ป้องกันปัญหา เลี้ยงแมวเลี้ยงหมา ที่เรารักไม่ให้ป่วย บาดเจ็บ และลดอันตรายทั้งคนและสัตว์เลี้ยง มาดู 8 Do & Don’t ในการเตรียมพื้นที่เลี้ยงแมวเลี้ยงหมากัน
1.พื้นในบ้าน
วัสดุปูพื้นภายในบ้านที่เหมาะสำหรับคน บางครั้งก็ไม่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง เพราะโครงสร้างร่างกายและลักษณะฝ่าเท้าของคนและสัตว์ไม่เหมือนกัน เลี้ยงแมวเลี้ยงหมา
Don’t พื้นลื่น พื้นแข็ง
แม้วัสดุพื้นที่มีพื้นผิวเรียบมัน เช่น กระเบื้องแกรนิโต้ผิวมันจะเช็ดทำความสะอาดง่าย และนิยมใช้ในบ้านทั่วไปแต่ก็สร้างความลำบากในการเดินและวิ่งสำหรับสุนัขและแมว ทำให้เกิดอาการขาแบะ อีกทั้งพื้นแข็งๆอย่างพื้นคอนกรีต พื้นปูกระเบื้องยังส่งผลเสียในระระยาวต่อสุนัขที่มักวิ่งและกระโดดแบบเต็มแรง ซึ่งนำมาสู่โรคข้อและกระดูกได้ เลี้ยงแมวเลี้ยงหมา
Do พื้นไม่ลื่น ทนขูดขีด ลดแรงกระแทกได้
วัสดุปูพื้นที่เป็นมิตรสำหรับสัตว์เลี้ยง ควรมีคุณลักษณะ ดังนี้
- พื้นผิวไม่ลื่น โดยมีค่าการกันลื่นอย่างน้อยระดับ R10 หรือเทียบเท่าความฝืดของพื้นห้องน้ำที่ไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ (ค่า R หรือ Slip Resistance มีระดับตั้งแต่ R9 – R13 ยิ่งตัวเลขมากจะยิ่งกันความลื่นได้มาก)
- ทนการขูดขีด สัตว์เลี้ยงมักตะกุยจนเกิดการขูดขีดจากเล็บเท้าเสมอ จึงควรใช้วัสดุที่มีพื้นผิวทนต่อรอยขีดข่วนได้ดี โดยมีค่าความทนทานของผิวหน้าระดับ AC5 (Abrasion Resistance Class มีตั้งแต่ AC1 – AC5 โดย AC5 เป็นค่าความทนทานของผิวหน้าระดับสูงสุดซึ่งเหมาะกับพื้นที่ใช้งานหนัก)
- ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่กักฝุ่น ไม่เก็บขน ไม่ดูดซึมน้ำ และสิ่งสกปรกต่างๆ
- มีคุณสมบัติลดแรงกระแทก สำหรับสุนัขที่มีน้ำหนักตัวมาก และเป็นพันธุ์ที่มักมีปัญหาเรื่องสะโพกและข้อเข่า มักเกิดปัญหาสุขภาพจากการเดิน วิ่ง และเกิดอุบัติเหตุบนพื้นแข็งๆได้ง่าย จึงแนะนำให้ปูพื้นด้วยวัสดุที่มีชั้นลดแรงกระแทกซึ่งมีความยืดหยุ่น เช่น แผ่นพื้นไวนิลรุ่นลดแรงกระแทก หรือปูพื้นบริเวณที่อยู่เป็นประจำด้วยแผ่นยางกันลื่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นแผ่นโฟมที่ไม่ยุบตัว กันน้ำและสิ่งปฏิกูลซึมลงไป ใช้ปูรองพื้นกันลื่นและลดแรงกระแทก ป้องกันสุนัขขาเสีย ขาแบะ และเหมาะกับสุนัขป่วย สุนัขหลังผ่าตัด สุนัขและแมวแก่ที่พยุงตัวเองไม่ได้
2.พื้นภายนอก
พื้นภายนอก พื้นเฉลียง และพื้นทางเดินมีโอกาสเปียกน้ำบ่อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้องหมาแมวได้วิ่งเล่นอย่างเต็มที่ จึงควรระมัดระวังเรื่องความลื่นและการระบายน้ำ
