ผู้รับเหมาส่งมอบงาน แต่บ้านยังชำรุด ทำอย่างไร
ในกรณีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเวลา แต่งานที่ส่งมอบนั้นชำรุดบกพร่อง ไม่ถูกต้องตามที่ตกลงกันไว้ต้องทำอย่างไร การรับประกันงานผู้รับเหมา
เมื่อผู้รับเหมาได้ส่งมอบงานทั้งที่งานก่อสร้างดังกล่าวยังชำรุดบกพร่องอยู่ ซึ่งในระหว่างที่ก่อสร้างเจ้าของบ้าน(ผู้ว่าจ้าง)ก็ได้แจ้งให้ผู้รับเหมาแก้ไขให้ถูกต้อง โดยกำหนดระยะเวลาแล้วก็ตาม แต่ผู้รับเหมาเพิกเฉย หรือส่งมอบงานที่ชำรุด และผู้รับเหมายังเรียกร้องให้เจ้าของบ้านชำระเงินค่าจ้าง การรับประกันงานผู้รับเหมา
การแก้ไข
- เจ้าของบ้านมีสิทธิยึดหน่วงเงินค่าจ้าง ไม่ชำระให้จนกว่าผู้รับเหมาทำการแก้ไขงานที่ชำรุดบกพร่อง หรือทำให้ถูกต้องตามที่ตกลงไว้
- ให้ผู้รับเหมารายอื่นมาทำต่อได้ หากผู้รับเหมาไม่แก้ไขงานที่ชำรุดบกพร่อง เจ้าของบ้านสามารถจ้างผู้รับเหมารายอื่นมาแก้ไขหรือทำต่อได้ ซึ่งผู้รับเหมาเจ้าเดิมจะต้องรับเสี่ยงความเสียหาย(เช่น ราคาวัสดุอาจจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด) และออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
ข้อกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- มาตรา 594 ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่อง หรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญา เพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคาดกำหนดนั้นไป ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
- มาตรา 599 ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดี ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร
กฎหมายการรับประกันงาน
กฎหมายได้กำหนดระยะเวลาให้ผู้รับจ้างต้องประกันผลงานไว้ว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องรับผิดชอบการชำรุดบกพร่องที่ปรากฏภายใน 1 ปีนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏภายใน 5 ปี สำหรับสิ่งปลูกสร้างติดกับพื้นดิน ยกเว้นโรงเรือนทำด้วยไม้ เว้นแต่ผู้รับเหมาจะจงใจปิดบังความชำรุดบกพร่อง ความรับผิดชอบนั้นจะมีอยู่ตลอดไป ทั้งนี้ ระยะเวลารับประกันดังกล่าวสามารถตกลงให้เพิ่มขึ้น หรือลดลงตามที่กฎหมายกำหนดก็ได้
แต่อย่างไรก็ตามในกรณีผู้รับเหมาก่อสร้างประกอบธุรกิจรับจ้างก่อสร้างบ้าน อาคาร หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่ออาศัยที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดกับผู้บริโภค ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจการรับจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2559 ผู้รับเหมาต้องรับผิดเพื่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากความชํารุดบกพร่องของอาคาร รั้ว หรือกําแพง ดังนี้
- (ก) กรณีที่เป็นโครงสร้างของอาคาร ได้แก่ เสาเข็ม ฐานราก เสา คาน พื้น โครงหลังคาและผนังที่รับน้ำหนัก เป็นต้น ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างรับมอบอาคาร
- (ข) กรณีที่เป็นส่วนควบและอุปกรณ์ อันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาคารนอกจาก (ก) ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างรับมอบอาคาร
- (ค) รั้ว และกําแพง ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างรับมอบ รั้วหรือกําแพง
กรณีคดีตัวอย่าง
เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงมีอยู่ว่า จำเลยว่าจ้างผู้รับเหมา(โจทก์)ให้ติดตั้งประตู หน้าต่าง และงานอื่น ๆ ที่ใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมและกระจกในอาคารชุดแห่งหนึ่ง ผู้รับเหมาส่งมอบงานให้แก่เจ้าของบ้าน(จำเลย)ครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏว่างานที่ผู้รับเหมาทำยังมีข้อบกพร่อง และเจ้าของบ้านได้ทักท้วงให้ผู้รับเหมาเข้าแก้ไขงานโดยตลอด การที่ผู้รับเหมาไม่เข้าไปแก้ไขงานที่รับจ้างให้เรียบร้อย แต่เกี่ยงให้เจ้าของบ้านชำระค่าจ้างเสียก่อน
ในกรณีนี้ผู้รับเหมาเป็นฝ่ายผิดสัญญา เจ้าของบ้านจึงสามารถยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 599 ซึ่งเจ้าของบ้านจะยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นประกันตามสมควรในงานจ้างที่ชำรุดบกพร่องเท่านั้น โดยเจ้าของบ้านไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างเกินกว่าความเสียหายดังกล่าว ในทางกลับกัน ถ้าความเสียหายนั้นมีมูลค่าน้อยกว่าค่าจ้างที่ค้างชำระมาก ผู้รับเหมามีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลยได้ (อ้างอิง : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7088/2561)
เรื่อง : คเณศร์ สร้อยสายทอง, ณัฐชาพร นิตย์โชติ – ทนายความ