บ้านตากอากาศ ที่สร้างจากไม้เก่าเหลือใช้ เปิดรับวิวเขา
บ้านพักตากอากาศ

บ้านตากอากาศ ที่สร้างจากไม้เก่าเหลือใช้ เปิดรับวิวเขา

บ้านตากอากาศ ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ที่สร้างเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจส่วนตัว และยังเป็นที่พบปะสังสรรค์ระหว่างเจ้าของบ้านกับกลุ่มเพื่อนร่วมก๊วนที่รักในงานศิลปะและสนิทสนมคุ้นเคยกันมานาน

ระเบียง
ระเบียงโล่งกว้างที่ตั้งใจออกแบบให้ต่อเนื่องกับโถงรับแขกภายในอาคาร การวางระดับอาคารในมุมสูงทำให้ส่วนของพุ่มไม้โดยรอบอยู่ในระดับสายตาของเราพอดี
เปิดมุมมองอันเต็มตาและต่อเนื่องจากโถงรับแขกภายในออกไปยังระเบียงขนาดใหญ่ภายนอกผ่านชุดกระจกบานสูงใหญ่ที่อยู่โดยรอบอาคารหลัก
ความสุขของการได้นั่งจิบกาแฟเพลินๆ ตรงระเบียง ชมวิวทิวทัศน์สวยงามของสันเขาน้อยใหญ่ที่สลับซับซ้อนจนสุดลูกหูลูกตา

บ้านพักตากอากาศ หลังนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง ท่ามกลางภูมิประเทศที่เป็นทิวเขาสลับไปมา คุณอุดม ด่านศักดิ์ชัย และคุณตั้ม-ธนกฤต ศรีศักดิ์ดา เจ้าของบ้าน เดินลงมาต้อนรับทีมงานและขันอาสาพาเดินชมบ้านทุกซอกทุกมุม เมื่อมองไปโดยรอบพบว่าบ้านหลังนี้ออกแบบเป็นกลุ่มอาคาร 4 หลังตั้งอยู่ใกล้กัน มีระดับสูงต่ำไล่เรียงกันไปตาม ส่วนโค้งเว้าของเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้ง มีทางเดินเล็กๆ ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เชื่อมต่อพื้นที่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน คุณตั้มเล่าถึงไอเดียการปลูกบ้านหลังนี้ให้ฟังว่า

“เรามาตระเวนหาที่ดินเหมาะๆ อยู่นาน กระทั่งได้เจอที่นี่ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ยๆ เมื่อปีนขึ้นไปด้านบนพบว่ามีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามมาก จึงตัดสินใจซื้อและเริ่มคิดวางผังอาคารจากการดู มุมมองทัศนียภาพร่วมกับทิศทางของลมและแดดเป็นหลัก”

บ้านพักตากอากาศ
แสงไฟสลัวกับบรรยากาศยามพลบค่ำของ บ้านพักตากอากาศ ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ความสุขสงบที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ
มุมรับแขก
มุมรับแขกที่นำงานศิลปะทั้งภาพวาดและประติมากรรม ฝีมือชั้นครูจากกลุ่มเพื่อนและคนรู้จักที่เคยมาพักที่นี่ มาจัดวางไว้ตามมุมต่างๆ อย่างลงตัว
ความสดใสของเก้าอี้และอาร์มแชร์สีสดช่วยแต่งแต้มให้โถงรับแขกสีขาวสไตล์โมเดิร์นดูมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
โคมไฟไม้
ความน่าสนใจของเพดานส่วนโถงรับแขกที่นำไม้เก่า ซึ่งดูธรรมดาสามัญมากรุแบบคละรอยต่อ เพิ่มความดิบเท่ด้วยโคมไฟที่ประกอบจากเศษไม้
หริธร อัครพัฒน์
ภาพวาดและประติมากรรมของคุณหริธร อัครพัฒน์ จัดวางอยู่ในมุมรับแขกร่วมกับฉากหลังอันเขียวขจีของต้นไม้โดยรอบ

อาคารหลักซึ่งตั้งเด่นอยู่ตรงกลางออกแบบภายในเป็นโถงรับแขกสีขาวขนาดใหญ่ต่อเนื่อง ออกไปยังระเบียงโล่งกว้างด้านนอก ตกแต่งฝ้าและรายละเอียดอาคารด้วยไม้จริง ทำให้บรรยากาศในส่วนนี้ดูอบอุ่นมากขึ้น เพิ่มสีสันสดใสด้วยโซฟา และอาร์มแชร์สีสดอย่างสีม่วง น้ำเงิน ส้ม และแดง ผนังโดยรอบติดหน้าต่างบานกระจกทรงสูง ทำให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ของธรรมชาติได้รอบทิศทาง ที่น่าสนใจคือการนำงานศิลปะทั้งภาพวาดและ ประติมากรรมฝีมือชั้นครูจากกลุ่มเพื่อนและคนรู้จักที่เคยมาพักที่นี่มาจัดวางไว้ตามมุมต่างๆ อย่างลงตัว

