กฎหมายรับมือ ผู้รับเหมาเบี้ยวส่งมอบงาน – งานมีปัญหา

หาก ผู้รับเหมาไม่ส่งมอบงาน เลยกำหนดสัญญาแล้วแต่งานก่อสร้างมีปัญหาต้องแก้ไข ทนายความจะมาตอบให้ว่า เจ้าของบ้านจะทำอะไรได้บ้างตามข้อกฎหมาย พร้อมมีคดีตัวอย่างมาให้ศึกษากัน

ผู้รับเหมาไม่ส่งมอบงาน
ภาพ : gennifer-miller-unsplash

เมื่อมีการตกลงว่าจ้างให้ผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านแล้ว ระยะเวลาในการก่อสร้างให้เสร็จสำหรับเจ้าของบ้าน(ผู้ว่าจ้าง) ย่อมถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นหากผู้รับเหมา(ผู้รับจ้าง)ไม่เริ่มทำงาน ทั้งที่เจ้าของบ้านได้ส่งมอบพื้นที่ให้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว มีการทำงานล่าช้า หรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยตกลงไว้ ผู้รับเหมาไม่ส่งมอบงาน ตามกำหนด สามารถทำอย่างไรได้บ้าง

การแก้ไข ผู้รับเหมาไม่ส่งมอบงาน

  • หากเจ้าของบ้านสามารถคาดหมายได้ว่างานนั้นจะไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เจ้าของบ้านสามารถยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมา โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลาตามสัญญาก็ได้ ทั้งนี้การที่ผู้รับเหมาทำงานล่าช้าหรือไม่ได้เริ่มทำงานนั้น ต้องไม่ใช่สาเหตุที่เกิดจากเจ้าของบ้าน
  • กรณีที่ผู้รับเหมาส่งมอบงานเกินกำหนดเวลาในสัญญา และงานที่ส่งมอบปรากฎว่ายังมีข้อบกพร่อง เจ้าของบ้านก็สามารถชะลอการจ่ายค่าจ้างไว้ได้ จนกว่าผู้รับเหมาจะซ่อมแซมเสร็จ
  • ถ้าเจ้าของบ้านค้างชำระค่าจ้าง ผู้รับเหมาก็มีสิทธิหยุดงานที่รับจ้างไว้จนกว่าเจ้าของบ้านจะได้ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระจนครบทุกงวดได้ ถ้าในสัญญาจ้างก่อสร้างที่มีกำหนดชำระค่าจ้างเป็นงวดๆ และมีการเขียนระบุไว้ว่า “ถ้าผู้ว่าจ้างค้างชำระค่าจ้างงวดใดงวดหนึ่งให้ผู้รับจ้างมีสิทธิหยุดงานที่รับจ้างไว้ จนกว่าผู้ว่าจ้างจะได้ชำระค่าจ้างครบตามงวดชำระ และการหยุดงานในกรณีดังกล่าวมิให้นับระยะเวลาตามสัญญา”

ข้อกฎหมายอ้างอิง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  • มาตรา 593 ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้า ฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย
  • มาตรา 599 ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร      
ภาพ : brett-jordan-unsplash

กรณีคดีตัวอย่าง

เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงมีอยู่ว่า เจ้าของบ้านว่าจ้างผู้รับเหมาให้ก่อสร้างบ้านพักอาศัยของตัวเอง ซึ่งได้มีการตกลงชำระค่าจ้างก่อสร้างกันเป็นงวดๆ จำนวน 8 งวด เมื่อการก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ คงเหลือการชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างงวดสุดท้าย แต่ปรากฏว่า ระหว่างการก่อสร้างบ้านได้เกิดความชำรุดบกพร่องจากการกระทำของผู้รับเหมา ซึ่งขณะนั้นผู้รับเหมายังไม่ได้มีการส่งมอบบ้านให้แก่เจ้าของบ้าน และล่วงเลยกำหนดเวลาส่งมอบบ้านพักอาศัยตามสัญญามาแล้ว

แต่ต่อมาเจ้าของบ้านได้บอกเลิกสัญญาและด้วยความที่เห็นว่าบ้านใกล้จะแล้วเสร็จ จึงได้ย้ายเข้าพักอาศัยในบ้านหลังดังกล่าว และตั้งใจจะไม่จ่ายค่าจ้างงวดสุดท้ายให้แก่ผู้รับเหมา เพราะเห็นว่ายังมีความชำรุดบกพร่องของบ้าน ซึ่งเกิดจากการกระทำของผู้รับเหมา จากข้อเท็จจริงนี้ เมื่อเป็นคดีความขึ้นมาเจ้าของบ้านจะมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างงวดสุดท้าย หรือมีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างงวดสุดท้ายไว้ได้หรือไม่

คำตัดสินของศาล

คดีนี้ศาลได้วินิจฉัยว่า งานก่อสร้างของผู้รับเหมา(จำเลย)ล่าช้าเกินกำหนดเวลาตามสัญญา และมีความชำรุดบกพร่องหลายรายการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 599 เจ้าของบ้าน(โจทก์)มีสิทธิ์ที่จะยึดหน่วงสินจ้างงวดที่ 8 ไว้จนกว่าผู้รับเหมาจะซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องแล้วเสร็จ  หากผู้รับเหมาจัดทำไม่เสร็จจนเจ้าของบ้านบอกเลิกสัญญา แล้วในที่สุดได้ย้ายเข้าอยู่ในบ้านพิพาท (การเข้าพักอาศัยในบ้านหลังที่ก่อสร้างแล้ว ถือเป็นการรับมอบงานก่อสร้าง) เจ้าของบ้านมีสิทธิ์ที่จะหักค่าซ่อมแซมความเสียหายได้ตามมูลค่าการซ่อมแซมเท่านั้น ถ้ามีค่าสินจ้างเหลือก็ต้องคืนให้ผู้รับเหมา การที่เจ้าของบ้านจะไม่ชำระค่าสินจ้างงวดที่ 8 ทั้งหมดนั้นทำไม่ได้ (อ้างอิง : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2365/2536)

แต่ถ้าค่าซ่อมแซมนั้นมีมูลค่าเกินกว่าค่าจ้างงวดที่ 8 เจ้าของบ้านสามารถแจ้งต่อศาล เพื่อให้ผู้รับเหมาจ่ายในส่วนเกินได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาตามหลักฐาน


เรื่อง : คเณศร์ สร้อยสายทอง, ณัฐชาพร นิตย์โชติ – ทนายความ


วิธีตรวจรับบ้าน ด้วยตัวเอง

โฉนดที่ดินมีกี่ประเภท ครุฑแดง/ครุฑเขียว/ครุฑดำ/ส.ป.ก. และอื่นๆ

ติดตามบ้านและสวน