เคยสงสัยไหมว่า เราใช้เวลาอยู่ “บ้าน” หรือ “ห้างสรรพสินค้า” มากกว่ากัน … ไม่แปลกที่วัฒนธรรมการเดินห้างสรรพสินค้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำเดือนของหลายคนไปโดยไม่รู้ตัว คุณจอห์น – เฉลิมวงศ์และคุณโบว์ –สุทธิดา วีรังคบุตร เจ้าของบ้านหลังนี้ ก็ยอมรับว่าเคยมีไลฟ์สไตล์แบบนี้เช่นกัน กระทั่งเมื่อหกเดือนก่อน หลังปรับปรุงบ้านนี้เสร็จเรียบร้อย บางสิ่งบางอย่างก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแทน
ตัวบ้านตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่สร้างพร้อมอยู่ ทว่ากลับไม่รู้สึกว่าบ้านนี้เป็นบ้านจัดสรรในแบบที่คุ้นเคย คุณจอห์นเล่าว่ามีการปรับปรุงชั้นล่างใหม่ทั้งหมดโดยแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม
“ตอนแรกที่เข้ามาอยู่บ้านนี้เราไม่ได้ตกแต่งอะไรเพิ่ม อยู่ตามสิ่งที่โครงการจัดให้มา พออยู่ไปก็เริ่มรู้ว่า เราต้องการอะไรไม่ต้องการอะไร ผมว่าการตกแต่งหลังจากลองอยู่ก่อนนั้นมีข้อดีคือทำให้รู้ว่าเราต้องการอะไรจริงๆ”
เจ้าของบ้านซื้อบ้านนี้ไว้ก่อนแต่งงานประมาณ 1-2 เดือน พออยู่ไปได้สักพักทั้งสองก็ย้ายไปทำงานที่นิวยอร์กนานประมาณสองปี ช่วงนั้นเองทำให้คุณจอห์นและคุณโบว์มีโอกาสเปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัย จากบ้านเดี่ยวมาเป็นห้องเช่าอพาร์ตเมนต์ซึ่งเป็นเพียงห้องสี่เหลี่ยมสีขาวโล่งๆ ทั้งคู่เริ่มหาซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว และของใช้จำเป็นตามความชอบ ค่อยๆเปลี่ยนพื้นที่โล่งให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของตัวเอง
เมื่อกลับมาอยู่กรุงเทพฯ คุณจอห์นและคุณโบว์มีไอเดียจะปรับปรุงบ้านหลังนี้ จากประสบการณ์ที่เคยอยู่นิวยอร์ก ทำให้รู้ความต้องการของตัวเองดีและเลือกให้เหลือเพียงสิ่งที่ชอบและใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ คุณโบว์เสริมว่า
“เหมือนเริ่มรู้แล้วว่าอยากใช้พื้นที่ตรงไหน อยากให้ส่วนไหนเป็นครัว ต้องการตรงนี้เป็นห้องรับแขก หรือเราอยากมีมุมนั่งกินข้าวกันตอนเช้า ก็เริ่มจากจุดนั้น เลยเริ่มปรับปรุงบ้าน”
หลังจากนั้นเจ้าของบ้านก็มองหามัณฑนากรที่ไว้ใจได้ ซึ่งก็คือ คุณเอ – วัฒนา โกวัฒนาภรณ์ จาก Balance Interior and Constructor เพื่อนตั้งแต่สมัยเด็กของคุณจอห์น มาช่วยออกแบบตกแต่งภายใน โดยมีโจทย์หลักอยู่สองประการคือ ต้องการครัวขนาดใหญ่ และมีพื้นที่สำหรับใช้เวลาร่วมกันได้
นอกเหนือจากเรื่องฟังก์ชันซึ่งเป็นหน้าที่หลักของผู้ออกแบบแล้ว การตกแต่งภายในก็ต้องสะท้อนถึงตัวตนและความชอบของเจ้าของบ้านด้วย คุณเอให้คำจำกัดความของการตกแต่งครั้งนี้ไว้สั้นๆว่า
“การตกแต่งถือเป็นไลฟ์สไตล์ของคนนิวยอร์ก ต้องทำการบ้านเยอะมาก เพื่อคัดกรองออกมาให้ได้ เพราะความเป็นนิวยอร์กมันยูนีคมาก”
สังเกตว่าการตกแต่งภายในนั้นมีกลิ่นอายของเมืองนิวยอร์กซึ่งเจ้าของบ้านเคยไปใช้ชีวิตอยู่ เช่น กระเบื้องในครัวก็เลือกใช้กระเบื้องเซรามิกเหมือนในสถานีรถไฟใต้ดินของนิวยอร์ก รวมถึงการจัดแปลนที่ให้อารมณ์นึกถึงเมื่อครั้งเคยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ ซึ่งออกแบบพื้นที่ใช้งานแบบ open plan รวมถึงการจัดวาง
เครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าซ้อนกันในบริเวณครัว นอกจากนี้คุณเอยังนำของสะสมของเจ้าของบ้านอย่างของเล่นทำจากไวนิล ภาพศิลปะ หรือเครื่องครัว มาออกแบบจัดวางให้เจ้าของบ้านได้เห็นและสัมผัส มากกว่าเก็บในตู้โชว์เพียงอย่างเดียว
“ชอบบ้านรกๆแต่ยังดูสวย ไม่ใช่ว่าต้องเก็บเข้าตู้หมดอย่างสไตล์โมเดิร์นมินิมัล ซึ่งนี่ไม่ใช่สไตล์เราเลย รู้สึกได้ว่าที่นี่เป็นบ้านจริงๆสักที จากเมื่อก่อนไม่ค่อยอยู่บ้านเท่าไร กินข้าวก็กินนอกบ้าน แต่พอทำบ้านหลังนี้เสร็จ เหมือนเราได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมากขึ้น กินข้าวด้วยกัน มาใช้ห้องรับแขกด้วยกัน” คุณโบว์สรุปส่งท้ายด้วยรอยยิ้ม
การมาเยี่ยมชมบ้านในแต่ละครั้ง นอกจากได้ชมบรรยากาศที่น่าอยู่และสไตล์การตกแต่งซึ่งเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านแล้ว การได้เห็นไอเดียในการใช้ชีวิตใหม่ๆก็ทำให้เรารู้สึกว่าบ้านนั้นเป็นมากกว่าแค่ที่พักอาศัย เพราะ”บ้าน” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราโดยไม่รู้ตัว
เรื่องโดย : รนภา นิตย์
ภาพโดย : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