ไล่มอด ออกจากถังข้าวสาร ทำอย่างไรให้เห็นผล
หมดปัญหากวนใจกับ วิธี ไล่ มอด ได้ง่ายๆ ด้วยวัตถุดิบและของใช้ที่หาได้รอบๆตัว เรื่องกวนใจที่พบได้บ่อยๆ และอาจเกิดขึ้นกับเราได้ กับการพบมอดในถังข้าวสาร ที่เก็บไว้รอรับประทานในห้องครัว ไล่มอดแบบประณีประนอม ไม่ต้องลงมือทำร้ายกันถึงแก่ชีวิต วันนี้ บ้านและสวน ได้รวบรวมเอา วิธีไล่มอด ให้เก็บข้าวของย้ายออกจากถังข้าวสารด้วยวัตถุดิบและของใช้ที่หาได้รอบ ๆ ตัว
1 . ช้อนสเตนเลส
ใช้ช้อนสเตนเลสวางใส่ลงไปในถังข้าวสาร ก็เป็นอีกหนึ่ง วิธี ไล่ มอด ได้เช่นกัน จำนวนช้อนขึ้นอยู่กับข้าวสารที่เรามี หากใส่หลาย ๆ คันพร้อมกันก็สามารถทำได้ ทิ้งช้อนไว้ในถังข้าวสารประมาณ 1 คืน ตัวมอดก็จะค่อย ๆ ย้ายรังออกจากถังข้าวสารเราได้แล้ว
2 . ใบมะกรูด
ใช้ใบมะกรูดสามารถใช้ได้ทั้ง ใบมะกรูดแบบสด หรือ ใบมะกรูดแบบแห้ง ก็ได้แล้วแต่ที่สามารถหาได้ จากนั้นนำใบมะกรูดโปรยใส่ไว้ในถังข้าวสาร ทางที่ดีแนะนำให้นำ ใบมะกรูดรอง ก้นถังข้าวสารเอาไว้ด้วย ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก ที่มอดต้องหนีออกมานั้น เป็นเพราะน้ำมันหอมระเหยใน ใบมะกรูด ฉุนเกินไปสำหรับมอด การใส่ใบมะกรูดลงไป จะช่วยไล่มอดให้ค่อย ๆ ออกมาจากถังข้าวสารได้
3 . พริกแห้ง
อีกหนึ่งวัตถุดิบ ให้รสเผ็ดร้อนอย่าง พริกแห้ง ก็สามารถใช้เป็น วิธีไล่มอด ได้เช่นกัน เพียงใส่ พริกแห้ง ลงในถุงตาข่าย แล้วโยนไว้ในถังข้าวสาร ทิ้งไว้เช่นนั้นประมาณ 1 – 2 คืน ความแสบของ พริกแห้ง จะช่วยไล่ให้มอด ค่อย ๆ ย้ายตัวเองและครอบครัวออกจากถังข้าวสาร
4. อาหารทะเลตากแห้ง
ใช้อาหารทะเลตากแห้งที่มีกลิ่นแรง ๆ อย่างพวกปลาหมึกแห้ง วิธีนี้ก็สามารถ ไล่มอด ได้ผลเช่นเดียวกัน แต่เราจะไม่ใส่ปลาหมึกแห้งลงถังข้าวสารโดยตรง ให้ใส่ปลาหมึกแห้งไว้ในถุงพลาสติกผูกปากไว้ พอให้มีกลิ่นของปลาหมึกแห้งโชยออกมา จากนั้นใส่ถุงปลาหมึกแห้งไว้ในถังข้าวสาร เจ้ามอดตัวดีก็ทนกับกลิ่นแรง ๆ ของปลาหมึกแห้งแบบนี้ไม่ไหวก็จะทยอยหนีออกมาจากถังข้าวสารเอง
5 . น้ำส้มสายชู
หาแก้วใบเล็ก ๆ แล้วรินน้ำส้มสายชูลงไปในแก้ว จัดแจงวางแก้วไว้ตรงกลางถังข้าวสาร เปิดฝาถังทิ้งไว้เดี๋ยวเดียวเจ้ามอดก็พากันไต่หนีกันอย่างรวดเร็ว เพราะกลิ่นของ น้ำส้มสายชู รุนแรงเกิดกว่ามอดจะทนได้
6 . ตากแดด
ใช้ความร้อนจากแดดประเทศเราเข้าสู้ !! เพียงนำถังข้าวสารที่มอดไต่ไปตากแดดจัด ๆ ความร้อนระดับแดดเมืองไทยทำให้มอดอยู่ไม่ได้ ค่อย ๆ ไต่ออกมา หมดวันก็แล้วนำข้าวมาร่อน ถ้ายังไม่หายวันพรุ่งนี้ก็นำมาตากแดดอีกเรื่อย ๆ
Tips
** มอดไม่ได้เพิ่งไต่เข้าในถังข้าวตอนเอามาตั้งไว้ แต่อยู่ในข้าวมาตั้งแต่แรกแล้ว
** โรงสีส่วนใหญ่จะรมยากันมอดมาแล้ว 3 – 6 เดือนต่อครั้ง บวกกับเค้าเก็บข้าวในห้องที่ถูกควบคุมอุณหภูมิทำให้มอดไม่แสดงตนออกมาแต่แรก แต่เมื่อเราเปิดถุงข้าว บวกกับอากาศที่อุ่นขึ้นเข้าปลุกมอดให้ตื่นและออกมาพร้อมขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
Story : ORY
ทำความรู้จักกับ ข้าว 7 ประเภท ที่คนไทยนิยมทาน
7 ตัวช่วยกำจัดคราบกาว ติดแน่นแค่ไหนก็ออกหมดเกลี้ยง !
ติดตามบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ที่เพจ บ้านและสวน Baanlaesuan.com