10 ข้อควรรู้ ออกแบบสวน ให้ดูแลง่าย ไม่สร้างภาระ

หลายคนที่ต้องการจัดสวน แต่ห่วงเรื่องการดูแล สามารถเตรียมการได้ตั้งแต่ช่วง ออกแบบสวน เพื่อลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่อาจสร้างภาระให้กับเจ้าของบ้านได้ต่อไปในอนาคต 

หรือใครที่จัดสวนไว้ แล้วต้องการนำแนวคิด ออกแบบสวน ให้ดูแลง่าย ไปปรับใช้ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

1.ออกแบบโครงสร้างให้ชัดเจน

งานโครงสร้างของสวนในที่นี้ หมายถึง Hardscape หรือสิ่งที่ค่อนข้างคงทนถาวร มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก อย่างเช่น ส่วนของแนวทางเดิน ขอบแปลง ลานนั่งเล่น การออกแบบแนวแกนที่ชัดเจน ช่วยสร้างขอบเขตให้กับส่วนของต้นไม้ ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องการการดูแลมากกว่า หากมีต้นไม้บางส่วนที่ปลูกตายหรือโทรมลงบ้างสามารถปรับเปลี่ยนใหม่ได้ โดยไม่ทำลายภาพรวมของสวนเดิม ทำให้สวนยังคงดูดีอยู่เสมอ

บริเวณพื้นที่ค่อนข้างร่ม ออกแบบแผ่นพื้นและแปลงต้นไม้อย่างเป็นสัดส่วนชัดเจน ผลงานโดยบริษัท กิ่ง ก้าน ใบ จำกัด

2.ลดพื้นที่ปูหญ้า

สนามหญ้าที่เห็นเป็นสีเขียวนั้น เป็นพื้นที่ที่ต้องการการดูแลตัดแต่งรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นหากต้องการลดภาระการดูแล จึงต้องลดพื้นที่ปูหญ้าลงให้น้อยที่สุด หากต้องการสีเขียวอาจปลูกไม้คลุมดินที่ให้ผิวสัมผัสใกล้เคียงกันทดแทน เช่น หนวดปลาดุกแคระ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่แสงแดดปานกลาง-ร่ม และใบต่างเหรียญที่อยู่ได้ทั้งในที่แสงแดดจัด-ปานกลาง แต่ไม้คลุมดินส่วนใหญ่มักไม่ทนต่อการเหยียบย่ำเท่ากับหญ้า จึงควรเพิ่มแผ่นปูพื้นวางในพื้นที่ที่จะเข้าไปเหยียบย่ำ ซึ่งนอกจากช่วยให้ดูแลง่ายแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอย แต่ทั้งนี้ไม่ควรกำหนดสัดส่วนของพื้นแข็งมากเกินจนขาดความนุ่มนวลสบายตา การปลูกไม้คลุมดิน หรือโรยกรวดแทรกจะช่วยลดภาระการดูแลได้ หากต้องการมีสนามหญ้าจริงๆควรกำหนดให้อยู่ในสัดส่วนที่น้อยและสร้างขอบเขตให้สามารถดูแลได้ง่าย ที่สำคัญอย่าลืมปลูกไม้คลุมดินไว้ตามมุมสนามในบริเวณที่เครื่องตัดหญ้าเข้าถึงยากด้วย

พื้นสวนโรยด้วยกรวดและวางแผ่นหินกาบสีชมพูเป็นลานวงกลม แทนการปูหญ้าเพื่อลดการดูแล ผลงานโดย Murraya Garden