เก้าอี้รับแขกไม้เก่า
มุมนั่งเล่นเล็กๆ หน้าห้องพักของคุณอุดมและครอบครัวซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโถงรับแขก
บ้านริมบ่อน้ำ
นั่งเพลินอารมณ์ใต้ร่มเงาไม้ในยามบ่าย ข้อดีของการออกแบบให้มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ในบริเวณนี้ก็คือกระแสลมที่พัดเข้ามาจะมีอุณหภูมิลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะน่าสบายขึ้น
บ่อน้ำ
มุมน่าประทับใจอีกมุมหนึ่งที่มองเห็นบรรยากาศของ บ้านพักตากอากาศ ได้อย่างทั่วถึง ทั้งต้นไม้อันเขียวขจีและพื้นน้ำที่มา เติมเต็มความเย็นสดชื่น ดูเป็นองค์ประกอบศิลป์ที่ลงตัว
ทางเดิน
ทางเดินดีไซน์เก๋ไก๋ทอดยาวต่อเนื่องจากอาคารโถงรับแขกไปยังห้องพักสไตล์โอเรียนทัลด้านหลัง
ฟูกนอนกับบพื้น
ตื่นรับวันใหม่ด้วยธรรมชาติอันสวยงาม เปิดมุมมองอย่างเต็มตาด้วยหน้าต่างบานใหญ่ภายในห้องพักของคุณอุดมและครอบครัว

เมื่อเดินไปด้านหลังจะพบอาคารขนาดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนของห้องพัก 2 ห้องที่วางตัวอาคารยาวขนานไปกับอาคารหลัก ออกแบบให้มีหน้าตาและกลิ่นอายของความเป็นไทยที่ผสมผสานกับความเป็นเอเชียตะวันออกได้อย่างไม่ขัดเขิน สิ่งที่สะดุดตามากที่สุดคงหนีไม่พ้นบ่อน้ำขนาดใหญ่สีเขียวมรกต ซึ่งอยู่ระหว่างอาคารทั้งสองหลัง โดยทำทางเดินเชื่อมดีไซน์เก๋ไก๋ที่ออกแบบเป็นรูปทรงโค้งมนสีขาว ดูบางเบา เสมือนล่องลอยอยู่กลางน้ำ ถัดเข้าไปด้านในเป็นห้องนอนหลักของคุณอุดมและครอบครัว อีกด้านหนึ่งเป็นเรือนไม้แบบไทยโบราณ เจ้าของบ้านซื้อเรือนยุ้งข้าวเก่ามาปรับใหม่จนกลายเป็นเรือนพักอาศัยอีกหลังที่มีสัดส่วนสวยงาม ดูสอดคล้องกับอาคารหลังอื่นๆ เป็นอย่างดี

เรือนยุ้งข้าว
เรือนยุ้งข้าวเก่าที่เจ้าของบ้านหาซื้อจากชาวบ้าน และปรับให้เป็นที่พักอาศัยซึ่งมีโครงสร้างและสัดส่วนสวยงาม แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ทั้งของดั้งเดิมและปลูกเพิ่มเติมในภายหลัง
มุมสังสรรค์ใต้ถุนเรือนยุ้งข้าวเก่าที่เจ้าของบ้านชอบมานั่งพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนสนิท

ในการมาเยี่ยมชมบ้านหลังนี้มีสองสิ่งที่ทำให้ประหลาดใจมากที่สุดก็คือ บ้านนี้ไม่ได้ว่าจ้างสถาปนิก เพราะเจ้าของบ้านสร้างบ้านโดยใช้ความรักในงานศิลปะ รวมไปถึงความรู้พื้นฐานทางโครงสร้างของการทำธุรกิจรับสร้างฉากเวที โฆษณา และเกมโชว์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่คุณอุดมและเพื่อนๆ ร่วมก่อตั้งมาด้วยกัน และไม้ที่ใช้ก่อสร้างบ้านหลังนี้เกือบทั้งหมดก็มาจากไม้เหลือใช้จากการทำฉากเวทีเหล่านั้น นำมาดัดแปลงและแปรสภาพจนกลายเป็นวัสดุหลักของบ้าน

บ้านหลังนี้เป็นเสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ผ่านการสร้างสรรค์มาอย่างประณีต เพื่อเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของกลุ่มเพื่อนรักที่มีมิตรภาพยืนยาว ซึ่งเป็นคุณค่าที่หาซื้อด้วยเงินไม่ได้จริงๆ

เจ้าของ – ออกแบบ : คุณอุดม ด่านศักดิ์ชัย และคุณธนกฤต ศรีศักดิ์ดา


เรื่อง : ศุภชาติ บุญแต่ง

ภาพ : สังวาล พระเทพ

ผู้ช่วยภาพ : อานนท์ ตรีปฐมวงศ์ยศ, ยุวันดา มีราคา

สไตล์: ภควดี พะหุโล

บ้านตากอากาศในฝันของชีวิตหลังเกษียณ

100 แบบบ้านต่างจังหวัด แสนน่าอยู่