กมิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟไม่มีค้างชำระ และบันทึกหน่วยการใช้
- ขอใบรับประกันต่างๆ ของบ้าน(ถ้ามี) เช่น ใบรับประกันการมุงหลังคา ใบรับประกันฉีดกันปลวก ใบรับประกันเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
- ขอแบบก่อสร้างบ้าน (บางโครงการอาจให้) โดยเป็นแบบที่มีการแก้ไขในขณะก่อสร้าง (As-build Drawing) ซึ่งจะตรงกับหน้างานจริงที่สุด เพื่อใช้ในการซ่อมแซมหรือต่อเติมในอนาคต วิธีตรวจรับบ้าน
ประตูรั้ว
- เปิดปิดได้สะดวก ไม่ฝืด ปิดได้สนิท
- ไม่เลื่อนเอง เปิดปิดเองเมื่อปล่อยมือ เปิดค้างได้
- น้ำหนักไม่มากจนเปิดยากเกินไป
- ประตูเลื่อนไม่ตกรางง่าย โดยลองเลื่อนเปิดปิดหลายๆครั้ง แนวรางเลื่อนตรงได้แนว
- ประตูเลื่อนมีเสากันประตูล้ม
- วัสดุประตูอยู่ในสภาพดี ไม่เป็นสนิม ไม่มีสีถลอก แตก ร้าว หลวม
- หากเป็นสีทาเหล็ก ต้องทาเคลือบจนไม่เห็นสีทากันสนิม เนื้อสีเรียบ ไม่ย่น
- กลอนประตูล็อกได้ดี
- ห่วงคล้องแม่กุญแจไม่ห่างจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ใส่กุญแจยาก วิธีตรวจรับบ้าน
รั้ว
- แนวรั้วตรง ไม่ล้มเอียง
- โครงสร้างรั้วไม่เชื่อมติดเป็นโครงสร้างเดียวกับตัวบ้าน เนื่องจากเป็นเสาเข็มต่างประเภทกันจึงทรุดตัวไม่เท่ากัน
- รั้วด้านที่อยู่ขอบของโครงการ ซึ่งอีกฝั่งมีระดับดินต่ำกว่ามากกว่า 70 เซนติเมตรขึ้นไป หรือเป็นคลอง ควรมีการทำกำแพงกันดิน และทำฐานรากพิเศษโดยเพิ่มคานดึงรั้งที่เรียกว่า “คานสเตย์” เพื่อไม่ให้กำแพงเอนล้มไปด้านที่ระดับดินต่ำกว่า ซึ่งอาจฝังอยู่ใต้ดิน จึงควรสอบถามกับโครงการ
- รอยเจาะรูต่างๆที่กำแพงรั้ว เช่น รูท่อน้ำผ่าน มีการฉาบปิดเรียบร้อย
- วัสดุรั้วอยู่ในสภาพดี การติดตั้งเรียบร้อย ไม่โยก
พื้นดินรอบบ้าน
- ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ
- ไม่มีเศษวัสดุก่อสร้าง เศษปูน และขยะ เพื่อให้ปลูกต้นไม้และจัดสวนได้
- ดิมถมปิดรอบตัวบ้านได้ ไม่มีช่องโพรงใต้บ้าน และหากเป็นดินที่ถมมาไม่นาน ดินอาจมีการทรุดภายหลังได้
การระบายน้ำรอบบ้าน
- มีท่อระบายน้ำรอบที่ดิน เทน้ำใส่บ่อพักดูว่าสามารถระบายออกไปที่น้ำทิ้งสาธารณะได้
- บ่อพักน้ำมีฝาปิด เปิดดูในบ่อทุกบ่อ ไม่มีเศษขยะ เศษปูน
- พื้นรอบบ้าน พื้นถนน พื้นที่จอดรถ มีความลาดเอียงไปยังทางระบายน้ำ พื้นไม่เป็นแอ่ง
โครงสร้าง
- เสา คาน พื้น ผนัง ไม่มีรอยร้าว ไม่คด ไม่แอ่น
- พื้นเรียบได้ระดับ ไม่เป็นแอ่ง สามารถทดสอบได้ด้วยการลองกลิ้งลูกแก้ว
- ส่วนที่เป็นโครงสร้างเหล็ก มีการป้องกันสนิม มีทั้งการชุบสังกะสี หรือทาสีกันสนิมแล้วทาสีน้ำมัน รอยเชื่อมต่างๆมีการเชื่อมเต็มพื้นที่จุดเชื่อม และมีการป้องกันสนิมที่จุดเชื่อม
