ดินเดิมมีความสำคัญต่อการปลูกพรรณไม้ในสวนมาก เนื่องจากดินในแต่ละบริเวณมีความสมบูรณ์แตกต่างกัน ความเหมาะสมในการเลือกปลูกต้นไม้จึงต่างกันไปด้วย หลายพื้นที่จึงต้องมี การถมดินปรับที่ ให้เหมาะสมก่อนเริ่มต้นจัดสวน
3 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับ การถมดินปรับที่ มีดังนี้
- สำรวจดินเดิม
โดยทั่วไปแล้วบริเวณผิวดินหรือหน้าดินเป็นส่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งหากจำเป็นต้องปรับระดับพื้นที่ ควรไถเปิดหน้าดินออกลึกประมาณ 1 เมตร เมื่อปรับระดับพื้นที่แล้วก็ควรนำหน้าดินเดิมมากลบดังเดิม จึงเป็นการทำลายส่วนที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะสมที่สุดในการเพาะปลูกต้นไม้ ดังนั้น การเก็บรักษาดินเดิม จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการจัดสวน
หากเป็นไปได้ก่อนจะเพาะปลูกต้นไม้ ควรส่งตัวอย่างดินในบริเวณดังกล่าวไปทดสอบหาค่าความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะโครงสร้างดิน และระดับความเป็นกรด-ด่าง ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับปรุงดินและเลือกใช้พรรณไม้ที่จะปลูก เช่น หากดินมีความเหนียวมาก ควรปรับปรุงดินด้วยการพรวนดินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความพรุน พร้อมเติมเศษอิฐและรงควัตถุ เพื่อให้เกิดความโปร่ง และอาจปลูกต้นไม้บำรุงดินควบคู่ เช่น พืชตระกูลถั่ว หรืออาจขุดบ่อน้ำไว้ในสวนแทน
- ดินถมใหม่ ที่นิยมใช้ในการจัดสวน
การถมดินปรับที่ นิยมใช้ดินลูกรังหรือดินเหนียว ซึ่งไม่เหมาะกับการเพาะปลูก ก่อนปลูกต้นไม้จึงต้องปรับสภาพดินให้เหมาะสมเสียก่อนด้วยการผสมดินร่วน กาบมะพร้าวสับ (หรือดินถุงสำเร็จรูป) ปุ๋ยคอกหรือทรายลงไปเพื่อให้ได้ดินที่มีส่วนผสมโครงสร้างเหมาะแก่การปลูกต้นไม้ มีการระบายน้ำดี โดยปกติแล้วอาจจะผสมดินปลูกใน อัตราส่วนดิน 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และทราย 1/2 ส่วน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดินในพื้นที่นั้นด้วย เช่น หากเป็นดินเหนียวมาก ทำให้การระบายน้ำไม่ดี ควรเพิ่มทรายและอินทรียวัตถุมากสักหน่อย ถ้าเป็นดินทรายควรผสมดินร่วนหรือดินถุงสำเร็จรูป และปุ๋ยคอกลงไป เพื่อให้ดินดูดซับน้ำและธาตุอาหารได้ดีขึ้น แต่ถ้าดินเป็นกรด จะสังเกตได้ว่าดินเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองคล้ายสนิม ให้แก้ไขด้วยการใส่ปูนขาวลงไปเพื่อปรับสภาพดิน
- ประเภทการถมดิน
ดินถมใหม่จะมีการทรุดตัวตามธรรมชาติของน้ำหนักดิน รวมถึงการทรุดตัวของดินเดิมที่ถูกน้ำหนักดินใหม่กดทับ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2-3 เดือนแรก ดังนั้นการถมที่ใหม่ ควรทิ้งช่วงให้ผ่านฝนไปหนึ่งฤดูกาลก่อนน่าจะดีที่สุด แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการออกแบบสร้างบ้านมีความก้าวหน้ามาก การออกแบบทางวิศวกรรมที่ดีทำให้น้ำหนักของตัวบ้านทิ้งตัวลงบนเสาเข็มเกือบทั้งหมด ดังนั้น การถมที่ใหม่จึงแทบไม่มีผลต่อการทรุดตัวของบ้าน ซึ่งการถมดินนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.การถมแบบ “อัด”
คือการถมดินไปทีละชั้น มีความหนาชั้นละประมาณ 20 – 50 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะดินและการกำหนดของผู้ออกแบบ แล้วบดอัดให้แน่นทีละชั้น จนกว่าจะได้ระดับตามที่ต้องการ การถมแบบนี้จะได้ดินที่อัดแน่นดี เกิดปัญหาการทรุดตัวน้อยมาก แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
2.การถมแบบ “ไม่อัด”
เป็นการถมแบบทั่วไปที่ช่างส่วนใหญ่นิยมกัน เพราะเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และยังมีความรวดเร็วกว่าการถมดินแบบอัด โดยขนดินมาถมจนได้ระดับตามที่ต้องการแล้วค่อยบดอัดหน้าดินทีเดียว การถมแบบนี้จึงมีราคาที่ถูกกว่ามาก แต่ดินอาจเกิดการยุบตัวลงหลังจากที่ถมเสร็จแล้วในระยะหนึ่ง
สิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคในการถมดินก่อนการจัดสวน คือ ต้นไม้ ซึ่งสำหรับต้นไม้ใหญ่มีวิธีป้องกันง่าย ๆ คือการทำคันหรือโครงสร้างโดยรอบ เพื่อไม่ให้ดินที่ถมใหม่ทับถมจนเกิดการขังของน้ำ การชะล้างหน้าดินหรือสิ่งสกปรกลงไปบริเวณโคนต้น ซึ่งอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ นอกจากนี้ ในการถมดินยังควรคำนึงถึง การระบายน้ำในสวน ร่วมด้วย
ติดตาม บ้านและสวน