Don’t พื้นลื่นและน้ำขัง
- ไม่ควรใช้วัสดุปูพื้นผิวเรียบเกินไป เช่น กระเบื้องแกรนิโต้ผิวเรียบ กระเบื้องเซรามิกผิวเรียบ คอนกรีตขัดมัน เพราะนอกจาจจะเดินลำบากแล้วยังลื่นมาเมื่อเปียกน้ำ
- พื้นผิวมีน้ำขังเนื่องจากเป็นหลุมเป็นแอ่ง ซึ่งทำให้เกิดตะไคร่น้ำได้
- พื้นไม่ลาดเอียง ทำให้ไม่ระบายน้ำหรือระบายได้ช้า เป็นสาเหตุให้มีเศษดินสะสมพื้นผิวและลื่นได้ง่าย
Do กันลื่น ระบายน้ำดี
- ใช้วัสดุพื้นที่มีผิวสัมผัสหยาบ วัสดุที่เหมาะสม คือ ทรายล้าง หินล้าง อิฐมอญ บล็อกคอนกรีตปูพื้น คอนกรีตขัดหยาบ ไม้ ไม้เทียม กระเบื้องผิวหยาบ เป็นต้น หรือทำแพตเทิร์นพื้นผสมวัสดุผิวเรียบและผิวหยาบ เช่น การปูกระเบื้องสลับทรายล้าง
- พื้นมีความลาดเอียง พื้นภายนอกบ้าน รวมถึงบริเวณคอกหรือกรง ควรทำพื้นให้ลาดเอียงอย่างน้อย 1 : 200 และลาดเอียงไปยังรางระบายน้ำ เพื่อให้พื้นแห้งเร็ว ป้องกันน้ำขัง เพื่อให้สามารถฉีดน้ำทำความสะอาดได้บ่อยๆ
3.จุดหมักหมมฝุ่นและขน
ทั้งสุนัขและแมวไม่ว่าจะพันธุ์ขนสั้นหรือขนยาวจะมีขนร่วงตลอดเวลา ทั้งจากการร่วงปกติ การผลัดขนจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือจากสภาวะร่างกายไม่ปกติ ซึ่งจะลอยในอากาศ ตกลงมาบนพื้นห้อง และมักสะสมอยู่ตามซอกมุมพื้นและผนังซึ่งมักทำความสะอาดไม่ถึง การออกแบบห้องที่ลดซอกมุมจึงช่วยลดการสะสมฝุ่นและขนไม่ให้หมักหมม และทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น
Don’t มีซอกมุมสะสมฝุ่นและขน
- ผนังที่มีขอบบัวยื่น จะเป็นจุดสะสมฝุ่นและขน จึงควรเช็ดทำความสะอาดสม่ำเสมอ
- บัวเชิงผนังที่มีซอกมุมมาก และเป็นแบบมุมฉากจะทำให้เช็ดทำความสะอาดไม่ทั่วถึง
- ชั้นวางของแบบเปิดโล่ง และด้านบนของตู้ลอยตัวที่มองไม่เห็น มักเป็นจุดที่ละเลยการทำความสะอาด
Do ซอกมุมน้อย เช็ดง่าย
- ออกแบบบัวเชิงผนังโค้ง ไม่เกิดการสะสมฝุ่นและขน ทั้งยังเช็ดทำความสะอาดง่าย
- ผนังดีไซน์เรียบ มีส่วนยื่นน้อย หรืออยู่ในจุดที่ทำความสะอาดได้ง่าย
- ตู้เก็บของมีหน้าบานปิดมิดชิด ป้องกันฝุ่นและขน หรือถ้าสามารถทำตู้บิลท์อินสูงถึงฝ้าเพดานได้ ก็จะลดปัญหาฝุ่นได้มาก
4.อาบน้ำสัตว์เลี้ยงแบบไม่ปวดหลัง
พื้นที่อาบน้ำจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้านก็ได้ ซึ่งการอาบน้ำให้สุนัขหรือแมวที่ตัวเตี้ยกว่าคน ทำให้ต้องก้มตัวอยู่เป็นเวลานาน จึงแนะนำให้เตรียมพื้นที่อาบน้ำที่สะดวกกับตัวเราเองด้วย
Don’t อาบน้ำน้องๆกับพื้น
การอาบน้ำให้สุนัขและแมวกับพื้นไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่เมื่อเราทำบ่อยๆ หรือต้องอาบให้หลายๆตัว จะทำให้เมื่อยและปวดหลังได้ง่าย