- หากเป็นบ้านที่กำลังสร้าง แนะนำให้เข้ามาตรวจดูระหว่างก่อสร้าง ก็จะเห็นโครงสร้างจริงๆ ก่อนการปิดผิวด้วยวัสดุอื่นๆ
หลังคา
- หลังคาไม่รั่วซึม ทดสอบได้ด้วยการให้โครงการฉีดน้ำใส่หลังคาทุดจุด โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อหลังคา
- วัสดุมุงหลังคาติดตั้งเรียบร้อย ไม่แอ่น กระดก
- ไม่มีเศษปูน สี คราบเปื้อนบนวัสดุมุงซึ่งอาจจะเช็ดล้างไม่ออก
- หลังคาคอนกรีตมีการทาวัสดุกันซึม(หรือตามสเปกบ้าน) พื้นลาดเอียด ไม่เป็นแอ่ง มีท่อระบายน้ำและใช้ตะแกรงระบายน้ำแบบ Floor Drain (มีตะแกรงสูงขึ้นมา) ซึ่งช่วยป้องกันใบไม้อุดตันได้
- ฝ้าเพดานภายนอกและฝ้าชายคา ใช้วัสดุที่ทนทานความชื้นได้ดี (ไม่ควรใช้แผ่นยิปซัมกันชื้น) พื้นผิวเรียบ ไม่มีคราบน้ำรั่ว หากมีการเว้นช่องระบายอากาศ ตรวจดูว่ามีการกรุตาข่ายกันแมลง
พื้น
- พื้นต้องเรียบ เดินไม่สะดุด ไม่เป็นแอ่ง ไม่นูน โดยเฉพาะบริเวณร่อยต่อวัสดุปูพื้น
- ร่องและรอยต่อวัสดุปูพื้นได้แนว ขนาดร่องสม่ำเสมอ ไม่สกปรก
- พื้นส่วนเปียก เช่น ห้องน้ำ ระเบียง ต้องลาดเอียงไปยังท่อระบายน้ำ ควรทดสอบด้วยการราดน้ำเพื่อดูการระบายน้ำ และไม่มีแอ่งน้ำขัง
- ใต้พื้นไม่เป็นโพรง โดยใช้เหรียญ 10 บาท เคาะพื้น หากมีเสียงก้องๆ แสดงว่าใต้พื้นเป็นโพรง อาจเกิดจากใต้วัสดุปูพื้นมีปูนไม่เต็ม
- พื้นไม้จริง พื้นผิวไม้ต้องเรียบสม่ำเสมอ ไม่มีเสี้ยนไม้ สีไม้ไม่แตกต่างกันมาก
- พื้นไม้ลามิเนต พื้น SPC พื้นไวนิล พื้นผิวต้องเรียบ ไม่เป็นคลื่น การเก็บขอบพื้นและบัวพื้นเรียบร้อย พื้นที่ปูใหม่ๆ จะเดินแล้วยวบเล็กน้อย เพราะด้านล่างมักรองด้วยแผ่นโฟม เมื่อใช้งานไปจะดีขึ้น
- พื้นหินธรรมชาติ ต้องไม่มีรอยด่างหรือคราบน้ำ เพราะอาจเกิดจากมีความชื้นใต้พื้น
บันได
- ลูกตั้งและลูกนอนเท่ากันทุกขั้นเดินแล้วไม่สะดุด
- โครงสร้างบันไดแข็งแรง ไม่สั่น
- ราวกันตกแข็งแรง ไม่โยก
ผนัง
- แนวผนังได้ดิ่งฉาก โดยดูด้วยสายตา ใช้ไม้ตรงยาวๆทาบผนังเพื่อตรวจความเรียบ หรือใช้เครื่องวัดระดับ(ลูกน้ำ)
- พื้นผิวปูนฉาบเรียบสม่ำเสมอ ไม่เป็นคลื่น ไม่แตกร้าว
- งานทาสีเรียบสม่ำเสมอ ไม่เป็นรอยด่าง หากมีการแก้ไขงาน ไม่ควรทาสีทับเกิน 5 ชั้น เพราะสีอาจล่อนได้ง่าย
- ผนังติดวอลล์เปเปอร์พื้นผิวเรียบ ไม่โป่งพอง หากมีลวดลายอาจสังเกตยาก ให้มองด้านข้างเลียดผนัง หากมีการโป่งพองก็จะสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อ ขอบ มุม ต้องติดตั้งอย่างเรียบร้อย
- บัวพื้นและบัวฝ้าเพดานติดตั้งแนบสนิทกับผนัง ได้แนว ไม่แอ่น การเข้ามุมและจบขอบเรียบร้อย
ฝ้าเพดาน
- ดูแล้วได้ระดับ ไม่ตกท้องช้าง อาจใช้ตลับเมตรวัดความสูงจากพื้นเท่ากันทั้งห้อง
- รอยต่อฝ้าเพดานแบบฉาบเรียบต้องไม่ปูดนูน ดูเรียบเสมอกันทั้งห้อง