3.โบกมือลาไม้ตัดแต่ง

การเลือกใช้ต้นไม้รูปทรงอิสระจะช่วยลดภาระในการตัดแต่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอออกไป  ต้นไม้หลายชนิดที่มีทรงพุ่มแน่น อย่าง ชาดัด และไทรต่าง ๆ มักนิยมตัดเป็นรูปทรง ทั้งทรงกลม ทรงแท่ง  เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน กิ่งก้านของต้นเหล่านี้ก็มักจะยาวยื่นจากรูปทรงเดิม หากต้องการรักษารูปแบบที่ดูเป็นระเบียบไว้ จึงต้องคอยตัดกิ่งที่ยื่นเกินออกก่อนอยู่เสมอ แต่หากไม่สะดวกทำเช่นนั้น ก็ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในลักษณะนี้ และปล่อยให้ต้นไม้เติบโตอย่างอิสระ ย่อมสร้างความสวยงามอีกรูปแบบได้เช่นกัน หรืออาจเปลี่ยนมาปลูกต้นที่มีรูปทรงชัดเจนด้วยตัวเองแทน อย่างเช่น สน ปาล์ม ปรง จันผา เข็มกุดั่น หมากผู้หมากเมีย วาสนา พญาไร้ใบ อากาเว่ สับปะรดสี ว่านหางจระเข้ หญ้าน้ำพุ แฟนไอริส หนวดปลาดุก  เป็นต้น

พรรณไม้ที่ปล่อยให้เติบโตอย่างอิสระ เช่น เข็มสามสี เอื้องหมายนาด่าง ไผ่ฟิลิปปินส์ หมากผู้หมากเมีย ระฆังทอง หนวดปลาดุกแคระ

4.ตัดขาดจากพืชอายุสั้น

ไม้ดอกเมืองหนาวที่ให้สีสันสวยงามหลายชนิดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี การจะนำมาปลูกปะปนกับต้นไม้อื่นในสวนทำให้ดูแลได้ยาก ดังนั้น จึงควรจัดที่ให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนด เช่น ปลูกในกระบะ หรือกระถางทรงสวยเพื่อเพิ่มจุดเด่นในบริเวณที่รับมุมมองต่าง ๆ เมื่อต้นไม้โทรมหรือตายลงตามอายุ ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย แต่หากต้องการปลูกร่วมกับพรรณไม้อื่น ๆ ในแปลงควรเลือกชนิดที่มีอายุข้ามปี  อย่าง ไฮเดรนเยีย พยับหมอก เวอร์บีน่า ฯลฯ

แยกไม้ดอกอายุสั้น อย่างแพงพวยแคระ ดาวเรือง มาปลูกไว้ในกระบะและกระถาง

5.ห่างไกลไม้เลื้อย   

ไม้เลื้อยหลายชนิดแม้ให้ดอกที่สวยงาม แต่ก็เติบโตเร็ว หากต้องการปลูกควรเลือกชนิดที่โตช้า เช่น พวงคราม และทำซุ้มที่สร้างขอบเขตชัดเจน อาจกำหนดให้อยู่บริเวณหลักๆอย่างทางเข้าสวนที่มองเห็นง่าย เพื่อไม่เผลอปล่อยให้เลื้อยเกินขอบเขตมากเกินไป  ซึ่งอาจต้องตัดออกบ้างเมื่อสังเกตเห็น

ส่วนไม้คลุมดินที่เลื้อยละออกไปคลุมขอบแปลง ควรสร้างขอบเขตให้กับต้นไม้เหล่านี้ ไม่ให้ออกนอกพื้นที่ที่กำหนดมากเกินเช่นกัน เพียงแค่ตัดแต่งเล็กน้อยนานครั้ง ภาพสวนที่สวยงามก็ยังคงอยู่

ออกแบบสวน
ทำซุ้มไม้เลื้อย บริเวณทางเข้าสวนที่เห็นเด่นชัด เพื่อให้ดูแลได้ง่าย ออกแบบสวน:  Shabby Chic Gardens

6.ปลูกพืชโตช้า

การปลูกต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตช้าจะไม่แผ่กิ่งก้านลุกล้ำพื้นที่เร็วนัก  ย่อมช่วยลดภาระในการดูแลตัดแต่งในอนาคต อีกทั้งพืชชนิดที่โตช้า มักตายช้ากว่าพืชโตเร็วด้วย ตัวอย่างพืชที่มีอัตราการเติบโตช้า เช่น บุนนาค แก้วเจ้าจอม ตันหยง ตีนเป็ดฝรั่ง ศรีตรัง องุ่นทะเล เข็มขาว สนใบพาย ปาล์มจีบ มิกกี้เม้าส์ ปรงญี่ปุ่น เข็มพิษณุโลก สนเลื้อย ฯลฯ

7 พืชทนแล้งดูแลง่าย

การปลูกพืชที่ต้องการน้ำน้อยจะช่วยลดภาระในการดูแลรดน้ำลงได้ ความถี่ในการรดจากที่เคยรดทุกวัน อาจเปลี่ยนเป็นสามวันต่อครั้ง ซึ่งช่วยผ่อนแรงได้มาก แต่ทั้งนี้ พืชเกือบทุกชนิดมักไม่ชอบน้ำขังแฉะ โดยเฉพาะพืชทนแล้งจึงควรเตรียมการเรื่องวัสดุปลูกและการระบายน้ำไว้ล่วงหน้าให้ดี

ออกแบบสวน

8.ศึกษานิสัยของต้นไม้ก่อนปลูก   

ควรดูสภาพพื้นที่บริเวณนั้นว่า ได้รับแสงแดดมากน้อยเพียงใด บริเวณที่ได้รับแสงแดด 30-40 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน ควรปลูกไม้ทนร่ม และปลูกไม้ที่ชอบแดดในบริเวณกลางแจ้ง หากไม่มั่นใจก่อนนำต้นไม้ลงปลูก ลองนำมาตั้งวาง ว่าอยู่ในบริเวณนั้นแล้วงามดีเหมาะสมหรือไม่ แล้วจึงค่อยปลูกลงดิน อีกทั้งควรศึกษาว่าพืชที่เราเลือกมาปลูกนั้น ชอบปริมาณน้ำและความชื้นมากน้อยเพียงใด

ออกแบบสวน
ปลูกต้นไม้ตามสภาพแสง บริเวณที่ได้แสงแดดดี เลือกปลูกไม้ดอกและสมุนไพรฝรั่ง ผลงานโดย Sukyen Garden

9.ต้นที่ชอบเหมือนกันปลูกร่วมกัน

การนำต้นไม้มาปลูกร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ นอกจากคัดเลือกจากความงามภายนอกแล้ว ที่สำคัญควรเลือกปลูกชนิดที่ชอบสภาพปลูกใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน เช่น พืชที่ต้องการปริมาณน้ำเท่า ๆ กัน เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรดน้ำในแต่ละครั้ง 

10 ลดดีเทลให้สวนดูเรียบง่าย

ออกแบบสวนให้ดูแลง่าย โดยลดความสลับซับซ้อนหรือความจุกจิกลงให้ดูเรียบง่ายขึ้น นอกจากช่วยประหยัดงบได้บางส่วนแล้ว ยังช่วยให้ดูแลได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น ปลูกพรรณไม้ชนิดเดียวกันเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ตัดทอนขอบแปลงบางส่วนลงลดความหลากหลายของวัสดุในสวน ใช้กรวดขนาดและสีเดียวกันดีกว่าคละขนาด เป็นต้น

ออกแบบสวน
สวนที่ออกแบบให้ดูเรียบง่าย ปลูกพืชชนิดเดียวเป็นกลุ่มในแปลงใหญ่ ออกแบบโดย บริษัท กิ่ง ก้าน ใบ จำกัด

เพียงเท่านี้สวนจะดูสวยงามได้อย่างยาวนานขึ้น พร้อมให้คุณเข้าไปใช้งานได้อย่างเต็มที่แบบไม่สร้างภาระแล้ว ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดและดูแลสวนได้ใน “100 ความรู้คู่สวน2 จัดและดูแลสวนด้วยตนเอง

เรื่อง ทิพาพรรณ

ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย ,สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

บทความที่