Do มีแท่นอาบน้ำ
- ใช้อ่างอาบน้ำสำเร็จรูป หรือทำที่อาบน้ำแบบสร้างเอง เป็นวิธีที่สะดวกในการใช้งานที่สุด
- มีแท่นหรือพื้นยกระดับสูง 40-80 เซนติเมตร ตามขนาดความสูงของสัตว์เลี้ยง อาจดัดแปลงใช้เก้าอี้ โต๊ะ ม้านั่งแทนได้ จะช่วยให้เรายืนหรือนั่งเก้าอี้เพื่ออาบน้ำให้น้องๆได้โดยไม่ต้องก้มมาก
5.รั้วสุนัข
การทำรั้วเพื่อกำหนดอาณาเขตให้สุนัขจะขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะนิสัยของสุนัข โดยมีสิ่งที่ควรและไม่ควรทำดังนี้
Don’t รั้วเตี้ยและห่าง
- รั้วเตี้ยและมีระยะซี่ห่างเกินไป ย่อมป้องกันการปีน การลอดไม่ได้ แล้วยังเกิดอันตรายหากหัวหรือตัวติดซี่รั้วอีกด้วย
- รั้วไม่แข็งแรง อาจล้มจากการปีนจนบาดเจ็บทั้งคนและสุนัขได้
Do ขนาดรั้วเหมาะสมและแข็งแรง
- สุนัขขนาดกลางและสุนัขที่ได้รับการฝึก รั้วสูง 1.20-1.50 เมตร
- สุนัขสายพันธุ์ที่ใช้ในการกีฬา รั้วสูง 1.50-1.80 เมตร
- สุนัขขนาดใหญ่ รั้วสูงประมาณ 2 เมตร
- ซี่รั้วมีระยะห่าง 5 -10 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดสุนัข
- รั้วป้องกันการกัด โดยทำรั้วให้ถี่ขึ้น หรืออาจกรุด้วยตะแกรงเหล็กถี่ แผ่นโลหะเจาะรู ก็ช่วยป้องกันสุนัขยื่นปากหรือเท้าออกไปกัดกันได้
- สุนัขที่ตกใจง่าย ไวต่อสิ่งกระตุ้น เหมาะกับการทำรั้วทึบที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย หรือทึบส่วนล่าง โปร่งส่วนบน
- สุนัขจอมขุด ควรเพิ่มกำแพงกันดินใต้แนวรั้ว เพื่อป้องกันการขุดดินใต้รั้วแล้วมุดหนี
- สุนัขนักปีนป่าย ต้องทำโครงสร้างรั้วให้แข็งแรง ป้องกันการกระแทกและล้ม เช่น ทำฐานรากให้มั่นคง หรือทำเหล็กค้ำยันเพิ่มความแข็งแรง
6.ประตูรั้วกันสุนัขหลุด
เรามักได้ยินข่าวสุนัขหลุดออกไปกัดเพื่อนบ้านบ่อยๆ ซึ่งการออกแบบประตูรั้วที่ดีจะป้องกันสุนัขหลุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Don’t ประตูรั้วชั้นเดียว
สุนัขมีความเร็วและความสามารถในการมุดมาก การมีเพียงประตูรั้วบ้านปกติ หรือการใช้เพียงโซ่ล่ามสุนัขก็มีโอกาสพลาดโซ่หลุดหรือปลอกคอหลุดได้ จึงถือเป็นความประมาทสำหรับการเลี้ยงสุนัขที่มีนิสัยดุ เพราะมีโอกาสที่สุนัขจะหลุดออกไปได้ง่ายๆ
Do ประตูรั้ว 2 ชั้น
- ทำประตูรั้วอย่างน้อย 2 ชั้น เพื่อป้องกันสุนัขหลุดออกมา โดยปิดประตูรั้วหน้าบ้านเสมอเมื่อเปิดประตู้รั้วชั้นใน เพราะหากพลาดหลุดออกมาก็ยังมีรั้วอีกชั้นกันไว้ได้ และเมื่อจะเปิดประตูรั้วหน้าบ้าน ต้องแน่ใจว่าสุนัขอยู่ในรั้วชั้นในแล้ว