- มีช่องฝ้าเซอร์วิสที่สามารถเปิดขึ้นไปซ่อมบำรุงเหนือฝ้าได้อย่างน้อย 1 จุดบริเวณใต้หลังคา (แต่จะให้ดีควรมี 2 จุด เพื่อการเข้าซ่อมแซมได้ง่าย) และแนะนำให้ทำช่องฝ้าเซอร์วิสบริเวณใต้ห้องน้ำ เพื่อซ่อมแซมเมื่อเกิดท่อน้ำรั่ว
- รอบๆโคมไฟดาวน์ไลต์ และจุดติดตั้งโคมไฟที่ต้องเจาะฝ้า มีการเก็บงานเรียบร้อย ไม่มีช่องและรอยเปื้อน
ประตูหน้าต่าง
- ลองเปิดปิดประตูหน้าต่างทุกบาน ปิดได้แนบสนิท ไม่ฝืด ปล่อยแล้วไม่เปิดปิดเอง ตัวล็อกและกุญแจใช้งานได้ดี ลงกลอนได้สุด
- อุปกรณ์ประตูหน้าต่างใช้งานได้ดี มือจับและลูกบิดแน่นสนิทดี
- ประตูหน้าต่างติดตั้งได้ระดับ ลองมองจากระยะไกลแล้ว ไม่เบี้ยว ระดับขอบบนและขอบล่างเป็นแนวเดียวกันทุกบาน
- ตรวจรอยขาดและความเรียบร้อยของมุ้งลวด
- กระจกไม่แตกร้าว ไม่มีรอยขีดข่วน รอยต่อกระจกกับกรอบบานแนบสนิดดี จับแล้วไม่แกว่งหรือขยับ
ระบบไฟฟ้า
- ลองเปิดปิดไฟทุกดวงใช้งานได้ทุกจุด
- ฝาครอบสวิตช์และเต้ารับติดตั้งเรียบร้อย ไม่มีคราบปูน รอยดำ
- เต้ารับใช้งานได้ดี ทดสอบด้วยไขควงทดสอบไฟ หรือเตรียมอุปกรณ์ไฟฟ้าไปเสียบทดสอบก็ได้
- สอบถามการติดตั้งสายดิน ซึ่งต้องเดินสายดินกับเต้ารับทุกจุด โดยเฉพาะเครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องปรับอากาศ
- สายไฟไม่มีรอยไหม้ การเดินสายไฟเรียบร้อย หากเดินลอยมีการตีกิ๊บรัดสายไฟ ส่วนสายไฟธรรมดาต้องเดินสายร้อยท่อ ทั้งการฝังผนัง และเดินบนฝ้าเพดาน
- ทดสอบเปิดปิดเบรกเกอร์และเครื่องตัดไฟว่าทำงานได้ปกติ
- ทดสอบไฟรั่ว โดยปิดไฟทั้งบ้าน โดยไม่ต้องปิด Main breaker แล้วไปดูที่มิเตอร์ไฟต้องไม่เดิน
- เต้ารับนอกอาคารต้องเป็นเต้ารับชนิดกันน้ำ
ระบบสุขาภิบาล
- สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ติดตั้งตรงตามตำแหน่ง มีระยะที่ใช้งานสะดวก
- การติดตั้งอุปกรณ์แน่น ขยับแล้วไม่โยกคลอน
- โถส้วมกดชำระได้ดี ไม่มีน้ำไหลซึม เมื่อกดชักโครกไม่มีฟองอากาศตามร่องยาแนวที่ฐาน และเมื่อกดชักโครก ต้องไม่มีฟองอากาศผุดขึ้นจากโถส้วมห้องอื่น
- พื้นห้องน้ำลาดเอียง การระบายน้ำที่พื้นห้องน้ำ ระบายได้เร็ว ฝาปิดท่อระบายน้ำเป็นระบบกันกลิ่น ไม่มีกลิ่นเหม็นย้อนขึ้นมา
- ท่อน้ำไม่มีรอยรั่ว ผนังที่ฝังแนวท่อน้ำไม่ชื้น หากผนังชื้นอาจเกิดจากท่อน้ำภายในรั่วซึม และเมื่อปิดน้ำทั้งหมดแล้ว มิเตอร์น้ำต้องไม่เดิน
- ช่องน้ำล้นของอ่างล้างหน้าและอ่างอาบน้ำทำงานได้ดี ทดสอบโดยเปิดน้ำให้เต็มจนน้ำล้นลงช่อง
- ปั๊มน้ำทำงานได้ดี ลองเปิดน้ำทดสอบความแรงของน้ำ โดยทดสอบเปิดน้ำพร้อมกันหลายๆจุด โดยเฉพาะชั้นบนสุดของบ้าน
- ถังบำบัดน้ำเสียมีท่ออากาศ แนะนำให้เปิดดูภายในถังต้องไม่มีเศษขยะ เศษปูน และสามารถปิดฝาถังได้สนิท
- อ่างล้างจานมีการติดตั้งถังดักไขมัน
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน