สวนทุ่งน้ำ หรือ wetland การคืนระบบนิเวศสู่ธรรมชาติในเมือง

จากปัญหากลิ่นเหม็นและต้นไม้ที่ล้มตาย จนเกิดเป็นคำถามและความเข้าใจในการออกแบบ การจัดการ และการดูแลพื้นที่สวนเบญจกิติ

บ้านและสวนจึงได้พูดคุยกับ อาจารย์อ้อย – ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักนิเวศวิทยา และผู้เขียนหนังสือ Homo Gaia มนุษย์กาญ่า เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้น ว่าแท้จริงแล้ว wetland คืออะไร มีกระบวนการอย่างไร รวมถึงความเข้าใจของคนเมืองเกี่ยวกับพื้นที่สวนสาธารณะที่ไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่สันทนาการ

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ตามธรรมชาติคืออะไร?

พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wetland หมายถึงพื้นที่ที่ผืนน้ำคลุมผืนดิน อาจจะตลอดเวลาหรือบางฤดูบางเวลาก็ได้ จึงรวมถึงแหล่งน้ำตื้น ทั้งน้ำนิ่งอย่างหนองบึง และน้ำไหลอย่างลำธารหรือแม่น้ำตื้น ๆ ตลอดจนบริเวณชายน้ำหรือชายขอบแฉะ ๆ ที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติเชื่อมต่อระหว่างน้ำ (Wet) และบก (Land) ไม่ว่าจะเป็น ป่าชายเลน พงแขม พงอ้อ หรือแม้แต่ป่าชื้นริมน้ำ ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นที่กันชนระหว่างนิเวศบกกับนิเวศน้ำ (buffer zone) คอยดักจับมลพิษจากบกไม่ให้ไหลลงสู่น้ำ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่มีการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงของระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็น แร่ธาตุและตะกอนจากบนดินที่ไหลลงสู่น้ำ หรือเวลาที่น้ำท่วมก็จะมีแพลงก์ตอนพัดเข้ามา สัตว์กลุ่มต่าง ๆ ผลัดกันใช้ประโยชน์ในเวลาต่าง ๆ กัน

ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wetland เป็นพื้นที่ที่มีระดับของน้ำไม่ลึกมาก แสงแดดส่องถึง จึงเป็นพื้นที่ที่ธาตุดิน-น้ำ-ลม-ไฟปฏิสัมพันธ์กันในลักษณะที่ให้ผลผลิตสูง และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่หรือเข้ามาใช้ประโยชน์ กลายเป็นชุมทาง แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และแหล่งหากินสำคัญที่เปรียบเสมือนตลาดขนาดใหญ่หรือเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงธรรมชาติ

การสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ในเมือง

หากจะพิจารณาถึงพื้นที่ wetland ในกรุงเทพฯ อย่าง บริเวณโรงงานยาสูบ สวนเบญจกิติ เราต้องย้อนกลับไปดูสภาพแวดล้อมเดิมของพื้นที่ก่อน ว่าในอดีตแล้ว กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มปากน้ำ มีหนอง บึงมากมาย สลับกับที่ดอน เช่น ดอนเมือง หรือหนองงูเห่า แต่ในปัจจุบันเรากลับถมหนองบึงคูคลองให้กลายเป็นเมืองบนถนนเรียบ ๆ แบบไม่สอดรับกับธรรมชาติพื้นถิ่น ซึ่งมีน้ำท่วมหลากบางฤดู ก่อให้เกิดปัญหาภาวะวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย ตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วมไปจนถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกื้อหนุนคุณภาพชีวิตเราทั้งทางตรงและทางอ้อม

‘ปลากระโห้’ เป็นปลาตะเพียนยักษ์ที่ถูกยกให้เป็นปลาสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ จึงอาจถือเป็นตัวชี้วัดการพัฒนายั่งยืนของเมือง แต่ปัจจุบันสูญหายไปจากธรรมชาติแม่น้ำเจ้าพระยาแถวกรุงเทพ และกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เพราะการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ปกติมันอาศัยอยู่ตามวังน้ำลึกในแม่น้ำใหญ่ แต่ในช่วงที่น้ำหลากมันจะอพยพเข้าสู่พื้นที่ wetland ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำใหญ่เพื่อวางไข่ และเมื่อน้ำลดลูกปลาทั้งหลายก็จะว่ายกลับลงสู่แม่น้ำอีกครั้ง

กรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูธรรมชาติพื้นถิ่นให้กลับคืนมา อย่างการฟื้นฟูพื้นที่ชายน้ำ และ wetland ต่าง ๆ เป็นอันดับแรก เพราะเราเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนั้น การสร้างสวนทุ่งน้ำ หรือ wetland ที่โรงงานยาสูบ สวนเบญจกิติ จึงไม่ใช่องค์ประกอบแปลกใหม่ของเมือง แต่เป็นการคืนธรรมชาติสู่ธรรมชาติในเมือง [ที่เรียกว่า ‘สวนทุ่งน้ำ’ เพราะ สามารถเห็นภาพและเข้าใจได้ง่าย ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นน้ำแฉะ ๆ และมีพืชพงแขม พงอ้อที่ขึ้นเป็นทุ่งๆ] 

หลังจากที่ได้เห็นสวนทุ่งน้ำนี้ ก็ทำให้พี่รู้สึกตื่นเต้น และดีใจมาก เพราะทำให้รู้สึกมีความหวัง ว่าเมืองได้เปิดโอกาสให้คนที่คิดแตกต่างจากการทำสวนประดิษฐ์ธรรมดาให้กลายเป็นสวนที่มีฟังก์ชันทางนิเวศสอดรับกับธรรมชาติเป็น nature based solution มากกว่าเป็นเพียงสวนสวยร่มรื่นได้เริ่มขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่พื้นที่จะถูกฟื้นฟูกลับเป็น wetland เพื่อช่วยในการหน่วงน้ำ และดูแลกลไกของน้ำ แต่หลังจากนี้ที่อยากจะเห็นคือการ re-wild หรือการปล่อยให้พืชและสัตว์พื้นถิ่นที่มีอยู่ในธรรมชาติกลับคืนมา อย่างพืชป่าที่คนเรียกว่า “วัชพืช” ขึ้นตามคันนา เช่น กะทกรก หรือหิ่งเม่นดอกสีเหลือง โผล่ขึ้นมาก็อนุญาตให้มันอยู่ คือในการถางหญ้า หรือการขุดลอก ก็อยากให้หาสมดุลที่เหมาะสมยอมให้องค์ประกอบของป่าเข้ามาบ้าง เพื่อสร้างความหลากหลาย แต่ขณะเดียวกันก็ประคับประครองพื้นที่ไม่ให้ถูก takeover จากธรรมชาติมากจนคนใช้สวนบางกลุ่มรู้สึกอึดอัดว่ารกเกิน เพราะตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของพื้นที่ค่อนข้างดีแล้ว

ความเข้าใจของคน(เมือง)เกี่ยวกับสวนสาธารณะที่ไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่สันทนาการ

ถ้าถามในมุมของวิทยาศาสตร์หรือมุมของนักอนุรักษ์ก็อาจจะรู้สึกว่าสวนนี้เป็นสวนประดิษฐ์ ไม่เป็น wetland จริงๆ ตามธรรมชาติ และยังมีรายละเอียดบางอย่างที่สามารถปรับให้ดีขึ้นได้ในความเป็นสวน เช่น คล้าน้ำ ซึ่งถึงแม้จะเป็นพืชต่างถิ่น แต่หากเลือกเป็นพันธุ์ที่ช่อดอกตั้งชูชันแทนทรงดอกย้อยอย่างที่เอามาปลูก นกกินปลีก็จะสามารถเข้ามาดูดน้ำหวานหากินได้มากขึ้น แต่ถ้าหากมองในมุมของคนเมืองก็อาจจะรู้สึกได้ว่าต้องการพื้นที่สวนสาธารณะที่มีมุมสวยๆ ถ่ายรูปเช็คอินได้ และคาดหวังให้พื้นที่นี้สวยสดอยู่ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงพืชพงหญ้ามีฤดูเหี่ยวแห้งและจังหวะที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่ ดังนั้น การพยายามสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการทั้งสองแนว —ทั้งฝ่ายอยากฟื้นฟูธรรมชาติดั้งเดิมและฝ่ายอยากได้สวนสวยประดิษฐ์— จึงเป็นโจทย์สำคัญ ขณะเดียวกันก็จะต้องมั่นคงว่ากำลังตั้งใจทำอะไร และพยายามสื่อสารให้คนเข้าใจ

“ในวันนี้ที่อยากจะบอกคือต้องให้กำลังใจแก่คนที่กำลังพยายามทำให้เมืองเกิดสิ่งใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และสิ่งแรกที่จะบอกเพื่อเปลี่ยนให้คนเข้าใจพื้นที่ระบบนิเวศตามธรรมชาติได้ คือ การละลายหัวใจ อย่าเอาความชอบของตนเป็นศูนย์กลาง พยายามมองไปรอบๆ เห็นเพื่อนร่วมโลก เห็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ มองเห็นความงามในความหลากหลาย และปิติยินดีในความชอบของคนอื่นบ้าง” อาจารย์อ้อยยังกล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง สริดา จันทร์สมบูรณ์

ภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข, สิทธิศักดิ์ น้ำคำ