- ใช้ตัวล็อกอัตโนมัติ อย่างที่นิยมใช้กับกรงสัตว์ทั่วไป เพื่อให้ปิดล็อกประตูได้ทันท่วงที และมีกลอนสำหรับล็อกมืออีกชั้น เพื่อความแข็งแรง
7.บันไดสัตว์เลี้ยง
ขั้นบันไดของคนนั้นแคบและสูงเกินไปสำหรับการเดินสี่ขา ทำให้มีการถ่ายน้ำหนักลงสะโพกและขามากเกินไป
Don’t บันไดสูงชัน
สุนัขที่เดินขึ้น-ลงบันไดที่สูงชันบ่อยๆอาจเกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะสุนัขขนาดเล็ก สุนัขที่มีขาสั้น มีช่วงหลังยาว และเมื่อสุนัขเริ่มสูงอายุ อาจมีอาการของโรคไขข้ออักเสบเรื้อรัง หรือเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับสะโพกได้
Do ขั้นบันไดเตี้ย มีทางลาด
- บันไดสำหรับสุนัขและแมว ทำลูกนอนกว้าง 25 – 30 เซนติเมตร และลูกตั้งสูง 10 – 15 เซนติเมตร หรือออกแบบเป็นทางลาดที่มีแถบกันลื่น ก็ช่วยถนอมสะโพกและข้อขาหลัง
- ทำบันไดเสริม สำหรับสุนัขพันธุ์เล็ก เพื่อใช้ในการขึ้นลงโซฟาหรือพื้นต่างระดับ ช่วยลดการกระแทกจากการกระโดดบ่อยๆ
8.ห้องน้ำสัตว์เลี้ยง
ห้องน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในบ้าน ควรวางในพื้นที่ที่เหมาะสม และมีการระบายอากาศที่ดี เพื่อสุขอนามัยของคนในบ้าน
Don’t ห้องน้ำสัตว์เลี้ยงอยู่ในห้องนอน
แม้ห้องน้ำสัตว์เลี้ยงอย่างห้องน้ำแมวและทรายแมวสำเร็จรูปจะออกแบบให้ช่วยกันฝุ่นและดูดซับกลิ่นได้บ้าง แต่ก็ยังมีละอองฝุ่นและการระเหยจากสิ่งขับถ่ายออกมา จึงไม่ควรวางห้องน้ำสัตว์เลี้ยงไว้ในห้องที่เราใช้ชีวิตเป็นประจำ ทั้งห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องทำงาน โดยเฉพาะในห้องนอนที่เราต้องการการพักผ่อนอย่างเต็มที่
Do แยกห้องน้ำสัตว์เลี้ยง
ควรแยกห้องน้ำสัตว์เลี้ยงให้เป็นสัดส่วน มีช่องระบายอากาศสู่ภายนอกได้เพื่อลดความอับชื้น กลิ่นเหม็น และมีประตูปิดมิดชิดป้องกันกลิ่นฟุ้งกระจาย โดยมีไอเดียการทำห้องน้ำดังนี้
- ห้องน้ำแมวในเคาน์เตอร์ ทำลิ้นชักให้เลื่อนออกมาทำความสะอาดได้ง่าย แต่พอปิดตู้ก็ดูเป็นเคาน์เตอร์ทั่วไป
- ห้องน้ำแมวในตู้ ทำตู้ไว้นอกบ้านสำหรับใส่ห้องน้ำแมวสำเร็จรูป แล้วติดตั้งประตูให้เดินเข้าห้องน้ำจากในบ้านได้เอง ก็สามารถทำความสะอาดจากนอกบ้านโดยที่กลิ่นและฝุ่นไม่ฟุ้งเข้าบ้าน
- ห้องน้ำสุนัข กั้นห้องขนาด 0.80 x 1.50 เมตร (ขึ้นอยู่กับขนาดสุนัข) ไว้นอกบ้าน ติดตั้งประตูให้เดินออกมาเข้าห้องน้ำได้เอง เจาะช่องระบายอากาศกรุตะแกรงเหล็ก ทำพื้นผิวด้วยวัสดุทนน้ำอย่างปูนซีเมนต์และกระเบื้อง เพื่อให้สามารถฉีดน้ำทำความสะอาดได้ง่าย และด้านบนทำชั้นเก็บอุปกรณ์
คอลัมน์ Home Expert นิตยสารบ้านและสวน ก.พ.66
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล