บ้านที่ดีจาก ภายใน

บ้านที่ดีจาก ภายใน

คนเราดูกันที่ภายนอกไม่ได้จริงๆ ในขณะที่เราจินตนาการว่าน่าจะเป็นแบบหนึ่ง แต่พอได้รู้จัก หรืออย่างน้อยเพียงแค่มองด้วยสายตาที่ลึกลงไป ก็อาจพบว่าภายในนั้นมีอะไรน่าสนใจมากมาย เช่นเดียวกับบ้านที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียหลังนี้ดูภายนอกอาจเป็นบ้านสวยตามแบบฉบับของบ้านเมืองร้อนชื้นทั่วไปแต่ ภายใน บ้านพิเศษกว่านั้น…

ภายใน

เจ้าของต้องการบ้านที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด แม้บ้านหลังนี้จะใหญ่โตและหรูหรา แต่ก็เป็นบ้านประหยัดพลังงานและอยู่สบายได้เดิมพื้นที่นี้มีอาคารเก่าอายุกว่าหกสิบปีตั้งอยู่ แต่กาลเวลาทำให้อาคารนั้นทรุดโทรมเกินจะเยียวยา เจ้าของบ้านและสถาปนิกจึงเลือกสร้างบ้านหลังใหญ่ขึ้น โดยคงต้นไม้ใหญ่ไว้ และใช้วัสดุจากบ้านเดิมที่รื้อถอนอย่างระมัดระวัง แล้วนำกลับมาใช้กับบ้านหลังใหม่ที่มีชื่อว่า “S11” หลังนี้ ผู้ออกแบบคือ Mr.Tan Loke Mun จาก ArchiCentre บ้านนี้ยังได้รางวัล Green Building Index (GBI) จากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้อาคารที่คิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานในระดับแพลตทินัมอีกด้วย

THE-GOOD-LIVING-INTERIOR-04

THE-GOOD-LIVING-INTERIOR-06

THE-GOOD-LIVING-INTERIOR-03

บ้านหลังนี้คิดถึงทุกขั้นตอนตั้งแต่การรื้อทุบบ้านเก่าโดยใช้เศษคอนกรีตที่เกิดจากการทุบทำลายมาถมและเติมพื้นดินบริเวณพื้นทางเดินรอบบ้านที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก ก้อนอิฐบางส่วนจากบ้านเก่าก็กลายเป็นผนังอิฐโชว์แนวที่มีลูกเล่นการเว้นช่องเพื่อระบายอากาศที่น่าสนใจ ส่วนไม้ที่เป็นโครงสร้างบ้านเดิมก็นำมาทำเป็นโครงไม้นั่งร้านในระหว่างการก่อสร้างบ้านใหม่ เหล็กจากบ้านเก่าก็นำไปขายและเปลี่ยนมาใช้เหล็กรูปพรรณสมัยใหม่ที่ใช้งานได้เหมาะสมกว่า

สายลมเย็นพัดผ่านตัวบ้านที่สูงโปร่งได้อย่างสะดวก เพราะวางตัวบ้านในแนวทิศเหนือและใต้ ช่องเปิดและหน้าต่างขนาดใหญ่ช่วยให้ภายในบ้านเกิดการระบายความร้อน ผนังด้านที่โดนแดดทางทิศตะวันตกจะเป็นผนังก่ออิฐมวลเบาชนิดพิเศษ พร้อมมีโครงสร้างตะแกรงที่ปล่อยให้ไม้เลื้อยเกาะเกี่ยวและให้ร่มเงาแก่ตัวบ้านได้ดี แต่สิ่งที่ช่วยให้บ้านเย็นที่สุดคือต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ทั้ง 5 ต้น ซึ่งช่วยลดอุณหภูมิของบ้านได้อย่างน้อย 2-3 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว แม้หลังคาจะเป็นเหล็กรีดบางหรือเมทัลชีต แต่ภายในมีฉนวนกันความร้อนพร้อมแผ่นสะท้อนความร้อนที่หนาถึง 20 เซนติเมตร กระจกที่ใช้ทั้งหลังเป็นกระจกแผ่รังสีต่ำ* หนาเกือบ 1 เซนติเมตร ทำให้บ้านหลังนี้ป้องกันความร้อนและกักเก็บความเย็นไว้ในตัวบ้านได้เป็นอย่างดี

THE-GOOD-LIVING-INTERIOR-07

THE-GOOD-LIVING-INTERIOR-11

THE-GOOD-LIVING-INTERIOR-14-733x1024

THE-GOOD-LIVING-INTERIOR-10-784x1024

THE-GOOD-LIVING-INTERIOR-09-787x1024

Tip
*กระจกแผ่รังสีต่ำ (Low Emissivity Glass) คืออะไร 
กระจกกันความร้อนแบบการแผ่รังสีความร้อนต่ำ กระจกชนิดนี้โดยปกติจะเคลือบสารฉนวนกันรังสีอินฟาเรดหรือรังสีความร้อนไว้ด้านในของกระจกฉนวน เพื่อทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้รังสีความร้อนแพร่ผ่านจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร เมื่อรวมกับประสิทธิภาพการป้องกันความร้อนของช่องว่างอากาศ ทำให้กระจกชนิดนี้สามารถควบคุมปริมาณความร้อนที่เข้าสู่ภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
บ้านหลังนี้สูง 3 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 1 ชั้น บ้านมีพื้นที่ขนาดใหญ่แต่มีการระบายอากาศดีเพราะผู้ออกแบบได้คิดค้นการระบายความร้อนออกจากตัวบ้านอย่างรวดเร็วที่สุด ด้วยการใช้ท่อขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร จำนวน 15 ท่อ วิ่งทะลุจากชั้นล่างสุดและชั้นต่างๆของบ้านขึ้นไปสู่หลังคา เพื่อเป็นทางลัดในการระบายความร้อน อากาศร้อนลอยตัวสูง อากาศเย็นเข้ามาแทนที่ เท่านี้บ้านก็เย็นได้โดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเลย
                ผมสังเกตเห็นว่าภาพรวมของบ้านใช้วัสดุที่เผยให้เห็นเนื้อจริงของวัสดุโดยไม่มีการทาทับ เช่นผิวคอนกรีตเปลือย ไม้ หรืออิฐก่อโชว์แนว แต่ก็มีผนังที่มีการทาสีทับ ซึ่งสถาปนิกไม่ลืมที่จะใช้สีซึ่งทำลายชั้นบรรยากาศน้อยที่สุด นั่นคือสี Low VOC* นั่นเอง
Tip
*สี Low VOC คืออะไร 
VOC หรือ Volatile Organic Compounds หมายถึง สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยหรือระเหิดได้ง่าย สาร VOC ในอากาศอาจทำอันตรายต่อผิวหนังหรือซึมผ่านเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเข้าทางระบบหายใจและซึมผ่านเยื่อบุทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดอาการคอแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ไตเสื่อม และอาจเป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็ง ดังนั้น สี Low VOC คือสีที่มีสารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายน้อยนั่นเอง

เรื่องโดย : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์

ภาพโดย : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, ศุภกร ศรีสกุล