ต้นไผ่กวนอิม ไม้มงคลอีกหนึ่งชนิดที่นิยมปลูกตกแต่งกันในบ้าน เป็นพรรณไม้ที่เลี้ยงดูแลง่าย และมีความเชื่อเกี่ยวกับตำแหน่งการปลูกตกแต่งในบ้านว่าจะช่วยเสริมความมงคลในเรื่องต่างๆ จะมีมุมไหนบ้างไปติดตามกันเลย
ต้นไผ่กวนอิม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : D. braunii Engl. ถิ่นกำเนิด ทวีปแอฟริกา
เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า D. sanderiana โดยชื่อระบุชนิดมาจากชื่อของ Henry Frederick Conrad Sander เจ้าของเนิร์สเซอรี่ใหญ่ในอังกฤษ แต่ปัจจุบันเป็นชื่อพ้อง เป็นไม้พุ่มเตี้ย โตเต็มที่สูงราว 2-3 ฟุต ลำต้นเป็นแท่งตรงไม่แตกกิ่ง ใบรีปลายแหลม เดิมใบสีเขียวเข้ม ในเมืองไทยรู้จักกันในชื่อ “ไผ่กวนอิม” หรือ “กวนอิม” ชาวจีนใช้เป็นไม้ตัดใบคู่กับไม้ดอกอื่นๆ สำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อกันว่าจะนำโชคลาภมาให้ผู้ปลูกเลี้ยง มีการดัดให้เป็นรูปทรงต่างๆ ขดเป็นวงไปมา หรือตัดแล้วมัดรวมกันเป็นฐานวางเจ้าแม่กวนอิม เพื่อให้ขายได้ง่ายขึ้น
เป็นไม้ประดับที่ปลูกเลี้ยงง่าย แม้แต่กิ่งที่ขายเป็นไม้ตัดใบ เมื่อนำมาปักแจกันกลับไม้ดอกอื่นๆก็สามารถแตกรากได้ เติบโตได้ในที่มีแสงแดดน้อยปัจจุบันมีพันธุ์ใบด่างสีขาวที่เรียกว่า “กวนอิมเงิน” และด่างสีเหลืองที่เรียกว่า “กวนอิมทอง” และ “กวนอิมประกายแสด” ซึ่งปลูกเลี้ยงง่ายต้องการแสงแดดรำไรเช่นเดียวกัน ทั้งยังเป็นไม้ประดับที่ส่งจำหน่ายไปต่างประเทศมากมายในนาม Lucky Bamboo
กวนอิมทอง D. braunii ‘Gold’
กวนอิมเงิน D. braunii ‘Silver’
ดราซีนา บราวนิอาย ‘ลักกี้โกลด์’ D. braunii ‘Lucky Gold’
กวนอิมประกายทอง D. braunii (Variegated)
กวนอิมด่าง D. braunii ‘Victory’
ไผ่กวนอิม ควรวางตรงไหนและมีความมงคลอย่างไร?
โดยรวม ไผ่กวนอิม หรือ กวนอิม มีความหมายถึง ความมั่นคง มั่งคั่ง ร่ำรวย และเสริมโชคลาภ ทั้งนี้ยังมีความเชื่อกันว่า หากปลูกเลี้ยงในห้องนั่งเล่น จะช่วยเสริมเรื่องสุขภาพ ปลูกเลี้ยงในห้องรับประทานอาหาร จะช่วยเสริมเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ หากปลูกเลี้ยงในห้องทำงาน จะช่วยเสริมเรื่องของความร่ำรวย หากปลูกเลี้ยงในห้องครัว ช่วยเสริมในเรื่องของความสุขสงบภายในบ้าน และหากปลูกเลี้ยงในห้องน้ำ จะช่วยเสริมในเรื่องปรับสมดุลของพลังชีวิต
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไผ่กวนอิมจัดเป็นไม้ที่ชอบแสงแดด แต่ก็สามารถเติบโตได้ในที่แสงแดดน้อย จึงควรวางไว้ในจุดที่แสงแดดส่องถึงบ้าง และส่วนใบของไผ่กวนอิมนั้น มีพิษเล็กน้อยเมื่อเคี้ยวกลืน ดังนั้นจึงควรระวังวางให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เรื่อง : ภวพล ศุภนันทนานนท์ ,อธิวัฒน์ ยั่วจิตร
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือ ไม้ใบ Foliage Plants
บดความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com